ปฏิรูปตำรวจ 8 ปี ตั้งกรรมการหน้าซ้ำหลายชุด แต่ผ่าน กม. ได้ฉบับเดียว!

ในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะคดีอาญา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ตำรวจ” เปรียบเสมือนต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่กระบวนการจะดำเนินไปสู่ชั้นศาล เมื่อประชาชนถูกละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ในทรัพย์สิน ตำรวจ เป็นด่านแรกที่ประชาชนจะนึกถึงสามารถ อย่างไรก็ดี กระแสเสียงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเชิงตัวบุคคลและในเชิงระบบก็ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมอยู่เนืองๆ เช่น ปัญหาความ “ไม่อิสระ” ในแวดวงตำรวจ เส้นสาย การวิ่งเต้น ตั๋วตำรวจ

การปฏิรูปตำรวจซึ่งเป็นต้นสายธารของกระบวนการยุติธรรม เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่รัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามผลักดันทั้งการตั้งแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ จนท้ายที่สุดได้หนึ่งในผลผลิตสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ) เพื่อใช้แทนพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อ “รีเซ็ต” กฎหมายตำรวจเดิม และกำหนดระบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามแผนปฏิรูปประเทศ

โดยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ตำรวจ ลากยาวเกือบ 8 ปี ตั้งคณะกรรมการมาสานต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมรวมถึงการปฏิรูปตำรวจรวม 6 ชุด หลายคนที่นั่งตำแหน่งกรรมการต่างๆ เป็นคนหน้าคุ้น เกี่ยวพันกับกลไกของคสช.ทั้งสิ้น

ตั้งกรรมการ 6 ชุด ส.ว. สนช. สปช. สปท. หน้าคุ้นเพียบ

ตั้งแต่หลังคสช. รัฐประหาร จนถึงช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ที่มีรัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เส้นทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปตำรวจ คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 ชุด ทำการศึกษาปัญหา รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิรูปตำรวจ และจัดทำร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุด เพื่อใช้แทนพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ในภาพรวม ผู้ที่มานั่งตำแหน่งกรรมการชุดต่างๆ มักเป็นบุคคลในแวดวงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการตำรวจและอดีตข้าราชการตำรวจระดับสูง และบุคคลในแวดวงศาล-อัยการด้วย ข้อน่าสนใจคือ ในกลุ่มบุคคลที่มานั่งตำแหน่งกรรมการชุดต่างๆ หลายคนดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับกลไกของคสช. เช่น เป็นอดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือเป็นหนึ่งในวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน

โดยบุคคลที่เป็นกรรมการต่างๆ และได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษที่คุ้นหน้าคุ้นตา เช่น พันตํารวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ พลตํารวจเอก เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งมีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ออกมา แต่กลับไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมการอีกชุด นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ มาจัดทำร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ อีกฉบับ ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

โดยคณะกรรมการแต่ละชุด มีผลงานที่ทำออกมาแตกต่างกัน มีคนที่มานั่งดำรงตำแหน่งแตกต่างกัน แต่บางคนก็ดำรงตำแหน่งในกรรมการหลายชุด รายละเอียดของกรรมการทั้ง 6 ชุดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม มีดังนี้

ชุดที่ 1

6 ตุลาคม 2557 คสช. ได้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน เพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศในช่วงรัฐประหาร หลังจากนั้น สปช.มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปฯ ด้านต่างๆ โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จำนวนทั้งสิ้น 26 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการพลเรือน 7 คน สายข้าราชการทหาร 2 คน สายข้าราชการตำรวจ 2 คน สายนักวิชาการ 5 คน สายนักการเมือง 6 คน และภาคเอกชน 4 คน ต่อมา 12 พฤษภาคม 2558 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ลงนามในคำสั่ง สปช. ที่ 20/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ รวม 17 คน ดังนี้

