ส.ว. ชุดพิเศษทำงานครบ 3 ปี ได้เงินไปกว่า 2,000 ล้าน ผ่านกฎหมายแล้ว 35 ฉบับ

14 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่เผยแพร่ประกาศอย่างเป็นทางการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. จำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดนี้มีที่มาจากสามทาง หนึ่ง จากผู้นำเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน สอง จากการให้สมัครเป็น ส.ว. และจัดกลุ่มแบ่งตามอาชีพ ก่อนจัดให้เลือกกันเองจนเหลือ 200 คน แล้วให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 คน สาม จากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น คัดเลือกรายชื่อมา 400 คน แล้วให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน  หรือเรียกได้ว่า เป็น ส.ว. ชุดพิเศษซึ่งมีที่มาจากกระบวนการคัดเลือกของ คสช. 100%

แม้ ส.ว. ชุดนี้จะมีที่มาเป็นที่กังขา แต่ก็มีอำนาจมากมาย ยิ่งใหญ่กว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจสำคัญ คือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 250 คนก็ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 และยังมีอำนาจ “ขวาง” ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องอำนาจและที่มาของตัวเอง โดยเคยลงมติขวางข้อเสนอนี้แล้วอย่างน้อยสามครั้ง นอกจากนี้ ส.ว. ยังเล่นบทบาทสำคัญ คือ การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ที่ลงมติเห็นชอบกันเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563 

บทบาทฝ่ายนิติบัญญัติ 3 ปี ผ่านกฎหมายไป 35 ฉบับ ตีกลับอย่างน้อย 4 ฉบับ

บทบาทสำคัญของ ส.ว. ในฐานะผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือ การพิจารณาออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องร่างทุกฉบับที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาเสร็จแล้วจะต้องส่งมาให้ ส.ว. เป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อความละเอียดรอบคอบ โดยวัตถุประสงค์ที่การออกกฎหมายต้องผ่านทั้งสองสภาก็เพื่อหวังใช้อำนาจของ ส.ว. ซึ่งมีที่มาแตกต่างจาก ส.ส. ตรวจสอบถ่วงดุล ส.ส. ที่มาจากระบบเลือกตั้งของพรรคการเมืองไม่ให้ลุแก่อำนาจ หรือเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก 

งานด้านการออกกฎหมายของ ส.ว. มีไม่มากนัก ร่างกฎหมายฉบับแรกที่มาถึงมือ ส.ว. พร้อมกัน คือ ร่างพ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ซึ่งผ่าน ส.ส. ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ซึ่ง ส.ว. ใช้เวลาเพียงแปดวันก็ยกมือผ่านเรียบร้อย  หลังจากนั้นร่างกฎหมายฉบับต่อไป ที่ส.ว. ต้องพิจารณาก็คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งกว่าจะส่งถึงมือ ส.ว. ก็วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 และฉบับต่อไป คือ ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ที่ส่งถึงมือ ส.ว. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 

ถ้าไม่นับร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์สองฉบับแรก และร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับงบประมาณสองฉบับต่อมา ร่างกฎหมายที่ส่งถึงมือเพื่อให้ ส.ว. พิจารณาเป็นฉบับแรก ก็คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งส่งถึงมือ ส.ว. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563  เท่ากับว่าในช่วงหนึ่งปีแรก ส.ว. แทบไม่ได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมายเลย

ในช่วงสามปีในอายุของ ส.ว.ชุดนี้ ส.ส. ส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็สนับสนุนการสืบทอดอำนาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรืออาจกล่าวได้ว่า อยู่ขั้วอำนาจทางการเมืองฝั่งเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยเห็นการถ่วงดุลอำนาจในการออกกฎหมายของ ส.ส. ด้วยการยับยั้งร่างกฎหมาย แต่ ส.ว. ยังใช้กลไกขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของ ส.ส. เป็นครั้งคราว ซึ่งมีอย่างน้อย 4 ฉบับ  ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ….  ,ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ…, ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ… และ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ…

อย่างไรก็ดี การตีกลับร่างกฎหมายของ ส.ส. เพราะ ส.ว. ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ ส.ส. ให้ความเห็นชอบบางครั้ง ได้นำไปสู่คำถามถึงความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่ ส.ว. ขอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 25 ที่ห้ามขายใบกระท่อมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ขายทางออนไลน์ ซึ่งจากการแก้ไขดังกล่าว ทำให้บรรดา ส.ส. รุมอภิปรายว่า เป็นความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ และส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ รวมถึงทำให้เสียเวลา และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือ เมื่อ สภาผู้แทนฯ มีมติไม่เห็นชอบกับการแก้ไขของ ส.ว. ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาเพื่อปรับแก้ไขอีกครั้ง และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ และทำให้การออกกฎหมายล่าช้าออกไป ทั้งที่ กฎหมายดังกล่าวต้องออกมาควบคู่กับการแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกกระท่อมออกจากยาเสพติดเมื่อปี 2564

