ย้อนดูงบ กทม. ยุคผู้ว่าฯ และ ส.ก.แต่งตั้งจัดสรรงบยังไง?

ในการบริหารตั้งแต่ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปจนถึงการบริหารระดับประเทศ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “งบประมาณ” คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นหรือรัฐให้ไปข้างหน้า สวัสดิการ หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐาน ก็จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินงบประมาณมาขับเคลื่อนเพื่อให้สวัสดิการหรือโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง

ในระดับประเทศ เราจะเห็นบทบาทของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ อันเป็นกฎหมายที่ระบุว่ารัฐวางแผนจะ “ใช้จ่าย” เงินงบประมาณอย่างไรบ้างในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายพิจารณา ขณะที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็มีกระบวนการเสนอและพิจารณางบประมาณที่คล้ายๆ กับงบประมาณแผ่นดิน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อให้สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นผู้พิจารณา

อย่างไรก็ดี กระบวนการการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาไม่ได้มาจากผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เนื่องจากกรุงเทพมหานครถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แช่แข็งด้วย ออกประกาศให้ ส.ก.มาจาการแต่งตั้ง อีกทั้งยังปลดผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ ซึ่งทั้งคู่กลับมีอำนาจในการเสนอรวมถึงมีอำนาจพิจารณางบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร แทนผู้แทนจากการเลือกตั้ง

ก่อนจะเข้าคูหาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565  ใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้ว่าฯ และส.ก. ชุดใหม่มาพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานครในปีงบประมาณถัดไป ชวนย้อนดูการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานครห้าปีงบประมาณที่เกิดจากการจัดสรรงบของผู้ว่าฯ และส.ก. ที่ประชาชนไม่ได้เลือก

5 ปีงบประมาณ ผู้ว่าฯ-ส.ก. แต่งตั้ง จัดสรรงบรายจ่ายกว่าสี่แสนล้านบาท

เมื่อรัฐหรืออปท. มีรายได้ หากจะบริหารประเทศ บริหารท้องถิ่น จัดทำโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะ หรือสานต่อตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ก็จำเป็นที่จะต้อง “วางแผน” ในการใช้จ่ายงบประมาณจากรายได้ที่มี หรือกรณีที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่วางแผนไว้ ก็อาจจะจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อรายจ่าย

ในระดับประเทศ การวางแผนใช้จ่ายเงินต้องทำเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งครม.ในฐานะฝ่ายบริหาร จะต้องเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ในกฎหมายงบประมาณโดยจะระบุว่าหน่วยงานใดได้รับงบประมาณเท่าไหร่ และจะใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อะไร สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นอปท.รูปแบบพิเศษ ก็ต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณเช่นกัน โดยผู้ว่าฯ จะต้องเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ให้ส.ก. พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายว่าจะกำหนดให้หน่วยงานใดได้รับงบเท่าไหร่ และใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ซึ่งการนับปีงบประมาณทั้งของประเทศและของกรุงเทพมหานครนั้น ไม่ได้เริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม เหมือนการนับปีตามปฏิทินสากล แต่เริ่มต้นปีงบประมาณเมื่อ 1 ตุลาคม ของปีพ.ศ.ก่อนปีพ.ศ.ที่ระบุในกฎหมาย และไปสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายน ของปีพ.ศ.ที่ระบุในกฎหมาย ตัวอย่างเช่น งบประมาณปี 2565 เริ่มเมื่อ 1 ตุลาคม 2564 และสิ้นสุดลงวันที่ 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ การออกกฎหมายหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องออกเพียงฉบับเดียวเท่านั้น หากสถานะการเงินการคลังหรือสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถออกข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ ซึ่งล่าสุดในปีงบประมาณ 2565 ก่อนที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ทิ้งทวนเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งส.ก.มีมติเห็นชอบเมื่อ 30 มีนาคม 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อ 6 พฤษภาคม 2565