  1. ประธานสปช. เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ
  2. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ
  3. ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ [อดีตสปช.] เป็นประธานกรรมการ
  4. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  5. ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ
  6. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
  7. อัยการสูงสุด หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
  8. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
  9. นายกสภาทนายความ เป็นกรรมการ
  10. พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ [อดีตรองผบ.ตร.] เป็นกรรมการ
  11. พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร [อดีตรองผบ.ตร.] เป็นกรรมการ
  12. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ [อดีตแกนนำกปปส. และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์] เป็นกรรมการ
  13. พงศ์โพยม วาศภูติ [อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด] เป็นกรรมการ
  14. เข็มชัย ชุติวงศ์ [อดีตอัยการสูงสุด คนที่ 14] เป็นกรรมการ
  15. สังศิต พิริยะรังสรรค์ [อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตสปช.] เป็นกรรมการ
  16. ไพโรจน์ พรหมสาส์น เป็นกรรมการ
  17. วันชัย สอนศิริ [อดีตสปท. กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ คลอดรายงานความยาว 22 หน้า (ไม่รวมภาคผนวก) ออกมาหนึ่งฉบับ ชื่อว่า “วาระปฏิรูปที่ 6: การปฏิรูปกิจการตำรวจ” มีเนื้อหาวิเคราะห์สภาพปัญหาในวงงานตำรวจหลายประเด็น อาทิ ปัญหาความเป็นอิสระ ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง ปัญหางานสืบสวน รายงานดังกล่าวยังกำหนดข้อเสนอแนะเป็นแนวทางในการปฏิรูปกิจการตำรวจ เช่น เสนอให้เปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้มีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมในการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการ และให้มีกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ

ชุดที่ 2

13 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน ซึ่งเป็นสภาปฏิรูปประเทศชุดที่สองในยุค คสช. หลังจากนั้น สปท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการหลายชุดหนึ่งในนั้น คือ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 16 คน ได้แก่

  1. วิรัช ชินวินิจกุล [อดีตองคมนตรี อดีตรองประธานศาลฎีกา] เป็นประธานกรรมาธิการ
  2. ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ [หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นรองประธานกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
  3. พลตำรวจเอกวรพงษ์ ชิวปรีชา [อดีตรองผบ.ตร.] เป็นรองประธานกรรมาธิการ คนที่สอง
  4. พลโทกฤษณะ บวรรัตนารักษ์ [อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด] เป็นรองประธานกรรมาธิการ คนที่สาม
  5. ตระกูล วินิจนัยภาค [อดีตอัยการสูงสุด] เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ
  6. พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง [อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดำรงตำแหน่งผู้ว่าหลังเป็นกมธ. ชุดนี้)] เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ
  7. พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน [อดีตสปท. อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1] เป็นโฆษกกรรมาธิการ
  8. พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ [อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คู่สมรสของนวลพรรณ ล่ำซำ] เป็นโฆษกกรรมาธิการ
  9. จุมพล สุขมั่น [อดีตสปช.] เป็นเลขานุการกรรมาธิการ
  10. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร [อดีตสปช. และหนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมาธิการ
  11. เข็มชัย ชุติวงศ์ [อดีตอัยการสูงสุด คนที่ 14] เป็นกรรมาธิการ
  12. พลตำรวจเอก เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา [อดีตรองผบ.ตร. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมาธิการ
  13. พลตำรวจโท ธีรจิตร์ อุตมะ [อดีตผู้ช่วยผบ.ตร.] เป็นกรรมาธิการ
  14. บัญชา ปรมีศณาภรณ์ [อดีตสปช. และอดีตสปท.] กรรมาธิการ
  15. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ [อดีตสปท. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมาธิการ
  16. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไวกูณฑ์ ทองอร่าม [อดีตสปช. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี] เป็นกรรมาธิการ

ตลอดการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมาธิการชุดนี้มีผลผลิตเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจเป็นรายงานห้าฉบับ ได้แก่ รายงานระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน , รายงานความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง, รายงานการวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ, รายงานการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ และ รายงานการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน

ชุดที่ 3

หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 กระบวนการปฏิรูปประเทศก็เดินอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 โดยคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีสมาชิกทั้งหมด 36 คน แบ่งเป็น สายข้าราชการตำรวจ 15 คน สายข้าราชการพลเรือน 12 คน สายข้าราชการทหาร 2 คน สานักวิชาการ 5 คน สายนักการเมือง 1 คน และสายสื่อมวลชน 1 คน ได้แก่

