สรุปเสวนา “Thailand: ดินแดนแห่งความหลากหลายด้านปฏิบัติการสอดส่องโดยรัฐ”

6 มิถุนายน 2565 เวลา 19.00 – 21.00 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation: CrCF) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT) จัดงานเสวนาเนื่องในวาระครบรอบสองปี 4 มิถุนายน 2563 การถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบและแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามคุกคามนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและข้อเสนอแนะต่อไปในอนาคต ดำเนินรายการโดยภาณุ วงศ์ชะอุ่ม โดยวงเสวนาแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่

(1) เสียงจากผู้ถูกรัฐติดตามคุกคามและสอดส่อง มีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักกิจกรรมผู้ลี้ภัยและถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา, จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทของ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา” ผู้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิของคนมุสลิม และถูกบังคับสูญหายโดยรัฐในปี 2497, ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล  และผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งใส่เครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และพิมชนก ใจหงส์ นักกิจกรรมเยาวชนอิสระ ผู้เคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

(2) วิเคราะห์สถานการณ์และข้อเสนอแนะเพื่อบรรเทาความเสี่ยง มีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สัณหวรรณ ศรีสด นักกฎหมายจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย (ICJ) และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการชี้แจงว่าได้มีการเชิญตัวแทนจาก “กระทรวงยุติธรรม” มาเป็นผู้ร่วมวงเสวนาช่วงที่สองด้วย แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ทางกระทรวงไม่ได้ส่งตัวแทนมาพูดคุยกัน

2497-2563: 6 ทศวรรษ ถูกอุ้มหาย (ยัง) ไม่ได้คืน 

o สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวเปิดงานว่า เนื่องในวาระครบรอบสองปีที่น้องชายถูกอุ้มหาย ได้ไปร่วมงานรำลึกเมื่อ 4 มิถุนายน 2565 จัดขึ้นที่สวนครูองุ่น และรู้สึกดีใจที่ได้พบกับ เพื่อนๆ คนรู้จักของวันเฉลิม ไปจนถึงนักกิจกรรมและคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สิตานันเล่าว่า ในรอบสองปีที่ผ่านมา ความพยายามเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้น้องชาย ส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2 คดี จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่แยกอโศก เมื่อ 5 กันยายน 2564 และจากการยื่นหนังสือที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อ 10 ธันวาคม 2564 มากไปกว่านั้น สิตานันยังพบว่าชื่อของเธอไปปรากฏอยู่ในเอกสารรายชื่อบุคคล “ระดับแดง” ที่รัฐให้การเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่เห็นต่างทางการเมืองและผู้ทำงานวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล

ต่อมา มนทนา ดวงประภา ทนายความที่ดูแลคดีของวันเฉลิม แถลงความคืบหน้าว่าที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องในประเทศไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6 องค์กร ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานอัยการสูงสุด, คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับบุคคลสูญหาย ภายใต้กระทรวงยุติธรรม, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมาธิการกฎหมายของรัฐสภา รวมทั้งการยื่นเรื่องไปยังองค์กรในประเทศกัมพูชา ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม และอัยการศาลแขวงพนมเปญ ซึ่งได้ดำเนินการไปตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2563 แต่ปัจจุบันยังอยู่ขั้นสืบสวนสอบสวนโดยศาล อีกทั้งได้รับการแจ้งกลับมาว่า “ภาพบันทึกจากกล้องไม่แสดงผลเหตุการณ์ เนื่องจากกล้องหมดอายุ”