หากพิจารณาในมิติปีงบประมาณ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 ซึ่งขณะนั้นกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณปี 2560 ไปแล้ว เท่ากับว่า ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง จะมีบทบาทในการเสนองบประมาณให้ส.ก.ที่มาจากการแต่งตั้งพิจารณาในปีงบประมาณ 2561 ถ้านับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีงบประมาณ 2565 ที่ล้วนผ่านมือทั้งผู้ว่าฯ และส.ก.แต่งตั้ง มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับกรุงเทพมหานครผ่านข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 412,439,125,397 บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นสองพันสี่ร้อยสามสิบเก้าล้านหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันสามร้อยเก้าสิบเจ็ดบาท) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานครทั้งหมด (รวมงบเพิ่มเติม) 79,047 80,445 86,108 79,540 87,297
งบประมาณกรุงเทพมหานครแต่ละด้าน : สัดส่วนงบประมาณแต่ละด้านต่องบประมาณรายจ่ายรวมประจำปีงบประมาณ
1. งบประมาณเกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพมหานคร และการจัดทำบริการของสำนักงานเขต
25,877 32.74% 27,737 34.48% 25,984 30.18% 24,430 30.71% 23,332 26.73%

2. งบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม

 

15,934 20.16% 15,774 19.61% 17,537 20.37% 13,679 17.20% 12,884 14.76%

3. งบประมาณในการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

13,029 16.48% 12,978 16.13% 13,886 16.13% 13,784 17.33% 12,593 14.43%

4. งบประมาณด้านการจัดการน้ำ

5,936 7.51% 6,281 7.81% 9,585 11.13% 8,012 10.07% 10,403 11.92%

5. งบประมาณด้านสาธารณสุข

 

6,086 7.7% 6,490 8.07% 7,048 8.19% 7,147 8.99%  6,937 7.95%

6. งบประมาณด้านการศึกษา

5,077 6.42% 4,529 5.63% 4,918 5.71% 4,990 6.27% 4,196 4.81%

7. งบประมาณด้านศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว และการพัฒนาสังคม

3,270 4.14% 3,165  3.93% 3,340 3.88% 3,499 4.4% 3,034 3.48%

8. งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม

2,554 3.23% 2,596 3.23% 2,720 3.16% 2,710 3.41% 2,659 3.05%
9. งบประมาณด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
547  0.69% 445 0.55% 398 0.46% 951 1.2%  875 1%

10. งบประมาณด้านการบรรเทาสาธารณภัย

733 0.93% 445 0.55% 424 0.49% 382 0.48% 270 0.31%

งบบริหารหนา จัดสรรงบกลางบุคลากร 6,000-7,000 ล้านบาท

จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า เมื่อแบ่งงบประมาณกรุงเทพมหานครออกเป็นด้านต่างๆ ทั้ง 10 ด้าน งบประมาณส่วนใหญ่จะไปกระจุกอยู่ที่งบประมาณเกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพมหานคร และการจัดทำบริการของสำนักงานเขต รองลงมาคืองบประมาณในการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และงบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม

สำหรับงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพมหานคร และการจัดทำบริการของสำนักงานเขตนั้น โดยภาพรวมแล้วงบประมาณกลุ่มนี้ถูกจัดสรรเพื่องานบริหารหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร หรือพูดง่ายๆ คือเป็นงบประมาณสำหรับงานสนับสนุนที่ทำให้ระบบสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ งบในกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล และค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตในด้านงานทะเบียนและงานปกครอง ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน

เมื่อพิจารณาเจาะลงไปที่งบประมาณเกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพมหานคร และการจัดทำบริการของสำนักงานเขต พบว่างบประมาณจำนวนมากที่เป็นงบประมาณเกี่ยวกับบุคลากรหรือทรัพยากรบุคคล อยู่ที่หกถึงเจ็ดพันล้านบาทในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งถูกตั้งไว้ในงบกลาง กล่าวคือ ไม่ได้เจาะจงตัวหน่วยรับงบประมาณไว้เป็นการเฉพาะ แต่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าใช้เพื่ออะไร โดยงบประมาณเกี่ยวกับบุคลากรที่ถูกตั้งไว้ในงบกลาง มีดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
เงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้าง 3,168 3,168 2,700 2,700 3,220
เงินบำเหน็จลูกจ้าง 672 685 650 1,035 1,154
เงินสํารองสําหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร 340 320 300 320 50
เงินช่วยค่าครองชีพผู้ได้รับบำนาญของกรุงเทพมหานคร 279 216 218 220 223
เงินสํารองสําหรับจ่ายเป็นเงินบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร 1,906 2,200 2,353 2,765 2,627
รวม 6,365 6,589 6,221 7,032 7,274

งบจัดการความสะอาด-ความเป็นระเบียบเรียบร้อย แตะหมื่นล้านทุกปี

เมื่อเทียบงบประมาณด้านต่างๆ แล้ว งบประมาณในการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็เป็นหนึ่งในงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเป็นจำนวนสูงลำดับต้นๆ โดยภาพรวมอยู่ที่หนึ่งหมื่นสองถึงหนึ่งหมื่นสามล้านบาทต่อปีงบประมาณ

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณในการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,029 12,978 13,886 13,784 12,593

โดยภาพรวมงบประมาณในกลุ่มนี้ ก้อนใหญ่ถูกจัดสรรเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย ทั้งในการเก็บขนขยะและการกำจัด ซึ่งงานบางส่วนนั้นกรุงเทพมหานครได้ตั้งงบประมาณให้สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จัดทำโครงการจ้างเหมาเอกชนในการจัดการขยะมูลฝอย ขณะที่งบประมาณในงานรักษาความสะอาดอีกส่วนก็ยังคงจัดสรรให้กับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต หากสรุปง่ายๆ งานรักษาความสะอาดหรือการเก็บขยะที่เป็นงานขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก็ยังคงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ขณะที่งานขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างการจัดการขยะจำนวนมาก การจำกัดสิ่งปฏิกูล กรุงเทพมหานครจะจัดสรรงบให้สำนักสิ่งแวดล้อมเพื่อให้จ้างเหมาเอกชนแทน

นอกจากงบประมาณด้านนี้จะถูกจัดสรรไปกับการจัดการขยะแล้ว ยังถูกจัดสรรเพื่อใช้ในงานจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานครด้านอื่นๆ เช่น การตรวจปฏิบัติการของสำนักเทศกิจและเทศกิจของสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง

งบผังเมือง โยธา จราจร แตะหมื่นกว่าล้านบาท

สำหรับงบที่ถูกจัดสรรไว้จำนวนสูงรองจากงบเกี่ยวกับการบริหารและงบประมาณในการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยคือ งบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม โดยงบประมาณในกลุ่มนี้ ถูกจัดสรรให้กับสำนักงานเขตสำหรับงานโยธา และจัดสรรเพื่อใช้กับงานด้านผังเมือง งานโยธา โครงการก่อสร้างต่างๆ การปรับปรุงภูมิทัศน์ของสถานที่ต่างๆ การปรับปรุงถนน โครงการนำสายสื่อสารลงดินตามเขตต่างๆ งานจราจร โครงการจัดหาหรือปรับปรุงกล้องวงจรปิด (CCCTV) ซึ่งโครงการต่างๆ นั้นไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวทุกปีงบประมาณ บางโครงการอาจจะมีความต่อเนื่องหลายปีงบประมาณ บางโครงการอาจมีแค่ปีงบประมาณเดียวเท่านั้น 

งบประมาณกลุ่มนี้มักเป็นงบลงทุน ซึ่งแตกต่างจากงบเกี่ยวกับการบริหารที่หนักไปทางรายจ่ายประจำ แม้งบประมาณกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณรวมของกรุงเทพมหานครในแต่ละปีงบประมาณ แต่เมื่อพิจารณาแต่ละปีงบประมาณ พบว่า แนวโน้มของงบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม มีทิศทางลดลงในสองปีงบประมาณล่าสุด