  1. พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ [อดีตสนช. อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นประธานกรรมการ
  2. ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ
  3. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  4. ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ
  5. เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการ
  6. อัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
  7. ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  8. พลตํารวจเอก ชาญชิต เพียรเลิศ [อดีตรองผบ.ตร.] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  9. พลตํารวจเอก รุ่งโรจน์ แสงคร้าม [อดีตรองผบ.ตร. อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  10. พลตํารวจเอก เอก อังสนานนท์ [อดีตรองผบ.ตร.] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  11. พลตํารวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ [อดีตรองผบ.ตร. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  12. พันตํารวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ [หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  13. พลตํารวจเอก ปัญญา มาเม่น [อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  14. พลตํารวจโท เรวัช กลิ่นเกษร [อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  15. พลตํารวจเอก บุญชัย ชื่นสุชน [อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  16. พลตํารวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง [อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  17. พลตํารวจเอก สุพร พันธุ์เสือ [อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  18. พลตํารวจเอก สมศักดิ์ แขวงโสภา [อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.)] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  19. พลตํารวจเอก เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา [อดีตรองผบ.ตร. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  20. พันตํารวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ [อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองเลขาธิการพระราชวัง] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  21. พลตํารวจโท คํารบ ปัญญาแก้ว [อดีตผู้ช่วยผบ.ตร.] เป็นกรรมการฝ่ายตํารวจ
  22. ทศพร ศิริสัมพันธ์ [อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  23. สมคิด เลิศไพฑูรย์ [อดีตสนช. อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดมีชัย] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  24. มนุชญ์ วัฒนโกเมร [อดีตกรรมการก.ตร.] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  25. มานิจ สุขสมจิตร [อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  26. เบญจวรรณ สร่างนิทร [อดีตสปช. อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  27. ศุภชัย ยาวะประภาษ [อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  28. ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ [อดีตสนช. อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  29. ศักรินทร์ ภูมิรัตน [อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  30. ธานิศ เกศวพิทักษ์ [อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  31. เข็มชัย ชุติวงศ์ [อดีตอัยการสูงสุด คนที่ 14] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  32. เสรี สุวรรณภานนท์ [อดีตสปท. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  33. พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ [อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) อดีตสนช.] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  34. อมร วาณิชวิวัฒน์ [อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  35. พลเอกทวีป เนตรนิยม [อดีตสนช และหนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ
  36. วรรณชัย บุญบำรุง [อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา] เป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ

ผลผลิตของการทำงานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ออกมาเป็นร่างกฎหมาย 4 ฉบับ  ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ การกระจายอำนาจแบบบูรณาการ, ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ, ร่างพ.ร.บ.อำนาจการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ชุดที่ 4

วันที่ 15 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม อีกหนึ่งชุด จำนวน 10 คนได้แก่

  1. อัชพร จารุจินดา [กรรมการกฤษฎีกา] เป็นประธานกรรมการ
  2. พลโทกฤษณะ บวรรัตนารักษ์ [อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด] เป็นกรรมการ
  3. ตระกูล วินิจนัยภาค [อดีตอัยการสูงสุด] เป็นกรรมการ
  4. ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร [อดีตนายกสภาทนายความ] เป็นกรรมการ
  5. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ [อดีตสปท. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน] เป็นกรรมการ
  6. วันชัย รุจนวงศ์ [ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ] เป็นกรรมการ
  7. สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ [ทนายความ] เป็นกรรมการ
  8. สราวุธ เบญจกุล [อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม] เป็นกรรมการ
  9. พลตํารวจโทอำนวย นิ่มมะโน [อดีตสปท. อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1] เป็นกรรมการ
  10. ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ [ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา] เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ถูกจัดทำออกมาเป็นแผนงานหนึ่งฉบับ คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งบางประเด็นการปฏิรูปก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น การพัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ชุดที่ 5

ภายหลังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) – คณะกรรมการชุดที่สาม ได้ส่งร่างกฎหมายให้กับคณะรัฐมนตรี แล้ว 3 เมษายน 2561 ครม. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่คณะกรรมการปฏิรูปส่งมา จำนวน 16 คน ได้แก่

  1. มีชัย ฤชุพันธุ์  [อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ] เป็นประธาน
  2. วิษณุ เครืองาม [รองนายกรัฐมนตรี]  
  3. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ [ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2558 อดีตรองประธานสปช.]
  4. อัชพร จารุจินดา [กรรมการกฤษฎีกา]
  5. สมชาย พงษธา [อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ]
  6. คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ [อดีตเลขาธิการ ก.พ.] 
  7. ธานิศ เกศวพิทักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)
  8. เข็มชัย ชุติวงศ์ [อดีตอัยการสูงสุด คนที่ 14]
  9. พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ [อดีตสนช. อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดหนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน]
  10. ประพันธ์ นัยโกวิท [อดีตคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดมีชัย]
  11. คำนูณ สิทธิสมาน [อดีตสปท. หนึ่งในส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน ]
  12. ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต [อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตโฆษกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดมีชัย และผู้สมัครเพื่อเข้ารับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โควตาศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์]
  13. พลตํารวจโทอำนวย นิ่มมะโน [อดีตสปท. อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1]
  14. ศุภชัย ยาวะประภาษ [อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]
  15. พลตำรวจเอกรุ่งโรจน์ แสงคร้าม [อดีตรองผบ.ตร. อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)]
  16. วรรณชัย บุญบำรุง [รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา]

เมื่อครม. ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ คณะกรรมการก็ได้จัดทำ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่กลับมีการส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบและแก้ไขด้วย และสุดท้าย คณะรัฐมนตรีมีมติ วันที่ 15 กันยายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบตามร่างพระราชบัญญัติฉบับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอมา เพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนี้ที่ผ่านมือ “คนใน” มา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นร่างมีการ “แปลงสาร” โดยวงการตำรวจมาแล้ว ไม่ใช่ฉบับปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูปตามความมุ่งหมายที่จะปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ชุดที่ 6

เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางรายพ้นจากตำแหน่ง 30 มิถุนายน 2563 ครม.จึงมีมติตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ชุดที่ 2 มีจำนวน 15 คน ดังนี้

  1. เข็มชัย ชุติวงศ์ [อดีตอัยการสูงสุด คนที่ 14] เป็นประธานกรรมการ
  2. พลเอกกฤษณะ บวรรัตนารักษ์* [อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด] เป็นกรรมการ
  3. ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร* [อดีตนายกสภาทนายความ] เป็นกรรมการ
  4. ตระกูล วินิจนัยภาค* [อดีตอัยการสูงสุด] เป็นกรรมการ
  5. วันชัย รุจนวงศ์* [ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ] เป็นกรรมการ
  6. สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์* [ทนายความ] เป็นกรรมการ
  7. สราวุธ เบญจกุล* [อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม] เป็นกรรมการ
  8. พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน* [อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1] เป็นกรรมการ
  9. ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์* [ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา] กรรมการ
  10. พลตำรวจเอก รุ่งโรจน์ แสงคร้าม [อดีตรองผบ.ตร. อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)] เป็นกรรมการ
  11. ธานิศ เกศวพิทักษ์ [อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์] เป็นกรรมการ
  12. วัลลภ นาคบัว [รองปลัดกระทรวงยุติธรรม] เป็นกรรมการ
  13. อติโชค ผลดี [อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง] เป็นกรรมการ
  14. พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ [อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์] เป็นกรรมการ
  15. วิชญ์พิพล ติวะตันสกุล [ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สภาพัฒน์] เป็นกรรมการและเลขานุการ

หมายเหตุ เครื่องหมาย * หลังชื่อ หมายถึง กรรมการที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ต่อเนื่องมาตั้งแต่ชุดแรกที่ครม. มีมติแต่งตั้ง เมื่อ 15 สิงหาคม 2560

รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับถูก “แปลงสาร” ปีกว่า

ปฏิรูปตำรวจลากยาวเกือบ 8 ปี

หลังจากครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เมื่อ 4 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการชุดดังกล่าว จัดทำข้อเสนอออกมาเป็นร่างกฎหมาย 4 ฉบับโดยมีร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ เป็นหนึ่งในนั้น และส่งไปยังครม. ต่อมา 20 มีนาคม 2561 ครม. ก็มีมติ เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ นับว่ากระบวนการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) นำโดยพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ กินเวลาไม่นานมากนัก

อย่างไรก็ดี ครม. ก็มีข้อสังเกตต่อร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับดังกล่าว วันที่ 3 เมษายน 2561 ครม. จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดมาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้จัดทำ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่กลับมีการส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบและแก้ไขด้วย กระบวนการดังกล่าว ทำให้เส้นทางการปฏิรูปตำรวจยิ่งทอดยาวกว่าเดิม ซ้ำยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นร่างที่มีการ “แปลงสาร”  โดยวงการตำรวจมาแล้ว

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติ วันที่ 15 กันยายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอมา และร่างกฎหมายดังกล่าวก็เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระหนึ่ง เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564 กล่าวได้ว่า กว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็กินเวลาเกือบ 3 ปี นับแต่ตั้งคณะกรรมการชุดมีชัยขึ้นมาจัดทำร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ

โดยรัฐสภามีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 565 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) จำนวน 49 คน เพื่อพิจารณา โดยกมธ. บางราย ก็เคยนั่งเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจมาก่อน เช่น พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และคำนูณ สิทธิสมาน

กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในชั้นกมธ. กินเวลาไปอีก 1 ปีกว่า เริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2564 และประชุมครั้งที่ 48 เมื่อ 26 เมษายน 2565 หลังจากกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ จึงส่งกลับสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติรายมาตรา ในวาระสอง กระบวนการในขั้นตอนนี้ กินเวลายาวนานต่อเนื่องราวหนึ่งเดือน และระหว่างการพิจารณาในวาระสอง กมธ. ยังนำร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ กลับไปแก้ไขอีก โดยการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ วาระสอง-สาม มีรายละเอียด ดังนี้

๐ วันแรก 9 มิถุนายน 2565 ใช้เวลาราว 8 ชั่วโมง พิจารณาลงมติไป 11 มาตรา

๐ วันที่ 2 10 มิถุนายน 2565 พิจารณาลงมติไป 10 มาตรา

๐ วันที่ 3 16 มิถุนายน 2565 พิจารณามาตรา 14 ไปจนถึงมาตรา 67

๐ วันที่ 4 17 มิถุนายน 2565 พิจารณามาตรา 68 จนถึงมาตรา 76

๐ วันที่ 5 24 มิถุนายน 2565 พิจารณามาตรา 77 ถึงมาตรา 119 ภายหลังการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา กมธ. ก็นัดประชุมครั้งที่ 49 เมื่อ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อพิจารณาว่าควรแก้ไขร่างมาตรา 169/1 ขอบทเฉพาะกาล เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่อาจเกิดขึ้นภายหลังที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หรือไม่

๐ วันที่ 6 1 กรกฎาคม 2565 พิจารณามาตรา 120 ถึงมาตรา 169 หลังจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา กมธ. ก็นัดประชุมอีกครั้ง ครั้งที่ 50 เมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 ซึ่งสืบเนื่องจากการประชุมกมธ. ครั้งที่ 49 ว่าควรแก้ไขร่างมาตรา 169/1 หรือไม่ และนัดประชุมครั้งที่ 51 ในวันถัดไป (5 กรกฎาคม 2565) เพื่อลงมติแก้ไขมาตรา 169/1

๐ วันที่ 7 5 กรกฎาคม 2565 ภายหลังจากกมธ. ลงมติแก้ไขมาตรา 169/1 ในช่วงเช้า ในวันเดียวกันนั้นเอง ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ก็เข้าสู่การพิจารณาลงมติรายมาตรา ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยเริ่มจากการลงมติมาตรา 169/1 ไปจนถึงมาตราสุดท้าย คือ มาตรา 172 หลังจากนั้น ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจึงลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 494 เสียง ไม่เห็นชอบ 40 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

หลังรัฐสภาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ในวาระสาม กระบวนการต่อไป นายกฯ จะต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นในราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเมื่อ 31 สิงหาคม 2565 พบว่ายังไม่มีการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ เป็นกฎหมายใหม่เพื่อใช้แทนที่พ.ร.บ.ตำรวจฯ พ.ศ.2547

หากนับจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจ เริ่มจากเดือนตุลาคม 2557 ที่คสช. คัดเลือกและเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสปช. การศึกษา จัดทำข้อเสนอ ผลักดันร่างกฎหมาย ไปจนถึงการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตำรวจ กินเวลาไปแล้วเกือบ 8 ปี และหากกฎหมายประกาศใช้ ก็อาจจะยังสรุปไม่ได้ในทันทีว่าการปฏิรูปตำรวจไปถึงเป้าหมายแล้ว 100% เพราะอาจจะยังมีประเด็นอื่นๆ ของกฎหมายที่อาจถูกแก้ไขได้หากไม่เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงาน หรือเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นประเด็นการแต่งกาย-ทรงผมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่ผ่านวาระสาม ก็ยังไม่ได้กำหนดขยายพื้นที่ของเสรีภาพในการแต่งกาย-ทรงผมของตำรวจ

อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปเท่านั้น อีกหนึ่งร่างกฎหมายสำคัญ คือร่างกฎหมายการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งคณะกรรมการชุดมีชัยก็ได้จัดทำออกมาคู่ไปกับร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ แต่เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ทางครม.จึงส่งมาเพียงแต่ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ให้รัฐสภาพิจารณาเท่านั้น

จึงต้องจับตากันต่อไปว่า รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะสามารถผลักดันร่างกฎหมายการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ เสนอต่อรัฐสภาทันอายุสภาชุดนี้ที่จะหมดลงในปี 2566 หรือไม่