นอกจากนี้ ยังมีการยื่นหนังสือไปที่องค์กรภายใต้สหประชาชาติ (UN) ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Committee on Enforced Disappearances: CED) และคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance – WGEID) โดยมนทนาคาดว่า ความพยายามดังกล่าวนี้จะช่วยสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นได้ทั้งภายในสังคมไทยและสากลโลก

o จตุรนต์ เอี่ยมโสภา กล่าวว่า กรณีการอุ้มหายหะยีสุหลงเป็นกรณีแรกที่สามารถใช้คำว่า “ถูกอุ้มฆ่า” โดยภายหลังหะยีสุหลงสูญหายไปพร้อมเพื่อนรวม 4 คน รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตั้งกรรมการสอบสวน และผู้กระทำผิดก็ให้การรับสารภาพแม้ไม่พบหลักฐาน จึงทราบว่าทุกคนถูกฆาตกรรมเมื่อ 13 สิงหาคม 2497 ต่อมา ในปี 2547 พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เกิดเหตุการณ์อุ้มหายอีกครั้ง คือ กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

กระทั่งในปัจจุบัน จตุรนต์กล่าวว่าการสอดแนมโดยรัฐก็ยังดำเนินอยู่ เช่น กรณีของเด่น โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงซึ่งเป็นนักการเมืองคนสำคัญในพื้นที่ พบว่ามีการส่งคนมาถ่ายรูปที่บ้าน และพบข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า “จะถูกสั่งเก็บ” (รายชื่อบัญชีดำของรัฐที่มุ่งเจาะจงชมรมกฎหมายมุสลิม) นอกจากนี้ จตุรนต์อธิบายว่าเนื่องจากวัฒนธรรมของภาคใต้มักใช้พื้นที่ในร้านน้ำชาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รัฐจึงเลือกใช้การส่งสายข่าวเข้าไปนั่งในร้านน้ำชาเพื่อเก็บข้อมูลและเล่าเรื่องป้ายสีบุคคลเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเกลียดชังในพื้นที่

จตุรนต์กล่าวว่า ตั้งแต่เหตุการณ์การอุ้มฆ่าหะยีสุหลง มีประชาชนที่ถูกรัฐอุ้มหายจำนวน 36 ราย โดยที่ครอบครัวไม่ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ สิ่งที่น่าตกใจ คือ การฆาตกรรมโดยทิ้งศพลงในแม่น้ำโขงเมื่อ 2 ปีก่อน (กรณีของสุรชัย แซ่ด่าน และสหาย) ยังคงเป็นวิธีการเดียวกันที่รัฐใช้เพื่อฆาตกรรมหะยีสุหลง ได้แก่ ใช้เชือกรัดคอ-ผ่าท้องเพื่อเอาปูนซีเมนต์ใส่-นำศพใส่ในถุง และนำไปทิ้งลงในแม่น้ำ 

ชีวิตติดเงื่อนไข ใส่กำไลแทนโซ่ตรวน: การสอดแนมภายใต้กระบวนการยุติธรรม

o ชลธิชา แจ้งเร็ว กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปี 2557 เธอมักพบกับการคุกคามเชิงกายภาพอยู่เสมอ เช่น การติดตามถ่ายรูปในพื้นที่ชุมนุม หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเช่าบ้านอยู่ข้างๆ สำนักงาน เพื่อคอยเก็บข้อมูลของทีมงานและผู้ที่เข้ามาติดต่อประสานงาน นอกจากนี้ ชื่อของชลธิชายังปรากฏอยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง (watch list) ของรัฐบาลอีกด้วย

จากประสบการณ์การขึ้นศาลในคดี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ชลธิชาพบว่า เอกสารคำฟ้องของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าเธออยู่ในที่ชุมนุม หากแต่มีการใช้ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเป็นหลักฐานแทน เช่น โพสต์ที่มีการเชิญชวนให้ไปชุมนุม นั่นจึงทำให้เธอทราบว่ารัฐบาลคอยสอดส่องเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับกรณีคำพูดของผู้พิพากษาในการไต่สวนถอนประกันเมื่อ 23 มีนาคม 2565 ที่ศาลชี้แจงเหตุผลในการเรียกมาไต่สวนว่า เนื่องจาก “เห็นข้อความในเฟซบุ๊ก” ของเธอ

