สภารับหลักการร่างแก้กฎหมายแพ่ง #สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จับตาต่อวาระสอง-สาม

15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ)  หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตสองฉบับ หนึ่งฉบับเสนอโดยครม. อีกหนึ่งฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตประกบกัน แต่ลงมติรับหลักการแยกกัน โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ ด้วยคะแนนเสียง ดังนี้

๐ รับหลักการร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180  เสียง งดออกเสียง 12  เสียง 

๐ รับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยครม. คะแนนเสียงเห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และรับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่เสนอโดยครม. เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และเนื้อหาไม่เหมือน #สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง

๐ รับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง

หลังจากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) 25 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายในวาระสอง แต่เนื่องจากร่างกฎหมายที่ผ่านวาระหนึ่งทั้งหมดนั้น เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน จึงแยกพิจารณาออกเป็นสองกลุ่ม คือ 1) ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ใช้ร่างที่ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระสอง และ 2) ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ใช้ร่างที่ครม. เสนอเป็นหลัก ซึ่งร่างฉบับนี้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพียงแค่ 3 เรื่องเท่านั้น และสาระสำคัญไม่เหมือน #สมรสเท่าเทียม

บรรยากาศการ #ประชุมสภา เพื่อพิจารณา #สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้

ถกเดือด ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกบ #สมรสเท่าเทียม

ร่างสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขบทบัญญัติในป.พ.พ. ที่เกี่ยวข้องกับการสมรส ซึ่งไม่จำกัดแค่มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการสมรสของชายหญิง และไม่ได้จำกัดแค่บรรพ 5 ครอบครัว แต่ยังแก้ไขบททั่วไป และเรื่องสิทธิการรับมรดกด้วย โดยประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขคำว่า “สามี-ภริยา” ที่ปรากฏอยู่หลายแห่งในป.พ.พ. ให้เป็นคำว่า “คู่สมรส” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้บ่งบอกถึงกรอบทางเพศแทน ทำให้ร่างกฎหมายนี้มีความยาวและมีรายละเอียดมาก ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยครม. มีจำนวนทั้งสิ้น 46 มาตรา ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มี 44 มาตรา ที่จำนวนบทบัญญัติน้อย ส่วนหนึ่งเพราะร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับ “อนุโลม” เอาบทบัญญัติในป.พ.พ.มาใช้เท่าที่ไม่ขัดกับตัวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

ช่วงเริ่มต้นเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมาย เวลาประมาณ 10.50 น. ชินวรณ์  บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติให้นำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต สองฉบับ ที่ครม. และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอ และร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. อีกหนึ่งฉบับ ที่ครม. เสนอเพื่อแก้ไขป.พ.พ. สามมาตราให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มาพิจารณาประกบกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ลงมติรับหลักการแยกกัน ด้านส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน เห็นแย้งว่าไม่ควรพิจารณาไปพร้อมกัน แต่ควรพิจารณาแยกกัน หลังพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วค่อยพิจารณาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นแย้งว่าไม่ควรนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตมาพิจารณาประกบกัน โดยณัฐวุฒิอธิบายว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายเฉพาะ ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เห็นว่า หากพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตไปพร้อมกัน อาจขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

เมื่อส.ส. มีความเห็นแตกต่างกัน จึงต้องใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยกับญัตติที่ชินวรณ์  บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มาพิจารณาประกบกับร่างแก้ไขป.พ.พ. #สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 241 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และลงมติว่า ในชั้นการลงมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ลงมติรับหลักการ “แยกฉบับกัน” โดยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ให้ลงมติแยกกัน) 232 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยสรุป การพิจารณาร่างกฎหมาย การอภิปราย จึงทำไปพร้อมกัน แต่จะลงมติรับหลักการแยกกัน

หลังใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ ในการถกเถียงกันว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตทั้งสองฉบับแยกขาดออกจากกันหรือพิจารณาประกบ ซึ่งท้ายที่สุดพิจารณาประกบกัน จากนั้น จึงเป็นช่วงที่ผู้เสนอร่างกฎหมายแต่ละฉบับจะต้องแถลงร่างกฎหมาย

มติสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกบ #สมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้แถลงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ธัญวัจน์ กล่าวถึงกรณีที่เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. ขอนำร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. #สมรสเท่าเทียม ไปศึกษาก่อนรับหลักการ 60 วัน โดยมีการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน หลายหน่วยงานเห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (กฤษฎีกา) ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องธรรมชาติ และกฤษฎีกาเห็นว่า ควรกำหนดเป็นกฎหมายแยกเฉพาะไปเลย ธัญวัจน์ตั้งคำถามว่า ในเมื่อกฤษฎีกาอธิบายว่าควรกำหนดกฎหมายแยก ทำไมจึงอนุโลมนำบทบัญญัติในป.พ.พ. หลายเรื่องไปใช้กับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. (แก้ไข 3 มาตรา ให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต) ฉบับที่ครม. เป็นผู้เสนอ โดยการชี้แจงของสมศักดิ์ มีลักษณะอ่านตามที่เอกสารเขียนไว้ มีใจความว่า หลักการของร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มีเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกันอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยในป.พ.พ. รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง และยังไม่มีกฎหมายใดที่รับรองการจดทะเบียนสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่ข้อเท็จจริงมีคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่มาก จึงต้องมีกฎหมายรับรอง

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้แถลงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อิสระกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงคำสองคำอย่างมากทั้งในโลกออน์ไลน์และโลกกายภาพ คือคำว่า #สมรสเท่าเทียม กับคู่ชีวิต สังคมถูกชี้นำให้เข้าใจว่า จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเลือกสมรสเท่าเทียม ต้องไม่เอาคู่ชีวิต เลือกคู่ชีวิต ต้องไม่เอาสมรสเท่าเทียม จนกระทั่งเกิดมีแฮชแท็กติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ คือ #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว หลายคนจำนวนไม่น้อย ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า สมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิต อย่างแท้จริง 

จริงๆ แล้วหลักการของสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตเป็นเรื่องที่สามารถไปด้วยกันได้แล้วก็เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ แต่ต้องไม่ใช่ คู่ชีวิตในรูปแบบที่เสนอมาโดยกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นการเขียนจับแพะมาชนแกะ เขียนแบบไม่เข้าใจลูบหน้าปะจมูก ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์ถึงอยากจะเสนอพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในรูปแบบของเราที่เราคิดว่าจะสามารถเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้ได้

กระทรวงยุติธรรมอาจมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่กระทรวงทำมาคือของขวัญของพลเมืองชั้นสองของ LGBTQ ของคนเพศเดียวกัน แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เราไม่ได้มองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือของขวัญ แต่คือทางเลือก ของทุกคู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ชาย-ชาย หญิง-หญิง รวมทั้งชาย-หญิง ที่ต้องการมีสิทธิเลือกระดับความสัมพันธ์เป็นของตัวเอง ดังนั้นในมาตราที่ 3 ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ถึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม. ที่บอกว่านิยามของคำว่าคู่ชีวิตหมายความว่าบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ขณะที่นิยามของพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าคู่ชีวิตหมายถึงบุคคลสองคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามจะเพศเดียวกันจะต่างเพศกันสามารถที่จะจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันได้

อิสระ อธิบายว่า  หากถามกลับว่าถ้าอย่างนั้นทำไมต้องมีสองสถานะ คือ คู่สมรส และคู่ชีวิต ต้องเรียนว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา กรณีของศาสนาคริสต์กับอิสลามที่การประกอบพิธีทางศาสนาหัวใจสำคัญที่สุดของการสมรส ถ้าหากจะแก้กฎหมายแพ่ง ให้การสมรสสามารถทำได้ทุกเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเรากำลังบังคับ ผู้นำทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรืออิสลามให้ต้องประกอบพิธีสมรส ให้กับคู่รักทุกเพศซึ่งผิดกับหลักศาสนา

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา อยากจะขอเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกได้พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ผมเห็นว่าสถานะคู่ชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นทางออกเป็นกฎหมายที่มองคนเท่ากันให้โอกาสแก่คนทุกคนแล้วเวอร์ชันที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอนั้นสำหรับคนทุกเพศ ไม่ได้เป็นการมองว่าเพศในเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่เป็นการเลือกปฏิบัติกับเพศไหน แต่เป็นกฎหมายที่มองคนเท่ากันให้คนทุกเพศสามารถเลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตของตัวเองโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นความหวังให้กับทุกคู่ชีวิตอย่างแท้จริง

ต่อมา เป็นช่วงที่ส.ส. อภิปรายกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลหลายรายที่ผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย เช่น 

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ครม. มีสิทธิหลายอย่างเหมือนร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.พ.พ. หลายเรื่องที่ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้กำหนดไว้ เช่น อุ้มบุญ สามารถแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้ ดังนั้น ร่างกฎหมายที่เสนอโดยครม. เป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่กระทบกับทุกฝ่าย และรับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม ในการออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิคนกลุ่มใด ก็ต้องไม่ไปกระทบสิทธิของคนกลุ่มอื่น การที่ร่างกฎหมายออกมา มีผลสัมฤทธิ์เช่นเดียวกัน จะต่างที่ชื่อหรือวิธีการบัญญัติกฎหมาย แต่ก็มีประโยชน์เหมือนกัน 

ซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ตนไม่สามารถรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตได้ เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา พี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ ติดตามข่าวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหลักศาสนาอิสลาม คัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นสิ่งที่ต้องยึดไว้สูงสุด และรัฐธรรมนูญก็ได้เขียนรับรองสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

เหตุที่ตนไม่เห็นด้วยทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และตัวร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เนื่องจากจะไปกระทบกับวิถีชีวิตและความรู้สึก ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพี่น้องประชาชน อีกอย่างคือ จะเป็นการฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติสร้างให้สัตว์ทุกชนิดมีเพศผู้ เพศเมีย และมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด จึงอยากฝากกรรมาธิการพิจารณาออกกฎหมาย อยากให้มีข้อยกเว้น มีบทเฉพาะกาล ไม่ต้องใช้บังคับกับพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม 

เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ยืนยันว่าจะสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะในอนาคตอาจจะมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องคำนำหน้า ในอนาคตอาจจะไม่มีคำนำหน้าที่ระบุเพศ หากผลักดันทีละส่วน เช่น ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็อาจจะต้องตามไปแก้ไขกฎหมายอีก

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายจากประสบการณ์ตรงว่า ตอนสมัยที่เรียนหนังสือ เวลาพาเพื่อนชายที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดมาบ้าน พ่อก็จะไม่พอใจ ขณะที่เวลาพาเพื่อนผู้หญิงมานอนด้วยกันที่บ้าน ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนั้นมีความชอบพอเพศหญิง ครอบครัวก็ไม่ได้ว่าอะไร สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกัน แต่ตนเชื่อว่า หากผู้ใหญ่เข้าใจแล้วก็จะยอมรับสิ่งนี้ได้ ตนสนับสนุนให้รับร่างกฎหมายรับรองสิทธิเพศหลากหลาย โดยเฉพาะสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

ผ่านทุกร่าง แต่ไม่ใช้ #สมรสเท่าเทียม เป็นร่างหลัก

หลังจากส.ส.อภิปรายแล้วเสร็จ และเปิดโอกาสให้ผู้เสนอกฎหมาย รวมถึงผู้ชี้แจงจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ชี้แจงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่เสนอโดยครม. แล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จากนั้นจึงมีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายในวาระสอง จำนวน 25 คน แบ่งเป็นโควตาครม. ห้าคน และโควตาพรรคการเมือง 20 คน โดย ดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย 6 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ 4 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 3 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน
  • พรรคก้าวไกล 2 คน
  • พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย 1 คน 

หลังเสนอตั้งกรรมาธิการแล้ว มีประเด็นอีกว่า จะใช้ร่างกฎหมายใดเป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกมธ. ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ใช้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยครม. เป็นร่างหลัก ขณะที่จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอว่า เนื่องจากร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน จึงเสนอว่า ใช้กมธ. ชุดเดียวกัน แต่พิจารณาร่างกฎหมายแยกออกเป็นสองฉบับ 

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ใช้ร่างที่ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกมธ. ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยให้ใช้ร่างครม.เป็นร่างหลัก 207 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยให้ใช้ร่างที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแพ้โหวต มีคะแนนเสียงเห็นด้วย 142 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง 

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ใช้ร่างที่ครม. เสนอ เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกมธ. โดยมีสาระสำคัญคนละอย่างกับ #สมรสเท่าเทียม แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แค่ 3 เรื่อง คือ 1) ห้ามคนที่จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้วมาจดทะเบียนสมรส (ห้ามจดทะเบียนซ้อน) 2) หากสามี-ภริยาอุปการะเลี้ยงดูคนอื่นฉันคู่ชีวิต เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ 3) หากฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพไปจดทะเบียนคู่ชีวิต สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพหมดไป

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยให้ใช้ร่างที่ครม.เสนอ เป็นร่างหลัก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 207 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยให้ใช้ #สมรสเท่าเทียม เป็นร่างหลักแพ้โหวต มีเสียงเห็นด้วย 142 เสียง และงดออกเสียงอีก 11 เสียง

ถึงแม้สภาผู้แทนราษฎร จะรับหลักการ ทั้ง ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในวาระหนึ่งแล้ว แต่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายยังไม่จบ ซึ่งต้องติดตามกันต่อในชั้นกมธ. ตอนลงมติรายมาตราในวาระสอง และตอนที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างทั้งฉบับในวาระสาม ยาวไปจนถึงการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาอีกสามวาระ นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม ยัง “ไม่ได้เป็นร่างหลัก” ในการพิจารณาชั้นกมธ. นี่อาจเป็นจุดสำคัญที่ต้องร่วมกันจับตาว่า ท้ายที่สุดแล้ว #สมรสเท่าเทียม จะสามารถผ่านด่านสภาไปจนถึงวาระสามได้หรือไม่