8 ปี คสช. วางเครือข่ายนักการเมืองแต่งตั้งคุมประเทศ

 วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คือ วันครบรอบแปดปีรัฐประหารโดย คสช. แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนรูปร่างสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่เนื้อในยังคงเป็นระบบเผด็จการซ่อนรูป เพราะตัวผู้นำ คสช. ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังคงถืออำนาจในการปกครองประเทศไทยอยู่ รวมทั้งเครือข่ายที่ถูก คสช.แต่งตั้ง ตั้งแต่เมื่อแปดปีที่แล้วก็ยังคงมีบทบาทในการค้ำจุนอำนาจกระจายกันไปตามองค์กรต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายนักการเมืองจากการแต่งตั้ง

รัฐประหาร 49 ก่อร่างสร้างเครือข่ายนักแต่งตั้ง

 การเกิดขึ้นของเครือข่ายนักการเมืองแต่งตั้ง ต้องย้อนไปก่อนการรัฐประหารปี 2557 เพราะจุดเริ่มต้นของนักการเมืองแต่งตั้งในยุคใหม่ เกิดขึ้นมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ล้มรัฐธรรมนูญ 2540 หลังจากนั้นได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนร่างรัฐธรรมนูญ2550 และยังคงให้มี ส.ว.แต่งตั้ง สืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป

 รัฐประหาร 2557 ขยายเครือข่ายนักลากตั้ง

การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยังคงขยายบทบาทเครือข่ายนักการเมืองแต่งตั้งต่อไปอีก โดยยังคงให้มีการแต่งตั้ง สนช.เหมือนการรัฐประหารปี 2549 แต่เพิ่มสภาปฏิรูปเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธ์ศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน โดยสามหน่วยงานหลังยังคงมีบทบาทอยู่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ขณะที่ สนช. และสภาปฏิรูปชุดต่างๆ ถูกแปรสภาพไปเป็น ส.ว. จากการแต่งตั้ง โดยตลอดแปดปีที่ผ่านมีนักการเมืองแต่งตั้งนั่งอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

คณะรัฐมนตรี

เข้าสู่ปีที่แปดของการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน นับว่า ครม.ประยุทธ์มีหน้าตาที่เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากมีพรรคการเมืองเข้ามาร่วมแบ่งปันอำนาจอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีรัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาล คสช. ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นรัฐมนตรีคู่ใจของพลเอกประยุทธ์ที่ไม่สามารถปลดออกจาก ครม. ได้จำนวนหกคน ประกอบด้วย

  • พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  • วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
  • พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
  • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 ส.ว.แต่งตั้ง

หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้จัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นบังคับใช้หนึ่งฉบับ โดยวางกลไกทางอำนาจไว้ห้าส่วน หรือ ที่เรียกกันว่าแม่น้ำห้าสาย ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่ต่อมามีการตั้งชุดใหม่ขึ้นมาแทนเรียกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ตลอด 8 ปี หลังการรัฐประหาร บรรดาสมาชิกของกลุ่มแม่น้ำห้าสาย อย่างน้อย 156 คน ยังคงมีอำนาจและบทบาททางการเมืองต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 สมาชิกกลุ่มแม่น้ำห้าสายได้กลายมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คสช. เป็นทั้งผู้สรรหาและผู้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยสามารถแบ่ง ส.ว.แต่งตั้ง ที่เคยเป็นสมาชิกหรืออยู่ในเครือข่ายอำนาจของคสช. ได้ ดังนี้

  • ส.ว.แต่งตั้ง ที่เป็นอดีตสมาชิกคสช. มีอย่างน้อย 14 คน อย่างเช่น  พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร , พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หรือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
  • ส.ว.แต่งตั้ง ที่เป็นอดีตสมาชิก ครม. มีอย่างน้อย 17 คน อย่างเช่น  พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย,  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง
  • ส.ว.แต่งตั้ง ที่เป็นอดีตสมาชิกสนช. มีอย่างน้อย 83 อย่างเช่น พรเพชร วิชิตชลชัย, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, สมชาย แสวงการ หรือ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
  • ส.ว.แต่งตั้ง ที่เป็นอดีตสมาชิกสปช./สปท. มีอย่างน้อย 44 คน อย่างเช่น วันชัย สอนศิริ, เสรี สุวรรณภานนท์หรือ ธวัชชัย สมุทรสาคร
  • ส.ว.แต่งตั้ง ที่เป็นอดีตสมาชิกกมธ. มีอย่างน้อย 5 คน อย่างเช่น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือ คำนูณ สิทธิสมาน

หมายเหตุ: ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

สำหรับผลงานที่สำคัญของ ส.ว.แต่งตั้ง ชุดดังกล่าว คือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 250 คนก็ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในปี2562 อีกทั้ง ส.ว.ชุดนี้ยังมีภารกิจสำคัญ คือ การ “ขวาง” ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องอำนาจและที่มาของตัวเอง โดยเคยลงมติขวางข้อเสนอนี้แล้วอย่างน้อยสามครั้ง นอกจากนี้ ส.ว. ยังเล่นบทบาทสำคัญ คือ การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ

“คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ” คือหน่วยงานใหม่ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร คณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทสำคัญที่สุด ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นสิ่งกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาล หรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูป

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีจำนวน 35 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 18 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยในยุค คสช. ได้แต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 คน เช่น เทียนฉาย กีระนันทน์, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลเดช ปิ่นประทีป, วิษณุ เครืองาม, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และอุตตม สาวนายน

ซึ่งรายชื่อที่กล่าวมา มีทั้งรัฐมนตรีคู่ใจของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งอดีตรัฐมนตรี และอดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ คสช.แต่งตั้ง

อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาหกชุด เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจสอดส่องหน่วยงานของรัฐที่ไม่ยอมดําเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยสามารถส่งเรื่องให้ ส.ส. หรือ ส.ว. มีมติส่งเรื่องต่อให้ป.ป.ช. ดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ขณะที่หากการดำเนินการของ ครม. ขัดยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ส.ส. และ ส.ว.สามารถเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

 ทั้งนี้มีผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกชุดจำนวน 80 คน ดังนี้

  •  คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง จำนวน 15 คน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 13 คน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 14 คน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 12 คน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 11 คน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 15 คน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เป็นหนึ่งในกลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ เพื่อวางกรอบว่าประเทศจะต้องมีการปฏิรูปในด้านใด อีกทั้งในมาตรา 259 ยังระบุให้ตรากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นการดำเนินการปฏิรูปประเทศขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดทำแผนและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ต่อมาหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แผนและขั้นการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ขึ้นมา 

จากรายชื่อของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พบว่า เป็นอดีตสมาชิกสปช. สปท. อยู่อย่างน้อย 46 คน โดยบุคคลที่อาจเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ได้แก่ วันชัย สอนศิริ, เสรี สุวรรณภานนท์ หรือ ธวัชชัย สมุทรสาคร คำนูน สิทธิสมาน ซึ่งนอกจากจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป ยังมีตำแหน่งอื่นๆ อีกด้วย เช่น ส.ว.แต่งตั้ง 

ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่มีความก้าวหน้ามากนัก อันจะเห็นได้จากรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญของเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปี2563 ที่ระบุความคืบหน้าการปฏิรูปเป็นการจัดทำหนังสั้นเรื่อง “ฝุ่น หรือ หยดน้ำ” ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หรือ ในรายงานความคืบหน้าของเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 ที่มีแผนงานจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่พอเมื่อมีประชาชนเสนอร่างกฎหมายในชื่อเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ใช้อำนาจไม่รับรองกฎหมายเพื่อปัดตกกฎหมายดังกล่าว