ชลธิชากล่าวว่า ในปัจจุบัน อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “กำไล EM” (Electronic Monitoring) ถูกนำมาใช้กับคดีความที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกโดยเฉพาะ เนื่องจากการติด EM และเงื่อนไขที่ถูกพ่วงมาด้วยในการประกันตัว เช่น การห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืน หรือเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามทำกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อสถาบัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดทอนการเคลื่อนไหวโดยตรง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวอ่อนแอลง

นอกจากนี้ ชลธิชายังตั้งข้อสังเกตว่า แต่เดิมนโยบายเรื่องกำไล EM ถูกเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ให้ติดกำไล EM แทนการวางหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวกลับไม่สอดคล้องกับกรณีการปล่อยตัวแกนนำราษฎร เช่น รุ้ง-ปนัสยา, เพนกวิน-พริษฐ์ หรือ ทนายอานนท์ เนื่องจากยังมีการเรียกหลักทรัพย์จำนวนหลักแสนบาทขึ้นไปควบคู่กับคำสั่งให้ติดกำไล EM อยู่ เช่นเดียวกับกรณีของเธอที่ยังต้องวางหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท 

ชลธิชาสะท้อนว่า การติดกำไล EM ยังส่งผลกระทบต่อชีวิต ได้แก่ ปัญหาในเชิงเทคนิค เช่น การชาร์จแบตเตอรี่ไม่เข้า ซึ่งหากแบตหมดก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่าหลบหนีได้ หรือการถูกตีตราจากผู้คนที่พบเห็น เนื่องจากส่วนมากผู้ที่ติดกำไล EM จะเป็นนักโทษในคดียาเสพติดและอาชญากรรม ทำให้อาจถูกผู้คนเหมารวมว่าเป็นอาชญากรได้ ตลอดจนเรื่องของสุขอนามัยจากการเสียดสีผิวหนัง และเรื่องของสิทธิในการเคลื่อนย้ายเดินทาง โดยชลธิชาตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า กำไล EM อาจกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เช่น ตำแหน่งของที่อยู่อาศัยและประวัติการเดินทาง พร้อมเสนอว่ารัฐควรเปิดเผยว่ามีวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ได้มาอย่างไร รวมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในกรณีใดบ้าง

o พิมชนก ใจหงส์ เล่าถึงประสบการณ์การถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม เช่น ในช่วงงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างการไปเที่ยวที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตามตลอดเส้นทางพร้อมตามไปเข้าพักที่เดียวกัน อีกทั้งตอนเดินทางกลับก็มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาสอบถามว่า “อยู่บนรถคันนี้ใช่ไหม” และ “จะเข้าพื้นที่รับปริญญาไหม” หรือมีครั้งหนึ่ง เธอไปทานข้าวกับครอบครัวที่จังหวัดตาก และได้รับการแจ้งจากเจ้าของร้านว่า มีเจ้าหน้าที่โทรมาขอใบกำกับภาษี เนื่องจากต้องการข้อมูลว่า “ใครเป็นคนจ่ายเงินสนับสนุนเธอ” แต่สุดท้ายเจ้าของร้านก็ไม่ให้ข้อมูล

พิมชนกกล่าวว่า หนึ่งในเงื่อนไขการประกันตัวของเธอ คือ การต้องไปรายงานตัวทุก 12 วันที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเธอถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และติดเงื่อนไขในการประกันตัว โดยพิมชนกเล่าว่า หลายครั้งมีเจ้าหน้าที่ไปดักรอที่สนามบินและตามไปถ่ายรูปเธอที่ศาล หรือครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาพูดคุย โดยเอาตั๋วเดินทางมาให้ดูและถามว่า “นั่งตรงนี้ใช่ไหม” ซึ่งทำให้เธอทราบว่าสายการบินยอมเปิดเผยข้อมูลของเธอให้กับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ พิมชนกยังสะท้อนว่าเงื่อนไขรายงานตัวทุก 12 วัน ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน เช่น การพลาดกำหนดการสอบ ตลอดจนปัญหาเรื่องค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเธอยกตัวอย่างว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยเครื่องบินจากเชียงใหม่กลับมาที่กรุงเทพฯ ของช่วงวันหยุดยาว คิดเป็นจำนวนเงิน 3,800 บาท