การผ่านกฎหมายได้น้อยของ ส.ว. อาจไม่ได้มาจากความเกียจคร้านโดยตรงของ ส.ว. เอง แต่เนื่องจากในช่วงแรกที่ ส.ว. เริ่มเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส. ก็เพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน จึงยังไม่มีร่างพระราชบัญญัติที่ ส.ส. พิจารณาเสร็จแล้วส่งมายัง ส.ว. ทำให้ ส.ว. ค่อนข้างจะ “ว่าง” จากงานด้านนิติบัญญัติ จนกระทั่งทำงานมาครบสามปีจากข้อมูลบนเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 พบว่า ส.ว. พิจารณาผ่านกฎหมายไปได้แล้ว 35 ฉบับ ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 25 ฉบับ อีก 10 ฉบับยังอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ รอวันประกาศใช้ มีร่างกฎหมายที่ ส.ว. นำมาพิจารณาและผ่านวาระแรก แล้วอีก 8 ฉบับ และอีก 29 ฉบับอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระเพื่อพิจารณา

เงินเดือนคนแสนกว่า ผู้ช่วยแปดคน รวมใช้งบกว่าสองพันล้าน

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เผยแพร่หนังสือคู่มือชื่อ “สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ” ฉบับที่ตีพิมพ์เดือนเมษายน 2562 ก่อนการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดปัจจุบันพอดี กำหนดค่าตอบแทนในการนั่งอยู่ในตำแหน่งของ ส.ว. และกำหนดค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว. ไว้ดังนี้

1.เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว.

ส.ว. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่ม เดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาสองคน จะได้เงินมากกว่าอยู่บ้าง ประธานวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 74,420 บาท และได้รับเงินเพิ่ม เดือนละ 45,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท ส่วนรองประธานวุฒิสภาได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท

2.ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว

ส.ว. แต่ละคนจะสามารถแต่งตั้งคนช่วยทำงานได้ สามตำแหน่ง รวมแล้วแปดคน ดังนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ว. คนละ 1 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ว. คนละ 2 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
  • ผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. คนละ 5 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท

3.ข้าราชการฝ่ายการเมือง ของวุฒิสภา

ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน 57,660 บาท อัตราเงินประจำตำแนห่ง 15,000 บาท

ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือน อัตราเงินเดือน 57,660 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท

ที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา เท่ากับจำนวนรองประธานวุฒิสภา คือ 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน 47,250 บาท อัตราเงินประจำตำแนห่ง 10,000 บาท

โฆษกประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือน 47,250 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท

เลขานุการประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือน 44,310 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,9000 บาท

เลขานุการรองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือน 44,310 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท

เลขานุการรองประธานวุฒิสภา เท่ากับจำนวนรองประธานวุฒิสภา คือ 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน 44,310 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท

ผู้ช่วยเลขานุการประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือน 31,710 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 3,780 บาท

ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือน 31,710 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 3,780 บาท

ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานวุฒิสภา เท่ากับจำนวนรองประธานวุฒิสภา คือ 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน 31,710 บาท อัตราเงินประจำตำแหน่ง 3,780 บาท

4.คณะทำงานทางการเมือง

ประธานวุฒิสภาเสนอชื่อคณะทำงานทางการเมืองได้ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 5 อัตรา นักวิชาการ 4 อัตรา และเลขานุการ 3 อัตรา

รองประธานวุฒิสภา (มีสองคน) เสนอชื่อคณะทำงานทางการเมืองได้ ประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 อัตรา นักวิชาการ 4 อัตรา และเลขานุการ 2 อัตรา

รวมแล้วคณะทำงานทางการเมือง มีที่ปรึกษา 13 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท นักวิชาการ 12 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 18,000 บาท เลขานุการ 7 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดค่าตอบแทนสำหรับที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ เดือนละ 10,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ เดือนละ 9,000 บาท นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการเดือนละ 8,000 บาท และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ เดือนละ 6,000 บาท โดยคณะกรรมาธิการสามัญซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 27 คณะ อาจแต่งตั้งตำแหน่งเหล่านี้บางตำแหน่ง หรือทุกตำแหน่งก็ได้ หรือไม่แต่งตั้งเพิ่มก็ได้ โดยพิจารณาค่าตอบแทนรวมต้องไม่เกินงบประมาณที่กำหนดไว้

เมื่อนับรวมเงินเดือนและค่าตอบแทนของ ส.ว. และตำแหน่งต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว. ยังไม่นับข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ต้องทำงานให้กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตลอดสามปีในอายุของ ส.ว. ชุดนี้ จะมาสามารคำนวนได้ดังนี้

1. เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว.

