จับตา กม.ใหม่ เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิดไม่ต้องขึ้นศาลปกครอง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังดำเนินการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. …. ขึ้นมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. 2539 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับนี้ใช้สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดให้เอกชนเสียหาย หรือทำละเมิดให้หน่วยงานของรัฐเองเสียหาย ซึ่งจะกำหนดวิธีการเรียกค่าเสียหายไว้เป็นพิเศษ ต่างจากกรณีที่ประชาชนเป็นคนทำละเมิด

ในร่างฉบับใหม่นั้น มีหลักการที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และรู้สึกกังวล คือเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิดให้เอกชนหรือประชาชนคนใดเสียหายนั้น ศาลที่จะพิจารณาเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่เอกชนให้เป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม คือ ศาลแพ่งนั่นเอง ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 16

เว้นแต่กรณีที่ ผู้เสียหายได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้แล้ว ด้วยเหตุผลอื่น เช่น ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานรัฐเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ เช่นนี้ หากต้องการเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิด ซึ่งเกิดจากการกระทำเดียวกันด้วย ประชาชนก็สามารถเรียกค่าเสียหายมาในคดีเดียวกัน โดยให้ศาลปกครองเป็นผู้พิจารณาได้ ตามมาตรา 25 (ดูรายละเอียดด้านล่าง)

เนื่องจากการดำเนินคดีที่ประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งได้ออกแบบวิธีการดำเนินคดีไว้ให้เอื้อประโยชน์กับประชาชน มีวิธีการเข้าถึงที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่มีขั้นตอนแบบพิธีมากเกินไป เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนสามารถต่อสู้คดีถามหาความยุติธรรมให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น

และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ..2539 ฉบับเดิม ก็กำหนดว่าการฟ้องคดีกรณีเจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อเอกชน ให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะกำหนดให้ ประชาชนที่ต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม หรือศาลแพ่ง ทั้งที่ประเทศไทยก็มีศาลปกครองทำหน้าที่พิจารณาคดีความอยู่แล้วนั้น น่าจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนผู้เสียหายเอง ไม่เป็นไปในทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งอาจจะขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญเรื่องการแบ่งแยกอำนาจระหว่างศาล จึงเป็นข้อกังขาว่าการเขียนกฎหมายลักษณะนี้จะสามารถทำได้หรือไม่

โดยมีข้อสังเกตควบคู่ไปว่า การกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม อาจเป็นเพราะศาลยุติธรรมมีกลไกการบังคับคดี การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระให้กับผู้ฟ้องคดีเป็นระบบอยู่แล้ว ขณะที่ศาลปกครองยังไม่มีกลไกการบังคับคดีที่ใช้การได้จริง

 

 

ที่มาภาพ  faqs.org

นอกจากประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. …. ฉบับใหม่ ยังคงวางหลักการทั่วๆ ไปคล้ายกับฉบับเก่า คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่ทำละเมิดต่อเอกชนในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากหน่วยงานของเจ้าหน้าที่คนนั้นได้ แต่จะฟ้องเรียกเอากับตัวเจ้าหน้าที่เองไม่ได้ โดยบางมาตราได้แก้ไขถ้อยคำให้กระชับขึ้น หรือกินความหมายกว้างขึ้น

ร่างฉบับใหม่ ยังมีหลักการเพิ่มเติมมาที่น่าสนใจ เช่น

  • ให้คำว่า “หน่วยงานของรัฐ” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายนี้ รวมถึง หน่วยงานธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ องค์การวิชาชีพ ฯลฯ ด้วย

  • เพิ่มข้อความให้ครอบคลุมกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำละเมิดต่อหน่วยงานอื่นของรัฐที่ตนไม่ได้สังกัดให้ได้รับความเสีหาย

  • กำหนดกรอบเวลา กรณีเอกชนเลือกวิธีการยื่นคำขอต่อหน่วยงานรัฐโดยตรงให้ใช้ค่าเสียหาย ให้หน่วยงานนั้นๆ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และขยายได้ไม่เกินหกสิบวัน

  • กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนที่ละเอียดขึ้น กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานของรัฐต้องการหาตัวผู้ต้องรับผิด และต้องการให้ชดใช้ค่าเสียหาย เช่น ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ให้มีหลักเกณฑ์การผ่อนชำระ เป็นต้น

ขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. …. โดยจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรม ทวินทาวเวอร์ ถนนพระราม6

ประชาชนผู้ที่สนใจสามารถร่วมกันส่งความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ที่ เว็บไซด์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ก่อนจะนำความคิดเห็นที่ได้รับมาสรุปและแก้ไขร่างอีกครั้ง เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

 

ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. …

          มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

                “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง

          มาตรา ๑๖ ในกรณีที่หน่วยงานมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๑๔ แล้ว หากเอกชนผู้เสียหายไม่พอใจในคำวินิจฉัย ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

          มาตรา ๒๕ ในกรณีที่เอกชนผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลปกครองในคดีพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หากมูลคดีนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทางละเมิดด้วย เอกชนผู้เสียหายอาจฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดในคดีพิพาทนั้นด้วยก็ได้

          ในกรณีที่เอกชนผู้เสียหายประสงค์จะฟ้องเรียกเฉพาะค่าสินไหมทดแทน ให้ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม