จับตาพิจารณา #งบประมาณปี66 3.185 ล้านล้านบาท โค้งสุดท้ายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาหนึ่งในกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566) ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท (สามล้านหนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันล้านล้านบาท) เพิ่มจากปีงบประมาณ 2565 มา 85,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74% 

ความน่าสนใจของการพิจารณา #งบประมาณปี66 นี้ นอกจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐประมาณการรายได้ที่รัฐจะจัดเก็บได้สูงกว่าปีงบประมาณ 2565 แล้ว ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ยังเป็นกฎหมายงบประมาณฉบับสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภาและประกาศใช้แล้ว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ไปจนถึง 30 กันยายน 2566 และถ้าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 กฎหมายดังกล่าวจะมีผลสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้จัดการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

ก่อนติดตามการพิจารณางบประมาณปี 2566 สามวันรวด ชวนดูข้อมูลเบื้องต้นในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 หนึ่งในร่างกฎหมายสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ 

งบกลางห้าแสนล้านบาท คิดเป็น 18.5% ของงบประมาณทั้งหมด

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับปีงบประมาณก่อนๆ หน้า ในปีงบประมาณ 2562 พ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 ตั้งวงเงินรวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ทิศทางวงเงินงบประมาณเริ่มเพิ่มขึ้นในสองปีงบประมาณหลัง โดยในปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3.285 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2565 ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้การประมาณการรายได้คาดว่ารัฐน่าจะจัดเก็บรายได้น้อยลง วงเงินงบประมาณโดยรวมจึงตั้งไว้ลดลงหลักแสนล้านบาท อยู่ที่ 3.1 ล้านบาท ขณะที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ตั้งวงเงินงบประมาณรวมอยู่ที่ 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ที่ 85,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74%

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงบประมาณ ประมาณการรายได้สุทธิในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ราว 695,000 ล้านบาท จึงกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ หรือกล่าวได้อีกอย่างว่า งบประมาณปี 2566 เป็นงบประมาณรายจ่ายขาดดุล คือ รายจ่ายมากกว่ารายได้ 

โดยหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 สูงสุดห้าอันดับ ได้แก่

  1. งบกลาง 590,470 ล้านบาท (18.5% ของงบประมาณทั้งหมด)
  2. กระทรวงศึกษาธิการ 325,900 ล้านบาท (10.2% ของงบประมาณทั้งหมด)
  3. กระทรวงมหาดไทย 325,578 ล้านบาท (10.2% ของงบประมาณทั้งหมด)
  4. กระทรวงการคลัง 285,230 ล้านบาท (9.0% ของงบประมาณทั้งหมด) 
  5. ทุนหมุนเวียน 206,985 ล้านบาท (6.5% ของงบประมาณทั้งหมด)

สำหรับงบกลาง มีความพิเศษกว่างบประมาณอื่นๆ ตามหลักกฎหมายการคลัง “หลักงบประมาณรายจ่ายต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง” กำหนดว่างบประมาณรายจ่ายจะต้องระบุว่าจะไปใช้ทำอะไร วัตถุประสงค์ใด และจัดสรรให้กับหน่วยรับงบประมาณใด เพราะว่างบประมาณรายจ่ายนั้นมาจากเงินภาษีของประชาชน ขณะที่งบกลางมีความพิเศษกว่างบประมาณรายจ่ายอื่นๆ กล่าวคือ ระบุวัตถุประสงค์อย่างกว้างๆ ว่าจะใช้จ่ายเพื่อการใด แต่ไม่ได้ระบุหน่วยรับงบประมาณไว้เฉพาะเจาะจง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้การจัดสรรงบกลาง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการใช้จ่ายงบประมาณมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวินัยการคลัง 

