สำนักเลขาธิการ ส.ว. ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. ไอลอว์พร้อมอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลล่าสุดของรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งหนังสือตอบกลับมีใจความปฏิเสธการร้องขอข้อมูล โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ไอลอว์จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อไป ในระหว่างนี้ เราก็มีข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. เมื่อสองปีก่อน และจะเปิดเผยให้ดูต่อไปว่ามีใครน่าสนใจบ้าง

เมื่อได้รับเลือกแล้ว ส.ว. แต่ละคนจะสามารถแต่งตั้งคณะทำงานส่วนตัวเพื่อช่วยงานได้ทั้งหมดแปดคน โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวหนึ่งคน รับเงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัวสองคนและผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวห้าคน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน หากนับเวลา ส.ว. ชุดแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ปฏิบัติงานมาอย่างน้อยสามปีแล้ว (พฤษภาคม 2562 – พฤษภาคม 2565) มีการใช้เงินภาษีประชาชนจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วอย่างน้อย 2,230,569,000 บาท

ข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. จึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่สังคมควรจะได้รับรู้ และต้องเข้าถึงได้ ว่ามีการใช้อำนาจในการแต่งตั้งไปกับใครบ้าง และมีใครที่กำลังกินเงินค่าตอบแทนรายเดือนหลักหมื่นบาทอยู่ โดยก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ช่วยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสำนักข่าวอิศราเช่นเดียวกัน

ไอลอว์จึงตัดสินใจใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อขอข้อมูลล่าสุดของรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของ ส.ว. ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 โดยหวังว่าจะได้รับการตอบรับเนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 สำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งหนังสือตอบกลับ ปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลโดยอ้างว่า “มีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” ซึ่งจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 27 ของ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ดังนั้น ข้อมูลของคณะทำงาน ส.ว. จึงเป็น “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 15 (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540”

แน่นอนว่าไอลอว์ไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลของสำนักงาน ส.ว. เนื่องจากข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. นั้นข้อกฎหมายให้การยกเว้นไว้ว่าต้องเปิดเผยได้ โดย พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ มาตรา 24 (5) ให้ผู้ควบคุมข้อมูลสามารถเปิดเผยข้อมูลได้หาก “เป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งการใช้สิทธิขอข้อมูลตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ตรงกับข้อยกเว้นในมาตรา 24 (5) ของ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ โดยตั้งอยู่บนฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่สามารถนำมาตรา 19 และ 27 ของ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรา 15 (6) ของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ มาอ้างเพื่อไม่เปิดเผยข้อมูลด้วย

การที่หน่วยงานราชการอ้างกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเพิ่งจะมีผลบังคับเพื่อจะไม่เปิดเผยข้อมูลของเป็นเรื่องที่ตีขลุมกินเอาเอง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อทั้งหลักกฎหมายและหลักการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งหากยังมีทัศนคติเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลเสียต่อความโปร่งใสและการตรวจสอบการเมืองในประเทศไทยโดยตรง ข้อมูลทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็อาจจะตรวจสอบไม่ได้ ในทางกลับกัน ข้อมูลราชการหลายอย่างหากได้รับการเปิดเผยจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้น เราต้องยืนยันว่าข้อมูลเหล่านั้นต้องเปิดเผยได้

พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบุคคลทั่วไป และยืนยันความโปร่งใสของการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล มิใช่เพื่อเป็นข้ออ้างให้หน่วยงานปกปิดข้อมูลและลดความโปร่งใส ข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. ที่ไอลอว์ใช้สิทธิยื่นขอไปนั้นก็เป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์ เมื่อตำแหน่งทางการเมืองใช้อำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเข้ามา สาธารณะชนก็ย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลนั้น ตราบใดที่ไม่เป็นข้อมูลที่อ่อนไหวหรือไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งลำพังเพียงรายชื่อและตำแหน่งของคณะทำงาน ส.ว. นั้นก็เป็นข้อมูลที่พึงรับรู้ได้อยู่แล้ว

ไอลอว์ยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่เพียงเพื่อขอข้อมูล แต่เพื่อเป็นบรรทัดฐานว่าหน่วยงานรัฐจะใช้ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ มาอ้างเพื่อปกปิดข้อมูลในอนาคตไม่ได้อีก

อย่างไรก็ตาม แม้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะไม่ยอมมอบข้อมูลล่าสุดให้ แต่ไอลอว์ก็ได้รับเอกสารคณะทำงานของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ในระหว่างที่รอผลการอุทธรณ์ ไอลอว์จะนำข้อมูลเมื่อสองปีที่แล้วมาเปิดเผยให้ประชาชนรับชม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

ไฟล์แนบ