เสวนา NPO101 : ภาคประชาชนรับเงินต่างชาติแล้วทำงานอย่างไร

25 พฤษภาคม 2565 ที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก หน้าองค์การสหประชาชาติ เครือข่ายคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ จัดงานเสวนาในหัวข้อภาคประชาชนทำงานอย่างไร ทำไมต้องรับทุนไทย-ต่างชาติ เพื่ออธิบายให้ประชาชนและรัฐบาล เข้าใจมากขึ้นว่า “ทุนต่างประเทศ” ไม่ได้หมายความว่าการบ่อนทำลายชาติหรือการแทรกแซงทางการเมือง

ธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ กล่าวว่า การทำงานของเอ็นจีโอต่างประเทศ ที่ผ่านมาต้องอยู่ในภายใต้ระบบกฎหมายของไทยตลอดอยู่แล้ว เดิมก็ต้องจดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงมหาดไทย เราก็ต้องทำรายงาน รวมทั้งรายงานการเงินส่งให้รัฐ วันดีคืนดีก็มีสันติบาล หรือทหารมาเดินเล่นที่ออฟฟิศ ตามกฎหมายมีระบบที่จะตรวจสอบการทำงานอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเคยมีคนมาขอทราบบัญชีโซเชี่ยลมีเดียวของเจ้าหน้าที่ในออฟฟิศทั้งหมด เพราะเขาอยากรู้ว่าเราจะเคลื่อนไหวอะไร

ธารา เล่าถึงประสบการณ์ที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมระดบโลกว่า ในอินเดียและอินโดนีเซีย กรีนพีซก็ถูกไล่ออกจากประเทศมาแล้ว เพราะเราทำงานที่จะสนับสนุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ก็ไปขัดขวางกลุ่มผลประโยชน์ไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ก็จะถูกวาทะกรรมว่ารับเงินต่างชาติโจมตีเสมอมาทุกประเทศ ทั้งที่บทบาทของเราต้องติดตามสอดส่อง ทำตัวเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยดูว่ามีสารพิษจากประเทศใหญ่ๆ มาทิ้งในชุมชุนหรือเปล่า ในช่วงรัฐบาล คสช. เราช่วยให้ประยุทธ์พ้น “ใบเหลือง” จากอียูด้วยซ้ำไป แต่ในที่สุดแล้ววาทะกรรมรับเงินต่างชาติ ก็เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกโปรแกรมเข้าไปในหัวของสังคมไทย แล้วก็ถูกเอามาป้ายสี รวมถึงกลุ่มชุมชนที่ลุกขึ้นปกป้องทรัพยากรของตัวเองด้วย สมัยหนึ่งสมัชชาคนจนประท้วงคัดค้านเขื่อนปากมูล หรือชาวบ้านที่ต่อต้านการสร้างท่อก๊าซไทยมาเลเซีย ที่สงขลา ก็ถูกป้ายสีไปด้วย

ธารา กล่าวถึงประเด็นที่วิษณุ เครืองาม พูดว่าจะต้องมีกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มเพื่อควบคุมการทำงานของเอ็นจีโอที่รับเงินจากต่างประเทศว่า การมีร่างกฎหมายนี้เหมือนกับมีความพยายามจะปิดประเทศ เหมือนจะทำให้เราเป็นเกาหลีเหนือหรือประเทศจีน เป็นตรรกะของพวกไดโนเสาร์ พวกโคตรจารีตนิยม เป็นความคิดที่ถูกสร้างขึ้นและถูกบ่มเพาะอยู่ในสังคม ทำให้มีภาพจำเกี่ยวกับเอ็นจีโอว่า เป็นองค์กรที่ไม่เป็นที่ต้องการ ชอบไปขัดขวางโครงการต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ทั้งที่ในการทำงานของรัฐบาลเมื่อต้องไปกู้มาก็เป็นเงินต่างชาติทั้งนั้น เงินที่ไหลเข้าไหลออกในประเทศต่างก็มีความสำคัญในยุคสมัยที่โลกติดต่อถึงกันหมด แล้วก็มีผู้เล่นอีกหลายคนในสังคมที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งสมาคม องค์กรอุตสาหกรรม องค์กรที่ทำงานด้านวิชาการ รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต่างก็้ทำงานโดยมีเงินไหลเวียนจากต่างประเทศเข้าออกทั้งนนั้น