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม 15,934 15,774 17,537 13,679 12,884

โครงการที่น่าสนใจในกลุ่มงบประมาณด้านผังเมือง โยธา จราจร และคมนาคม เช่น

  • โครงการให้บริการนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งทางรางโดยรถเวียน (Shuttle bus) เส้นทางชุมชนเคหะร่มเกล้า-ARL ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 13 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบประมาณไว้สองล้านบาท
  • โครงการให้บริการนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งทางรางโดยรถเวียน (Shuttle bus) เส้นทางดินแดง-BTS สนามเป้า ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 14 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบประมาณไว้สองล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามแนวเส้นทางสัมปทาน ในปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 205 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 110 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 50 ล้านบาท

นอกจากโครงการข้างต้นแล้ว จากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และเอกสารงบประมาณปี 2564 ยังพบการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับเขตพระราชฐาน 901 แลนด์ (นางเลิ้ง) โดยในปีงบประมาณ 2563 มีการเพิ่มเติมโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดินและการก่อสร้างถังเก็บน้ำดิบใต้ดิน พื้นที่เขตพระราชฐาน 901 แลนด์ ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 388 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีโครงการโครงการจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เขตพระราชฐาน 901 แลนด์ (นางเลิ้ง) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตั้งงบประมาณไว้รวม 29 ล้านบาท 

งบประมาณด้านการจัดการน้ำปี 65 แตะหมื่นล้านบาท

“น้ำขังรอการระบาย” เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครทุกช่วงฤดูฝน ซึ่งกรุงเทพมหานครเองก็จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการปัญหาน้ำ ทั้งการจัดการปัญหาในเชิงคุณภาพ อย่างการบำบัดน้ำเสียง รวมไปถึงการจัดการเชิงปริมาณ อย่างการระบายน้ำ พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม

โดยงบประมาณด้านการจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านการจัดการน้ำ 5,936 6,281 9,585 8,012 10,403

ในภาพรวม สำนักการระบายน้ำ เป็นองค์กรรับผิดชอบหลักในเรื่องการจัดการน้ำ และได้รับจัดสรรงบประมาณในทุกปีงบประมาณ เพื่อจัดทำโครงการหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ ตัวอย่างเช่น

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 1,105 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิติ ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 93 ล้านบาท 
  • โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหลุมไผ่ตอนคลองลาดพร้าว ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 81.7 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา บริเวณคอขวด ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 11 ล้านบาท 

นอกจากสำนักการระบายน้ำแล้ว กรุงเทพมหานครก็จัดสรรงบประมาณในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำให้แก่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตอีกด้วย และยังมีการตั้งงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายทั่วไป กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับน้ำท่วมอยู่ทุกปี ในปีงบประมาณ 2561 ตั้งงบไว้ที่ 300 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบไว้ที่ 600 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบไว้ที่ 100 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ที่ 125 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 100 ล้านบาท

งบประมาณด้านสาธารณสุข 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านสาธารณสุข กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณไว้ปีหกถึงเจ็ดพันล้านบาทต่อปี ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านสาธารณสุข 6,086 6,490 7,048 7,147 6,937

ในวงเงินดังกล่าว งบประมาณส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่เก้าแห่ง ได้แก่

  1. โรงพยาบาลกลาง
  2. โรงพยาบาลตากสิน
  3. โรงพยาบาลเจริญกรุง
  4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
  5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
  6. โรงพยาบาลลาดกระบัง
  7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  8. โรงพยาบาลสิรินธร
  9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

นอกจากงบประมาณที่จัดสรรเพื่อโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักการแพทย์ งบประมาณส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนที่น้อยกว่า ถูกจัดสรรให้กับสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งเพื่อดำเนินงานด้านอนามัย และจัดสรรให้กับสำนักอนามัยเพื่อดำเนินโครงการหรืองานด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น

