สรุปคำฟ้อง เพิกถอนข้อกำหนดห้ามชุมนุมโดยเครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน นำโดยนิมิตร์ เทียนอุดม ธนพร วิจันทร์ และภรณ์ทิพย์ สยมชัย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่ 2, สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 3, กองบัญชาการกองทัพไทยที่ 4, กระทรวงการคลัง ที่ 5, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 ต่อศาลแพ่ง รัชดาภิเษก เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาดังนี้

  1. เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 เรื่องห้ามชุมนุม
  2. เรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม การเดินทางการแสดงความคิดเห็น อันเป็นผลจากการออกข้อกำหนด ประกาศห้ามชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ จำนวน 1,800,000 บาท
  3. ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางการชุมนุมของโจทก์ทุกรูปแบบ และให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน

พร้อมกันนี้ โจทก์ทั้งสามยังได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งมีคำสั่งระงับการใช้ข้อกำหนด และประกาศ คำสั่งใดที่ห้ามการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐกีดขวางและนำอุปกรณ์สิ่งของ เช่น รั้วลวดหนาม ตู้คอนเทนเนอร์ มากีดขวางปิดกั้นการเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้ เนื่องจากในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565  เครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน จะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องอีกครั้ง

สาเหตุของการมาฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสาม และเครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งหมายในการควบคุมประชาชนที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีข้อห้ามการดำเนินงานอย่างกว้างขวางและไร้ขอบเขต โดยโจทก์ทั้งสามเห็นว่าการมาปักหลักชุมนุมนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมาย 

คำฟ้องมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

เนื่องจากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 ออกประกาศเรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีการระบุ ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการประกาศที่มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไป มิได้มุ่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐสามารถควบคุมได้ และมีมาตรการผ่อนคลายในการรวมตัวรวมกลุ่มของประชาชน และเตรียมการให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังห้ามการชุมนุมซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำหนดห้ามการชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการการแสดงออก ของประชาชนยิ่งกว่าการป้องกันโรคตามกฎหมาย

และเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบ ขัดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ และยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หลายประการ และข้อกำหนดฉบับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการละเมิด จำกัด และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่มีการตรวจสอบดุลพินิจในการใช้อำนาจดังกล่าวทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ซึ่งตามหลักการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการดำเนินการตามหลักนิติรัฐ ธรรมาภิบาล และต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี รัฐจำเป็นต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาที่โจทก์ทั้งสาม รวมถึงประชาชนที่ประสงค์จะใช้เสรีภาพการชุมนุม อันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ พฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลับมีการนำสิ่งของมาปิดกั้นเส้นทางสาธารณะด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ รถยนต์ รถเมล์ ขสมก. ตู้บรรทุกรถไฟ หรือตู้บรรทุกน้ำมัน ลวดหนามหีบเพลง และอุปกรณ์อื่นๆ อันเป็นการใช้สิ่งของที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์และไม่เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานอันส่งผลกระทบต่อโจทก์และประชาชนที่จำเป็นต้องใช้เส้นทาง ไม่สามารถสัญจรหรือเดินทางใช้เส้นทางสาธารณะได้อย่างปกติสุข รวมทั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในขณะที่โจทก์และประชาชนรวมตัวกันเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมในครั้งนี้ในระหว่างการทำกิจกรรมเดินขบวนจากบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็มีการใช้รั้วลวดหนาม แผงเหล็ก ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะหลายเส้นทาง 

การกระทำของเจ้าหน้าที่ล้วนเป็นการจงใจใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นมิให้โจท์ทั้งสามและประชาชนใช้เสรีภาพในการเดินทาง อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงการนำอุปกรณ์สิ่งของมากีดขวางอันมิใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาปิดกั้นการใช้เสรีภาพของโจทก์และประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการปิดกั้นเส้นทางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้อุปกรณ์สิ่งกีดขวางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน แสดงถึงเจตนาที่จะกระทำการจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นในอนาคตตามอำเภอใจ

โจทก์เห็นว่าการออกข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 ฉบับที่ 37 ข้อ 2 ของจำเลยที่ 1 และประกาศฉบับที่ 14 ของจำเลยที่ 2 และความมีอยู่ต่อไปของข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสาม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามที่ต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกส่งผลให้โจทก์ทั้งสาม ไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมใดๆได้อีกอันมีเหตุมาจากความมีอยู่ของข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 ฉบับที่ 37 ข้อ 2 และประกาศฉบับที่ 14 ทั้งที่การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการธำรงไว้ซึ่งระบอบการเมืองและคุณค่าในสังคมประชาธิปไตย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง 

ศาลแพ่ง ไม่คุ้มครองฉุกเฉิน ชี้ ไม่ได้ห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ได้สัดส่วน

ในวันที่ยื่นฟ้อง โจทก์ทั้งสามได้ยื่นขอให้ศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉิน และสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อคุ้มครองให้การชุมนุมเดินต่อไปได้โดยตำรวจไม่อาจอ้างข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องเพื่อสั่งห้ามหรือใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ศาลรับคำฟ้องไว้และไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ในช่วงบ่ายของวันที่ยื่นฟ้อง

27 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. ศาลแพ่งนัดอ่านคำสั่งชั้นขอคุ้มครองชั่วคราว แม้จะเห็นด้วยว่าโจทก์มีเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุม แต่เห็นว่าการคุ้มครองจะไม่ได้สัดส่วน และไม่มีเหตุอันสมควร จึงให้ยกคำร้อง ดังนี้

พิเคราะห์คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำเข้าไต่สวนแล้ว เห็นว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมในนามกลุ่มคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ทำกิจกรรมคัดค้านและเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณา ร่างกฏหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นซึ่งถือเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก หรือจัดกิจกรรมต่างๆได้ตามรัฐธรรมนูญ

แต่การชุมนุมเป็นวิธีการแสดงออกประการหนึ่งในหลายประการที่โจทก์ทั้งสามสามารถกระทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม การที่โจทก์ทั้งสามขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉิน โดยขอให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ฉบับที่ 37 ข้อ 2 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ของจำเลยที่ 1 และประกาศฉบับที่ 14 ของจำเลยที่ 2 โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดฉบับที่ 10 ห้าข้อสามฉบับที่สาม 17 ข้อสองฉบับที่ 14 และห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเจ้าพนักงานภายใต้บังคับบัญชาในสังกัดของจำเลยที่หกนำมาตรการ คำสั่ง หรือการกระทำใดใดตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งสามและประชาชน รวมถึงการห้ามกีดขวางและนำอุปกรณ์สิ่งของที่ไม่ได้กำหนดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องเครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 มากีดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

เห็นว่าข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวนั้น ใช้บังคับโดยทั่วไปต่อพลเมืองในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร หากมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้โดยเฉพาะ เพื่อให้โจทก์ทั้งสามชุมนุมคัดค้านและเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีถอนร่างกฎหมายจากการพิจารณา นอกจากนี้ตามประกาศฉบับที่ 14 ของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด เพียงจะต้องยื่นขออนุญาตดังนี้ เมื่อเปรียบเทียบแล้วยังไม่ได้สัดส่วนกับข้ออ้างในการชุมนุมของโจทก์ทั้งสาม กรณียังไม่มีเหตุฉุกเฉินทั้งไม่มีเหตุสมควรที่แท้จริงที่จะระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวในระหว่างพิจารณา

จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