ข้อบังคับจริยธรรม ส.ว. เขียนชัด ห้ามขัดผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม แต่ให้ ส.ว. ตรวจสอบกันเอง

จากกรณีการเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่ามีการนำเครือญาติอย่างน้อย 50 คนมารับเงินค่าตอบแทนรายเดือนในฐานะผู้ช่วยประจำตัว ต่อมา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่าการแต่งตั้งเครือญาตินั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือจริยธรรม จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี ในการทำงานของ ส.ว. ยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ ซึ่งมีการห้ามไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของสมาชิกขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย

หลังการเปิดเผยข้อมูลเครือญาติในคณะทำงานของ ส.ว. ในวันที่ 20 เมษายน 2565 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวกับนักข่าวว่าการที่ ส.ว. แต่งตั้งเครือญาติเป็นคณะทำงานนั้น “ไม่ผิด เพราะไม่ผิดกฎหมายแล้วถามว่าจะไปผิดจริยธรรมได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมีกฎหมายและระเบียบ อีกทั้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราอะไรทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ คือใช้ระเบียบแบบนี้มาก่อนที่ผมจะมาเป็น ส.ว.ด้วยซ้ำ” คำตอบของพรเพชรไม่ต่างจากสิ่งที่คนเคยพูดเมื่อปี 2558 ซึ่งมีการเปิดเผยเช่นเดียวกันโดยสำนักข่าวอิศราว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการนำเครือญาติไปเป็นคณะทำงาน ในตอนนั้น พรเพชรซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ในลักษณะเดียวกันว่าเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย แม้ต่อมาวิป สนช. จะมีมติแนะนำให้สมาชิกนำเครือญาติออกไปจากคณะทำงานก็ตาม

จริงอยู่ที่คุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงาน ส.ว. นั้นไม่ได้กำหนดว่าห้ามนำเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยหรือคณะทำงาน แต่ในเรื่องของ “จริยธรรม” แม้แต่ ส.ว. เองก็ถูกกำกับโดยข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ซึ่งในข้อ 12 มีการระบุถึงจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักว่า “ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ทั้งนี้ การนำเครือญาติเข้ามารับเงินค่าตอบแทนรายเดือนในฐานะผู้ช่วย แม้กระทั่งในกรณีที่นำมาเพื่อทำงานจริง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อครหาเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ได้ มติของวิป สนช. ซึ่ง ส.ว. หลายคนก็เคยนั่งเก้าอี้มาก่อนนั้นก็เป็นเครื่องยืนยันหนึ่งว่าเครือญาติในคณะทำงานเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่ “ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจริยธรรม” เท่านั้น

ทั้งนี้ ข้อบังคับจริยธรรมฯ ยังมีกลไกการควบคุมด้วย โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ซึ่งประกอบไปด้วยรองประธานวุฒิสภาหนึ่งคนเป็นประธาน และมีประธานกรรมาธิการสามัญของ ส.ว. ทุกคณะร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยมีหน้าที่พิจารณาชี้ขาดข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากข้อบังคับจริยธรรมฯ หากมีการร้องเรียนและกรรมการจริยธรรม ส.ว. เห็นว่าผิดจริง ก็จะต้องส่งเรื่องต่อไปให้ที่ประชุม ส.ว. ลงมติ ในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรง ที่ประชุมก็สามารถลงมติสองในสามเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พิจารณาดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไปได้ หากเป็นกรณีอื่น ที่ประชุมสามารถลงมติเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเพื่อตักเตือนได้ โดยการประชุมทั้งหมดจะต้องเป็นความลับ

สำหรับการละเมิดจริยธรรมว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ความผิดร้ายแรง กลไกกรรมการจริยธรรมซึ่งประกอบไปด้วย ส.ว. พิจารณากันเองนั้นจึงทำได้อย่างมากก็เพียงแค่ตักเตือนเท่านั้น แม้แต่ในการออกมติวิป สนช. เมื่อปี 2558 ก็เป็นเพียงคำแนะนำ และยังมีสมาชิกบางส่วนไม่ทำตาม โดยยังคงให้เครือญาติรับเงินค่าตอบแทนต่อไป

ข้อสังเกตหนึ่งคือ ข้อความในข้อ 12 ของข้อบังคับจริยธรรมฯ พ.ศ.2563 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเนื้อหาเมื่อเปรียบเทียบกับข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. 2558 ในข้อบังคับฉบับเก่า มีการกล่าวถึงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในข้อที่ 25 ซึ่งระบุว่า “สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยอาศัยตําแหน่งหน้าที่ และไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส และบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย” จะเห็นว่าข้อบังคับฉบับเก่ามีข้อความที่ชัดเจนกว่าและเขียนให้ครอบคลุมถึงคู่สมรสและบุตรของสมาชิกด้วย ทั้งนี้ ในข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ก็มีการเขียนไว้ในลักษณะเดียวกับข้อบังคับจริยธรรมของ ส.ว. พ.ศ. 2563