  • งานควบคุมป้องกันวัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2561 และ 2562 ตั้งงบประมาณไว้ปีละ 30 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 28 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 27.9 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 22 ล้านบาท
  • งานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ปีงบประมาณ 2561 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 72 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 74 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 103 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 90 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 (ไม่รวมงบประมาณป้องกันวัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ตั้งงบประมาณไว้ที่ 67 ล้านบาท
  • งานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด-สารเสพติด ปีงบประมาณ 2561 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 57 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 70 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 63 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 58 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 47 ล้านบาท
  • งบประมาณเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งจัดสรรให้สำนักอนามัย ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 122.5 ล้านบาท

งบประมาณด้านการศึกษา 4,000-5,000 ล้านบาท

งบประมาณด้านการศึกษา โดยหลักแล้วกรุงเทพมหานครจะจัดสรรให้กับสำนักการศึกษาและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต โดยงบประมาณบางส่วนถูกจัดสรรเพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนและโรงเรียนรวมไปถึงพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา อย่างไรก็ดี บางส่วนก็เป็นงบลงทุนซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของโครงการก่อสร้างอาคารเรียนหรือบ้านพักอาศัย ตัวอย่างเช่น

  • โครงการก่อสร้างอาคารเรียน 5 ชั้น โรงเรียนวัดศรีบุญเรือง สำนักงานเขตบางกะปิ ปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 27.7 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอาคารเรียน 5 ชั้น โรงเรียนมีนบุรี สำนักงานเขตมีนบุรี ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 24.6 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัย 4 ชั้นโรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ สำนักงานเขตคลองสามวา ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 8.6 ล้านบาท

โดยงบประมาณด้านการศึกษาทั้งห้าปีงบประมาณ รวมแล้วมีจำนวนดังตารางข้างใต้

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านการศึกษา 5,077 4,529 4,918 4,990 4,196

งบประมาณด้านศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว และการพัฒนาสังคม

งบประมาณด้านศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว และการพัฒนาสังคมโดยรวมนั้น ถูกจัดสรรไว้ในแต่ละปีงบประมาณอยู่ที่หลัก 3,000 ล้านบาทต่อปีงบประมาณ หรือคิดเป็นราว 3-4% ของงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานครทั้งหมดในแต่ละปีงบประมาณ 

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว และการพัฒนาสังคม   3,270 3,165 3,340 3,499 3,034

สำหรับงบประมาณด้านการพัฒนาชุมชน การส่งเสริมอาชีพ  โดยหลักแล้วจะถูกจัดสรรให้กับสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ขณะที่งบประมาณด้านศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว จะจัดสรรให้กับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เพื่อดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ ซึ่งบางโครงการก็ถูกจัดสรรงบประมาณไว้แค่ปีงบประมาณเดียว บางโครงการก็ถูกจัดสรรงบประมาณไว้หลายปีงบประมาณ ตัวอย่างเช่น

  • งานศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้รับจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องหลายปีงบประมาณ ปีงบประมาณ 2561 ตั้งงบไว้ที่ 62 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบไว้ที่ 71.9 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบไว้ที่ 75 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ที่ 71.9 ล้านบาท
  • งานห้องสมุดประชาชน ปีงบประมาณ 2561 ตั้งงบไว้ที่ 199 ล้านบาท
  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบไว้ที่ 1 ล้านบาท 

งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม จัดสรรไว้ราว 3% ของงบทั้งหมด

สำหรับงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมงบประมาณด้านนี้ไม่ได้จัดสรรไว้สูงนักเมื่อเทียบกับงบประมาณโดยรวมกรุงเทพมหานคร อยู่ราว 3% ของงบประมาณกรุงเทพมหานครเท่านั้น 

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 2,554 2,596 2,720 2,710 2,659

การจัดการปลูกหรือบำรุงต้นไม้ การจัดการพื้นที่สีเขียว หลักๆ แล้วจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณในการจัดการพื้นที่สีเขียวให้สำนักงานเขต 50 แห่งรวมกันอยู่ที่ 1,133 ล้านบาท ขณะที่งานอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานโครงการใหญ่ จะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณ สำนักสิ่งแวดล้อมก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละโครงการที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • โครงการก่อสร้างสวนจากภูผาสู่มหานทีในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบไว้ที่ 9 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ที่ 1 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร ปีงบประมาณ 2562 ตั้งงบไว้ที่ 4 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบไว้ที่ 30 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ที่ 35 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียนชายทะเล) ปีงบประมาณ 2563 ตั้งงบไว้ที่ 5 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบไว้ที่ 92.6 ล้านบาท

งบประมาณด้านการบรรเทาสาธารณภัย จัดสรรไว้ปีละหลักร้อยล้านบาท

สำหรับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยหลักแล้วงบประมาณจะถูกจัดสรรให้แก่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในแต่ละปีงบประมาณ ตั้งงบไว้ที่ ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งบประมาณด้านการบรรเทาสาธารณภัย 733 445 424 382 270

จากตารางข้างบนจะเห็นได้ว่างบประมาณด้านการบรรเทาสาธารณภัยมีแนวโน้มลดลงทุกปี อย่างไรก็ดี หากเกิดภัยสาธารณะขึ้นและงบประมาณที่จัดสรรไว้หลักร้อยล้านบาทต่อปีงบประมาณนั้นไม่เพียงพอ ก็ยังมีงบกลาง รายการ เงินสํารองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ที่ไม่ว่าหน่วยงานใดก็สามารถขอรับจัดสรรได้ (ในบทความนี้ งบกลางรายการดังกล่าวถูกคำนวณไปกับงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพมหานคร และการจัดทำบริการประชาชนของสำนักงานเขต) ซึ่งงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ปีงบประมาณ 2561 ตั้งไว้ที่ 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 ตั้งไว้ที่ 600 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 100 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งไว้ที่ 115 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ที่ 500 ล้านบาท

งบประมาณด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร

นอกจากงบประมาณด้านอื่นๆ อีกเก้าด้าน ในแต่ละปีงบประมาณ กรุงเทพมหานครยังจัดสรรเงินจำนวนหลักร้อยล้านบาท เป็นงบประมาณด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำหรับรายจ่ายในงานบริหารการธนานุบาล งานบริหารการตลาด และงานบริหารการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งแต่ละปีงบประมาณ มีการตั้งงบไว้ ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 2562 2563 2564 2565
งานบริหารการธนานุบาล 352 268 225 247 232
งานบริหารการตลาด 190 171 167 698 624
งานบริหารการพัฒนาที่อยู่อาศัย 4.8 5 5 6 6
โครงการพัฒนาระบบบริหารการรับจํานํา และระบบงานต่างๆ ของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร 11
โครงการจ้างบริการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุสัญญาณเตือนภัย 1
รวม
547 445 398 951 875

ที่มาข้อมูล

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563   

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563  

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564   

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2565 

เอกสารงบประมาณ 2561 http://office.bangkok.go.th/budd/main/upload/2017/10/03/A20171003162014.pdf

เอกสารงบประมาณ 2562 http://office.bangkok.go.th/budd/main/upload/2018/10/02/A20181002093202.pd

เอกสารงบประมาณ 2563 http://office.bangkok.go.th/budd/main/upload/2020/03/11/A20200311104253.pdf

เอกสารงบประมาณ 2564 http://203.155.220.238/budd/main/upload/2563/10/topic2787_2020_10_06_10_09_51.pdf

เอกสารงบประมาณ 2565 http://office.bangkok.go.th/budd/main/upload/2564/10/65003.pdf

                                     http://office.bangkok.go.th/budd/main/upload/2564/10/65005.pdf