ฝ่ายค้านต้องการ 240 เสียง เพื่อล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

23 กรกฎาคม 2565 จะเป็นวันลงมติหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจและจะเป็นการอภิปรายและลงมติครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 โดยการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ น่าจับตากว่าทุกครั้ง เนื่องจากความนิยมในฝ่ายรัฐบาลกำลังตกต่ำ อันจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้ติดกันเหมือนโดมิโน่ล้ม ไล่ตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่ลำปาง 

ซ้ำร้ายกว่านั้น หลังการพ่ายแพ้ติดกัน ฝ่ายรัฐบาลยังต้องพบกับปัญหาเลือดไหลเนื่องจาก “พรรคเศรษฐกิจไทย” นำโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ประกาศแยกทางจากรัฐบาล พร้อมให้เหตุผลว่า ประชาชนต้องการให้พรรคแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดลำปาง ที่พรรคเสรีรวมไทยพลิกกลับมาชนะพรรคเศรษฐกิจไทยแบบถล่มทลาย

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 151 วรรคสี่ ระบุว่า มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้านับรวมผลการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 จำนวน ส.ส. ในสภาฯ มีประมาณ 478 คน ดังนั้น เสียงกึ่งหนึ่งของสภาอยู่ที่ 239 คน และเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 240 เสียง 

พรรคฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. รวมกัน 195 เสียง (ไม่นับรวม ส.ส.ที่เป็นงูเห่า) และมีพรรคที่ประกาศเป็นพรรคฝ่ายค้าน (อิสระ) รวมกัน 17 เสียง ในขณะที่พรรครัฐบาลรวมกับเสียงของพรรคฝ่ายค้านที่เป็น ‘งูเห่า’ จะมีเสียงรวมกัน 266 เสียง ดังนั้น เพื่อจะล้มรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายค้านอิสระต้องการเสียงจากขั้วรัฐบาลอีก 28 เสียงเท่านั้น

นอกจากพรรคเศรษฐกิจไทยแล้ว หนึ่งในตัวแปรสำคัญในการอยู่หรือไปของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยพรรคเล็กมีก๊วนที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่ม 16’ ที่นำโดย พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย (1 ในกลุ่ม 9 พรรคเล็ก) ที่ยังอยู่ระหว่างประเมินท่าที เพราะก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า พรรคเล็กได้รับของต่างตอบแทนทางอ้อมจากรัฐบาลผ่านใช้ ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว.แต่งตั้ง โหวตหักมติ กมธ.เสียงข้างมาก ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังเอื้อให้บรรดาพรรคเล็กอยู่รอดในการเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ทว่า การตอบแทนในเรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจนว่า พรรคเล็กจะได้ประโยชน์จริง เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับเสียงลงคะแนนของประชาชน 

ที่น่าจับตาอีกเช่นเดียวกันคือ พรรคขนาดกลางที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย ว่าจะยอมสละเรือปล่อยให้กลุ่ม 3 ป. จมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยเคยเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองมาแล้ว เมื่อครั้งต้องลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ผลปรากฎว่า อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ย้ายไปภูมิใจไทย กลับโหวตสวนพรรคเพื่อไทย พรรคต้นสังกัดเดิม 

นอกจากนี้ ด้านพรรคประชาธิปัตย์ก็มีแนวโน้มจะปล่อย “ฟรีโหวต” หรือให้เอกสิทธิ์ ส.ส. ในการลงมติ ซึ่งก่อนหน้านี้ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เตรียมข้อมูลตามญัตติที่เขียนไว้ก็ต้องไล่ตามประเด็นที่เขียนไว้ในทุกประเด็นตามที่คาดการณ์ เขียนไว้อย่างไรก็ตอบไปตามญัตติ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่เป็นเอกภาพยอมรับว่ามีปัญหา และต้องพยายามพูดคุยกันภายในพรรค แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆ ก็เอาเท่าที่ได้ การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ แต่ในพรรคก็ต้องมีระเบียบวินัย หากไม่มีระเบียบพรรคก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น การลงมติหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในโค้งสุดท้าย จึงยังมีความเป็นไปได้ทางการเมืองอีกหลายทาง