IO & Pegasus: ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีนอกกฎหมาย 

o พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า สภาวะของรัฐสอดแนม (Surveillance state) ถูกพบเจอมาเป็นเวลานานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และปัจจุบันก็ถูกนำมาใช้ทั่วทั้งประเทศในรูปแบบที่แยบยลกว่า นอกจากนี้ยังมีการใช้ “กฎหมายพิเศษ” ที่ประกาศออกมาเพื่อตอบสนองอำนาจบางอย่าง เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดฯ มีการใช้กฎอัยการศึก ในขณะที่ทั่วประเทศมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งปัจจุบันไม่มีกลไกตรวจสอบการใช้งานและกระบวนการประเมินว่าจะยุติการใช้เมื่อใด

พรเพ็ญระบุว่า กระบวนการที่พบมากคือ “การถูกทำให้เป็นคนอื่น” เช่น อาศัยกระแสสังคมโลกเรื่องการเกลียดชังอิสลาม (Islamophobia) หรือการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO) เพื่อผลิตชุดข้อมูลที่ทำให้นักเคลื่อนไหวกลายเป็นคนอื่นหรือป้ายมลทินให้บุคคลเป้าหมายเสียหาย ประกอบกับการควบคุมภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดฯ กอ.รมน.จะเป็นผู้ควบคุมสื่อทั้งหมด 

นอกจากการติดตามเยี่ยมบ้าน บุกค้นบ้าน หรือข่มขู่ครอบครัว พรเพ็ญเสริมว่า ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ยังพบการสอดแนมและเก็บข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในรูปแบบที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก เช่น การเก็บ DNA ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร (biometric), การบังคับให้จดทะเบียนซิมการ์ด, การบังคับตรวจเก็บภาพถ่ายใบหน้า และการติดกล้องวงจรปิดในหลายพื้นที่ ซึ่งหลังการเก็บข้อมูลไปหลายแสนคนก็ยังไม่ชัดเจนว่าข้อมูลนี้จะถูกใช้อย่างไร

o ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมาเราพบการลุกขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันรัฐก็มีความพยายามที่จะรักษาระบอบเดิมเอาไว้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะต้องใช้วิธีการที่ไม่มีกฎหมายใดอนุญาต เช่น กรณีนักกิจกรรมและนักการเมืองถูกติดเครื่องติดตาม GPS ที่ใต้ท้องรถ หรือปฏิบัติการ IO ซึ่งมีหลักฐานทั้งจากข้อมูลการอภิปรายของพรรคก้าวไกลที่มีคนในของกองทัพนำมามอบให้ และรายงานจากทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ก ว่ามีการปิดแอคเคาท์ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ นอกจากนี้ รัฐได้เลือกใช้เครื่องมือชิ้นใหม่ที่ชื่อว่า “เพกาซัส” (Pegasus) เพื่อสอดแนมนักกิจกรรมผ่านการฝังสปายแวร์ลงไปในโทรศัพท์ เป็นสปายแวร์จากประเทศอิสราเอลที่จะผลิตขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น 

มุ่งสู่หนทางป้องกัน “รัฐสอดแนม” 