ในปีงบประมาณ 2566 งบกลางถูกจัดสรรไว้ที่ 590,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ที่ 3,060 ล้านบาท คิดเป็น 0.52% โดยรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ได้แก่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพิ่มขึ้นจำนวน 12,190 ล้านบาท เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ เพิ่มขึ้น จำนวน 3,610  ล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มขึ้นจำนวน 3,400 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยายาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,000 ล้านบาท

บางรายการได้รับจัดสรรงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณ 2565 เช่น ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลงจำนวน 13,362 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ลดลงจำนวน 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดวงเงินที่ลดลง อาจเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โควิดแย่ขึ้นอีก หากมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ก็สามารถไปใช้งบจากรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้

งบบุคลากรภาครัฐ 40.4% ของงบทั้งหมด

สำหรับงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ ปีงบประมาณ 2566 ตั้งงบประมาณบุคลากรภาครัฐไว้ที่ 772,119 ล้านบาท งบเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับบุคลากร ปีงบประมาณ 2566 ตั้งไว้ที่ 23,884 ล้านบาท งบกลางเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐรวม 489,470 ล้านบาท คิดรวมกันเป็น 1,285,474 ล้านบาท หากคิดสัดส่วนต่องบประมาณรวม คิดเป็น 40.4% 

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ ซึ่งตั้งไว้จำนวนถึงเกือบครึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ถูกวิพากษ์มาตั้งแต่ปีงบประมาณก่อนว่าเป็น “รัฐราชการเทอะทะ” และมีข้อเรียกร้องให้ลดจำนวนบุคลากรภาครัฐลง อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2566 นี้ วงเงินงบประมาณสำหรับบุคลากรภาครัฐก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยังอยู่ที่ 40% เหมือนในปีงบประมาณ 2565 

งบสำนักงานกกต. 1,707 ล้านบาท

ในปีงบประมาณนี้ งบประมาณสำหรับกกต. ถูกจับตาในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งต้องจัดการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ งบประมาณสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับงบต่ำที่สุดห้าอันดับ กล่าวคือ

  1. สถาบันพระปกเกล้า 216.6 ล้านบาท (0.0068% ของงบประมาณทั้งหมด)
  2. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 216.6 ล้านบาท (0.0068% ของงบประมาณทั้งหมด)
  3. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 323.3 ล้านบาท (0.0102% ของงบประมาณทั้งหมด)
  4. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 361.4 ล้านบาท (0.0113% ของงบประมาณทั้งหมด)
  5. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 1,707.7 ล้านบาท (0.054 ของงบประมาณทั้งหมด)

ทั้งนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณกกต. ที่ในปีงบประมาณ 2566 ไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ และเมื่อเทียบไปถึงตอนเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 กกต. ได้งบประมาณถึง 8,228 ล้านบาท 

ต่อประเด็นนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดคำชี้แจงจากสำนักงบประมาณว่า เนื่องจากงบประมาณของกกต. มีการตั้งไว้ทุกปีเพราะไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ และเคยตั้งงบไปแล้ว 3,000 ล้านบาทเมื่อสองปีก่อน เงินยังไม่ได้ใช้และยังอยู่ที่กกต. จึงไม่ได้ตั้งงบไว้อีกในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566

จุดตัดสำคัญของการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 สามวันรวดนี้ อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรว่าจะรับหลักการกับกฎหมายงบประมาณที่จัดสรรภายใต้รัฐบาลชุดนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี วิปฝ่ายค้านก็วิพากษ์วิจารณ์การตั้งงบประมาณนี้ว่าเป็น “ขอทานจัดงานเลี้ยงวันเกิด” กล่าวคือ ในสภาพที่ประเทศ ต้องกู้เงิน แต่การจัดสรรงบกลับไม่มีช่องทางก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลไม่สามารถเก็บรายได้ได้ตามเป้า

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อร่างกฎหมายงบประมาณที่ครม. เสนอในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องจับตากันต่อไปว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ไปจนถึงวันสุดท้ายของการพิจารณา 2 มิถุนายน 2565