ธารากล่าวด้วยว่า วันนี้เรานั่งคุยกันอยู่ข้างตึกอาคารสหประชาชาติ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ ตึกนี้ก็ต้องช่วงชิงกันในภูมิภาคว่าจะตั้งอยู่ประเทศไหน ธนาคารโลกตั้งอยู่ฟิลิปปินส์ สำนักงานของอาเซียนตั้งอยู่ที่อินโดนีเซีย รัฐบาลทุกยุคสมัย รวมถึงยุคนี้อยากได้ตึกเหล่านี้มาตั้งอยู่ และอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของงานระหว่างประเทศ ซึ่งงสวนทางตรงข้ามกับการมีร่างกฎหมายนี้ที่ออกมาควบคุมเงินทุนต่างประเทศ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เล่าว่า ตอนนี้ตั้งบริษัท ชื่อว่าร็อคเก็ตมีเดียแล็บ ร่วมกับเพื่อนๆ ที่ทำงานด้านสื่อ เพราะเราอยากทำงานข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน ทำสื่อในประเด็นที่ไม่ร้อนแรงขณะนั้น ศึกษาและทำข้อมูลเชิงลึก ถ้าเราไปทำงานในโครงสร้างสื่อแบบธุรกิจปกติจะต้องเสียแรงไปกับการทำข่าวประเด็นร้อน เราจึงตั้งบริษัทขึ้นมาเอง และเขียนโครงการขอทุนเพื่อทำในแนวทางที่เราอยากทำ

ในช่วงตั้งต้นของการทำงาน เรายังมีคนมาจ้างให้ทำงานข้อมูลเชิงลึกไม่มากเพราะสื่อจำนวนมากยังไม่เห็นความสำคัญ ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องหาทุนมาทำงานก่อน เพื่อสร้างแนวทางการทำงานให้สังคมเห็นความสำคัญมากขึ้น แหล่งทุนเหล่านี้มีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย แหล่งทุนต่างประเทศก็คือ National Endowment for Democracy (NED) จากสหรัฐอเมริกา เป็นองค์ที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน ก็สนับสนุนให้องค์กรของเราตั้งไข่ได้ในช่วงสองปีแรก ขณะเดียวกันก็คิดหาอยู่ตลอดเวลาว่าจะอยู่อย่างไรโดยไม่ต้องใช้ NED ตลอดไป

ถ้าเรารอให้แหล่งทุนในประเทศพร้อม หรือให้ตลาดมันโตพอจนมีคนจ้างทำงานข้อมูล ให้พอมีเงินเดือนเลี้ยงเจ้าหน้าที่ได้ เราอาจจะต้องรออีกห้าปีหรือมากกว่าคนอื่นถึงจะพร้อม แต่เราไม่อาจรอเพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำแล้วตอนนี้ เราก็เลยเริ่มทำตอนนี้โดยใช้เงินจาก NED

การรับเงินจากกองทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร อย่างเช่น ตอนตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิร็อกเก็ต เฟลเลอร์ จากสหรัฐอเมริกา ก็เสนอเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางวิชาการมา ทางรัฐบาลของเยอรมนี อยากสนับสนุนการผลิตช่างเทคนิคจึงสนับสนุนตั้งโรงเรียน และก็พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ​ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่น เคยอยากสนับสนุนเรื่องการพัฒนาโทรคมนาคม และก็พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลายสิ่งหลายอย่างที่เราอยากทำมีคนที่คิดเห็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น คนที่อยากร่วมสร้างสังคมให้ดีขึ้นมีอยู่ทั่วโลก ถ้าเขามีเงินสนับสนุนและอยากสนับสนุนเราก็เป็นเรื่องปกติ รัฐบาลไทยก็รับเงินทุนจากต่างชาติเช่นเดียวกัน

จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เล่าว่า เธอโตมากับองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกิดและจัดตั้งในไทยมา 30 ปี สมัยที่เริ่มทำงานใหม่ๆ คนไม่รู้ว่าเอ็นจีโอคืออะไร ทำอะไร พอไม่รู้ว่าทำอะไรก็มีความคิดหรือวาทกรรมที่บอกว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ ข้อหาแรกๆที่โดนคือขัดขวางการพัฒนาประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นเอ็นจีโอเป็นเหมือนต้นกำเกิดขององค์กรนักศึกษาโดยเฉพาะในช่วงนักศึกษาเดือนตุลา ทำให้เอ็นจีโอกับประชาธิปไตย มันสอดรับกัน คนหนุ่มสาวให้ความสนใจมีทั้งมาช่วย มาทำงานอาสา

จีรนุชบอกว่า เอ็นจีโอมีความหลากหลายในทางอุดมการณ์ แต่ไม่มีใครที่มีความคิดขายชาติ เป็นจินตนาการหรือโฆษณาชวนเชื่อที่ตั้งใจทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรพัฒนาเอกชน ในฐานะที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับรัฐ เป็นเหมือนการดิสเครดิต อีกอย่าง คือ ระยะหลังเอ็นจีโอไม่ได้มีแค่องค์กรพัฒนาเอกชนแต่มันมีภาคประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้าน ชุมชนเผชิญกับการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวเรา จากที่เป็นเกษตรกร ทำเกษตรกรรมอยู่ดีๆ แต่ถูกย่ำยีจึงลุกขึ้นมารักษาบ้าน รักษาสิทธิ ของตัวเอง แต่กลับถูกตราหน้าว่า รับเงินต่างชาติมาขายชาติ เหมือนสมัชชาคนจนโดนเมื่อ 30 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม จีรนุชเล่าว่า กฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ มากพอที่จะกำกับหรือควบคุมเราอยู่แล้ว สมัยที่เคยทำมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พูดเรื่องสิทธิการเข้าถึงยา เป็นครั้งแรกที่เอาเครือข่ายผู้ติดเชื้อมารวมกัน สังคมตื่นตัวมาก พอเรามาทำประชาไท  ตั้งใจให้เป็นสื่ออิสระ ไม่อยู่ภายใต้ทุนและรัฐ สมัยนั้นเสรีภาพสื่อตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทุนและรัฐ ประชาไทจึงเกิดขึ้นโดยเฉพาะสมัยวิกฤตประชาธิปไตยคนลุกขึ้น แสดงออก ตั้งคำถาม นี่คืองานประชาไท สิ่งที่ประชาไทโดน คือ คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

แม้ตอนนี้ยังไม่มีพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ แต่กฎหมายเท่าที่มีมันสามารถควบคุม กำกับได้ เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนมูลนิธิ มันยากกว่าจดบริษัทมาก เฉลี่ยใช้เวลารอหนึ่งปี บางองค์กรต้องรอสองสามปี นานจนล้มเลิกความตั้งใจ หลังจากนั้นก็ยังมีข้อกำหนดระเบียบให้ ต้องรายงานการเงิน รายงานการดำเนินงานต่อรัฐ แต่สิ่งนี้เห็นว่าเราต้องเปิดเผย ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนมีความเป็นองค์กรสาธารณะอยู่ ก็ควรเปิดเผย เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนเป็นสัมพันธภาพระหว่างประชาชนด้วย

สุลักษณ์ หลำอุบล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งหลังรัฐประหารปี 57 เพียงแค่สองวัน ดรายังทำงานมาต่อเนื่องเพราะมีเยาวชนมากมายถูกดำเนินคดี เราถูกรัฐมองว่าอยู่ตรงข้ามเพราะเราให้ความช่วยเหลือเยาวชน ประชาชนที่ออกมาชุมนุม ฃศูนย์ทนายฯ ถูกคุกคามมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีคนไปร้องเรียนให้ตรวจสอบศูนย์ทนายฯ เนื่องจากให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีโดยไม่เสียเงิน เราถูกมองว่ายุยงส่งเสริมการกระทำผิด แต่เรายืนยันว่าเราทำงานเพื่อประกันสิทธิให้ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงทนายความฟรี ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี

สุลักษณ์เล่าว่า ศูนย์ทนายฯ รับเงินจากแหล่งทุนใหญ่ๆแบ่งเป็น  มูลนิธิต่างประเทศ, สถานทูตต่างๆ ที่เห็นคุณค่าในการทำงานเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรสิทธิที่อยู่ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ เธอเล่าว่า ช่วงปลายปี 2564 มีเจ้าหน้าที่สรรพากรบุกเข้ามาในสำนักงาน ไม่แจ้งล่วงหน้าเข้ามาบอกว่า มีคนร้องเรียนให้มาตรวจสอบ พร้อมขอเอกสารการเงินทั้งหมดย้อนหลังสองปี เราพูดได้เลยว่าเป็นการตั้งใจคุกคาม ทำงานมา 8 ปีเราไม่เคยเห็นการเข้ามาตรวจสอบแบบนี้มาก่อน ความที่เป็นมูลนิธิ เราต้องส่งรายงานดำเนินการ รายงานการเงิน ให้รัฐ ทั้งสรรพากร สำนักงานเขต และแหล่งทุนอยู่แล้ว ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ เป็นภาระ เพราะแหล่งทุนก็ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่แล้ว

สุลักษณ์เล่าว่า มีมายาคติว่าเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติแล้วต้องรับงานเค้าด้วย ขอตอบว่าเวลาเราขอทุน เราจะดูจุดประสงค์ขององค์กรเราว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม แล้วดูว่าแหล่งทุนแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ตรงกับเรามั้ย ถ้าตรงก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่ แหล่งทุนไม่เคยเข้ามาสั่ง แต่มีการกำกับเพื่อดูว่างานที่เราทำตรงกับเงื่อนไขของการรับทุนมาหรือไม่ รับเงินมาแล้วทำตามเป้าหมายหรือเปล่า แต่ไม่ถึงขั้นเข้ามาบอกว่าให้ทำนั่นทำนี่ เป็นการเชื่อมความต้องการระหว่างแหล่งทุนกับองค์กร