o สัณหวรรณ ศรีสด กล่าวว่า หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับการสอดแนมการสื่อสาร (International Principles on the Application of Human Rights to Communications Surveillance) มีหลักเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาสำหรับการที่รัฐจะสอดแนทประชาชนได้ตามลำดับ ได้แก่ 1) มีกฎหมายที่ให้อำนาจ 2) มีวัตถุประสงค์มีความชอบธรรม ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง 3) มีความจำเป็น 4) เหมาะสมพอดี 5) ได้สัดส่วน 6) ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตุลาการ ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด 7) กระบวนการเป็นไปด้วยความชอบธรรม 8) ต้องแจ้งให้ผู้ถูกสอดแนมรับทราบ 9) โปร่งใส-เปิดเผย สาธารณชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 10) มีการตรวจสอบโดยสาธารณะ 11) มีหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของระบบการสื่อสาร ต้องไม่บังคับให้รวบรวมหรือรักษาข้อมูลใดๆ เพื่อการสอดแนมของรัฐ 12) มีหลักประกันสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ 13) มีหลักประกันเพื่อป้องกันการเข้าถึงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ สัณหวรรณมีข้อเสนอแนะว่า สำหรับประเทศไทย ต้องมีการพิจารณากฎหมายที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น เครื่องมือการสอดแนมถูกนำไปใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ คนที่ถูกสอดแนมได้รับการแจ้งหรือไม่ เหยื่อมีช่องทางในการชดเชยเยียวยาไหม ไปจนถึงการตั้งกลไกสาธารณะ (public mechanism) ให้มีการอนุมัติโดยองค์กรที่เป็นกลาง มีการแจ้ง ปรึกษา และรับฟังเสียงจากสาธารณะ รวมถึงออกรายงานชี้แจงผลจากการใช้เครื่องมือสอดแนมประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

o ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กล่าวว่า หลักเกณฑ์ 13 ข้อข้างต้นอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่ในความเป็นจริงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีระบุอยู่แล้วในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น การแจ้งก่อนเข้าตรวจค้นบ้านประชาชน หรือต้องมีหมายค้น อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์จริงเมื่อรัฐเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ก็ส่งผลให้กระบวนการเบื้องหลังไม่ถูกตรวจสอบ

ฐิติรัตน์กล่าวว่า งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าการที่รัฐสอดแนมประชาชนมากเกินไปและถูกเปิดโปงข้อเท็จจริงในภายหลัง ย่อมทำให้คนไม่เชื่อใจรัฐและหน่วยงานราชการ ส่งผลให้รัฐทำงานได้ไม่เต็มที่และเกิดเป็นหายนะของการอยู่ร่วมกันในสังคมในระยะยาว เช่น กรณีการเก็บข้อมูลผ่าน QR Code ไทยชนะ และแอพลิเคชันหมอชนะเพื่อศึกษาการกระจายตัวของโรคระบาด ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูเป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนเกิดความหวาดระแวงและไม่ให้ความร่วมมือมากเท่าที่ควร

ฐิติรัตน์หยิบยกกฎหมายที่กำหนดให้ภาครัฐดูแลข้อมูลส่วนตัวจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ซึ่งบังคับใช้กับหน่วยงานของราชการเกือบทุกแห่ง โดยมาตรา 22-23 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเท่านั้น รวมถึงต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลในบางเรื่องได้ เช่น ข้อมูลเชิงสถิติ และฉบับที่สองคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) ซึ่งอนุญาตให้หน่วยงานรัฐนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ได้ แต่ต้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูลด้วยเช่นกัน ประเทศไทยมีกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ปัญหาคือไม่ถูกนำมาใช้ 

สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ฐิติรัตน์มองว่ารัฐต้องชี้แจงนโยบายในการคุ้มครองข้อมูล หรือกรณีที่รัฐทำการขอข้อมูลจากหน่วยงานเอกชนในลักษณะไม่เป็นทางการ เช่น การยกหูโทรศัพท์ และไม่ใช่เจตนาร้าย ในกรณีนี้ต้องมีกฎหมายออกมากำหนดว่า เอกชนต้องทำการบันทึกคำร้องขอจากภาครัฐ (Government’s request) ให้ชัดเจน หรืออาจกำหนดให้กลายเป็นข้อห้ามทำต่อไปในอนาคต พร้อมทิ้งท้ายประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือสอดแนมว่า การทำสัญญาในรูปแบบดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การกำกับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (privacy) และมาตรฐานความปลอดภัย (security) ต้องทำให้ชัดเจน โปร่งใส รวมทั้งเชื่อมโยงไปถึงองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถเปิดเผยได้ว่า ขายเครื่องมือให้กับใครบ้าง นำไปใช้กับใคร และมีเป้าหมายเพื่ออะไร เป็นต้น 

รับชมการเสวนาย้อนหลัง ที่นี่

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว