ปิดสวิตช์ ส.ว. เสนอมาห้าครั้ง ทุกรูปแบบทุกกระบวนท่า ไม่เคยผ่าน ส.ว.

ตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2562 การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก ในช่วงสามปีแรกของสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่การรัฐประหาร สภามีการถกการแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมดสามครั้ง รวมร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมากถึง 21 ฉบับ โดยมีทั้งหมดห้าฉบับที่มุ่งไปที่การ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” หรือการยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาทั้ง 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แต่การขอให้ผู้ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหารและเลือกคนที่ทำรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นยังคงเป็นด่านที่เสียงของประชาชนยังคงไม่สามารถส่งไปได้ถึง ไม่มีฉบับใดเลยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งห้าฉบับที่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึงอย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบ แม้ว่าจะมีสองครั้งที่ ส.ส. เทโหวตให้การแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 272 ผ่านเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาอย่างท่วมท้นก็ตาม

ล่าสุดรัฐสภาได้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ อีกครั้ง โดยเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชนกลุ่ม No 272 นับว่าเป็นการเสนอในประเด็นนี้ครั้งที่หกของรัฐสภาชุดนี้ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อยเหลือเพียงกำหนดวันที่อภิปรายและลงคะแนนเท่านั้น อย่างไรก็ตามข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ของภาคประชาชนกลุ่ม No 272 มีความแตกต่างจากข้อเสนอที่ผ่านมาเพราะมีการเสนอในลักษณะ “ประเด็นเดียว” คือมุ่งตรงไปที่อำนาจเลือกนายกของ ส.ว. เท่านั้นและไม่แตะประเด็นอื่นเลย

พรรคการเมือง ภาคประชาชน พร้อมใจเคยเสนอยกเลิก 272 มาแล้วทั้งสิ้น

การปิดสวิตช์ ส.ว. นั้นเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจากหลากกลุ่มทางการเมืองให้ความสนใจและเห็นด้วยมานานว่าควรจะต้องแก้ไข เนื่องจากการปล่อยให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย หากพิจารณาถึงผู้ที่เคยเสนอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 272 ทั้งหมดที่ผ่านมา จะพบว่ามีความหลากหลายเป็นอย่างมาก หกครั้งของข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. (รวม No 272) มีทั้งหมดสามครั้งที่มาจากภาคประชาชนผ่านการรวบรวมรายชื่อของประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายอย่างน้อย 50,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ คือครั้งแรกเสนอโดย iLaw ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อมาก็เสนอโดยกลุ่ม Resolution ในอีกหนึ่งปีต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2564 และครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยกลุ่ม No 272

ในด้านของพรรคการเมืองนั้นก็มีการเสนอเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 272 ด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายค้านเท่านั้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็เคยเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยเช่นกัน ครั้งแรกที่เสนอโดยพรรคการเมืองคือเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับร่างของภาคประชาชนที่เข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันเดียวกัน โดยเป็นร่างที่ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2564 ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ร่วมกันเข้าชื่อเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ อีกครั้ง แต่ในคราวนี้มีข้อเสนอยกเลิกมาตรา 272 ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย โดย ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ก็เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยเช่นกัน

เสนอมาแล้วทุกกระบวนท่า แต่ ส.ว. ไม่เคยให้ผ่านแม้ได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา

มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นประกอบไปด้วยสองวรรค วรรคแรกให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้ง 250 คนสามารถเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ได้ ส่วนวรรคสองนั้นเป็นการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนการเลือกตั้ง

ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งห้าครั้งเสนอให้ตัดมาตรา 272 หมดทั้งมาตรา กล่าวคือ ทั้งยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ และกลไกที่จะทำให้มีนายกฯ คนนอก แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดการแก้ไขมาตรา 159 ซึ่งระบุให้เลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคการเมืองทั้งสามฉบับ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านสองครั้ง และพรรคร่วมรัฐบาลหนึ่งครั้ง เสนอเหมือนกันให้แก้ไขมาตรา 159 ให้นายกฯ ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือเป็นผู้ที่เป็น ส.ส. ก็ได้ โดยรายชื่อนั้นต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าในกรณีของข้อเสนอพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบในกรณีของข้อเสนอพรรคร่วมรัฐบาล

ในขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาชนสองครั้งที่ผ่านมามีความแตกต่างกัน ข้อเสนอของ iLaw นั้นเสนอให้แก้ไขมาตรา 159 ให้นายกฯ มาจาก ส.ส. เท่านั้น ในขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Resolution เสนอให้นายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อและต้องได้รับเลือกเป็น ส.ส. ด้วย ทั้งนี้ ร่างที่มาจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนทั้งสองฉบับก็มีจุดร่วมกันคือเป็นการเสนอในลักษณะ “มัดรวม” กล่าวคือ ไม่ได้มีเพียงข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เท่านั้น แต่มีข้อเสนอในประเด็นอื่นร่วมด้วย เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ Resolution มีการเสนอให้ยกเลิก ส.ว. รวมถึงการแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระ นัยยะของการเสนอเช่นนี้คือการโหวตเห็นชอบนั้นจะเท่ากับเห็นด้วยกับทุกประเด็นในร่างไปโดยปริยาย

แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสนอเช่นไร ส.ว. ก็ยังทำหน้าที่ขวางเส้นทางประชาธิปไตยไทยได้อย่างขยันขันแข็ง รัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากเสียยิ่งกว่าการขนทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญ นอกจากจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งในที่ประชุมรัฐสภารวมกันของ ส.ส. และ ส.ว. แล้ว ในวาระหนึ่งและสามยังมีการระบุด้วยว่าต้องได้เสียงเห็นชอบ ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงด้วย ในทางปฏิบัติหมายความว่าหาก ส.ว. แต่งตั้งไม่เห็นด้วยข้อเสนอใด ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะผ่านไปได้

ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งห้าครั้งที่ผ่านมาจึงไม่แม้แต่จะสามารถผ่านวาระแรกไปได้ โดยไม่มีครั้งไหนเลยที่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เกินหนึ่งในสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ฉิวเฉียด” ที่สุดคือข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ท่ามกลางกระแสกดดันทางการเมืองที่พุ่งขึ้นสูงจากการชุมนุมของนักศึกษา ในครั้งนั้น มี ส.ว. ทั้งหมด 53 คนที่ลงคะแนนเห็นชอบตัดอำนาจตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้ หลังจากนั้นเมื่อกระแสการเมืองเริ่มเบาบางลง กลับมี ส.ว. จำนวนมากที่ “เปลี่ยนใจ” ไม่ตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเองแล้ว ข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองฉบับในเดือนมิถุนายน 2564 ได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. น้อยลงมาก แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันโหวตให้อย่างท่วมท้นจนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่เมื่อได้คะแนนเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ข้อเสนอเหล่านั้นจึงต้องตกไป

No 272 เสนอประเด็นเดียว ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ

การต่อสู้ในสภาเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งสามยก รวมทั้งหมดห้าข้อเสนอ จบลงด้วยการขวางของ ส.ว.แต่งตั้งทุกครั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม No 272 ซึ่งจะเข้าที่ประชุมรัฐสภา จะนับเป็นข้อเสนอที่หกที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ และอาจจะเป็นความพยายามปิดสวิตช์ ส.ว. ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 หากการแก้ไขมาตรา 272 ในครั้งนี้ล้มเหลวอีก ก็มีโอกาสสูงที่หลังการเลือกตั้งทั่วไป ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งทั้ง 250 คนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดโฉมหน้านายกฯ คนใหม่ (หรือคนเดิม) ของประเทศไทยต่อไป

ความแตกต่างของข้อเสนอของกลุ่ม No 272 กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาคือมีลักษณะ “ประเด็นเดียว” แทนที่จะเสนอมัดรวมกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่น ๆ หรือให้แก้ไขมาตรา 159 เรื่องบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไปด้วย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ยกสุดท้ายของสภาชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เสนอให้ตัดเพียงวรรคแรกของมาตรา 272 คือให้ตัดอำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งในการเลือกนายกฯ เท่านั้น ในขณะเดียวกันไม่ได้แตะเรื่องของนายกฯ คนนอกในวรรคสองของมาตรา 272 หรือเสนอให้แก้ไขมาตรา 159 เรื่องให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. แต่อย่างใด

ข้อเสนอนี้ถือว่าเป็น “ขั้นต่ำ” ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากการเลือกของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่ผู้ที่มาจากการแต่งตั้งต้องไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่ผ่านมา ดูราวกับว่า ส.ว. จะไม่ได้ตัดสินใจยกมือให้กับการตัดอำนาจของตัวเองบนฐานของหลักการหรือเหตุผล แต่เป็นเพราะกระแสทางการเมืองกดดันให้คนในสภาต้องรับฟัง ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นมีเดิมพันสูงขึ้นเรื่อย ๆ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากำลังเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองหลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ สปอตไลท์จึงต้องจับไปที่เหล่า ส.ว. ว่าจะตัดสินใจตัดอำนาจตัวเองก่อนการเลือกตั้งหรือไม่