ส.ว. มี 250 คน แบ่งเป็นประธานวุฒิสภา 1 คน รองประธานวุฒิสภา 2 คน และสมาชิกวุฒิสภา อีก 247 คน ซึ่งแต่ละคนมีอัตราค่าตอบแทนที่แต่งต่างกัน ดังนั้น การคำนวณยอดค่าตอบแทนของ ส.ว. ในระยะสามปี จึงสามารถจำแนกได้ ดังนี้

  • ค่าตอบแทน ประธานวุฒิสภาได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเดือนละ 119,920 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 119,920 (บาท) x 36 (เดือน) = 4,317,120 บาท 
  • ค่าตอบแทน รองประธานวุฒิสภา (สองคน) ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเดือนละ 115,740 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 115,740 x 36 x 2 = 8,333,280 บาท
  • ค่าตอบแทน ส.ว. (247 คน) ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่ม เดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 113,560 x 36 x 247 = 1,009,775,520 บาท

2. ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว

  • ส.ว. ตั้งผู้เชี่ยวชาญได้คนละ 1 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 24,000 x 36 x 250 = 216,000,000 บาท
  • ส.ว. ตั้งผู้ชำนาญการได้คนละ 2 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 15,000 x 36 x 250 x 2 = 270,000,000 บาท
  • ส.ว. ตั้งผู้ช่วยดำเนินงานได้คนะล 5 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 15,000 x 36 x 250 x 5 = 675,000,000 บาท

3. ข้าราชการฝ่ายการเมือง

  • ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 72,660 บาท  รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 72,660 x 36 x 2 = 5,231,520 บาท
  • ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 72,660 บาท  รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 72,660 x 36 = 2,615,760 บาท
  • ที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 57,250 บาท  รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 57,250 x 36 x 2 = 4,122,000 บาท
  • โฆษกประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 57,250 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 57,250 x 36 = 2,061,000 บาท
  • เลขานุการประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 49,210 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 49,210 x 36 = 1,771,560 บาท
  • เลขานุการรองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 49,210 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 49,210 x 36 = 1,771,560 บาท
  • เลขานุการรองประธานวุฒิสภา เท่ากับจำนวนรองประธานวุฒิสภา คือ 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 49,210 บาท  รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 49,210 x 36 x 2 = 3,543,120 บาท
  • ผู้ช่วยเลขานุการประธานวุฒิสภา อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 35,490 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 35,490 x 36 = 1,277,640 บาท
  • ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานวุฒิสภา) อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ35,490 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 35,490 x 36 = 1,277,640 บาท
  • ผู้ช่วยเลขานุการรองประธานวุฒิสภา เท่ากับจำนวนรองประธานวุฒิสภา คือ 2 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 35,490 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 35,490 x 36 x 2 = 2,555,280 บาท

4. คณะทำงานทางการเมือง

  • ที่ปรึกษา 13 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 20,000 x 36 x 13 = 9,360,000 บาท
  • นักวิชาการ 12 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 18,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 18,000 x 36 x 12 = 7,776,000 บาท
  • เลขานุการ 7 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท รวมสามปีคิดเป็นเงินทั้งหมด 15,000 x 36 x 7 = 3,780,000 บาท

รวมจำนวนเงินงบประมาณในช่วงเวลาสามปีที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน ส.ว. และตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ส.ว. ทั้งหมด 2,230,569,000 บาท

ถ้านับว่าในช่วงเวลาทำงานสามปี ส.ว. สามารถพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติได้ 35 ฉบับ เท่ากับค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับ ส.ว. เพื่อทำงานด้านการพิจารณากฎหมายตกอยู่ที่ ฉบับละ 63,730,542 บาท

เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม สวัสดิการอีกเพียบ

นอกจากค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนสำหรับ ส.ว.และผู้สนับสนุนการทำงานของ ส.ว. แล้ว ยังมี “รายรับ” อื่นๆ ที่ ส.ว. อาจได้รับจากการทำงาน แบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้

เบี้ยประชุม

ส.ว. แต่ละคนจะต้องไปทำงานในคณะกรรมาธิการตามประเด็นที่ตัวเองถนัด ซึ่งมีทั้งคณะกรรมาธิการสามัญ (ตั้งแบบถาวรเพื่อ ทำงานระยะยาว) และคณะกรรมาธิการวิสามัญ (ตั้งขึ้นมาพิจารณาเฉพาะเรื่อง เช่น พิจารณาร่างพ.ร.บ.แต่ละฉบับ เมื่อเสร็จภารกิจก็เลิกไป) รวมทั้งอาจมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อประชุมร่วมกับ ส.ส. หรือตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาลงรายละเอียดเฉพาะประเด็น ซึ่งการเข้าประชุมคณะกรรมาธิการทุกประเภทจะได้รับเบี้ยประชุมอีกครั้งละ 1,500 บาท สำหรับการประชุมอนุกรรมาธิการได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท

ประธานวุฒิสภา ยังอาจตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อปฏิบัติงานในบางเรื่อง สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ประธานได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 2,000 บาท รองประธานได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,800 บาท กรรมการได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,600 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,600 บาท ที่ปรึกษาคณะกรรมการได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 2,000 บาท

เบี้ยเลี้ยง

สำหรับ ส.ว. ที่เดินทางไปทำงานในราชอาณาจักร ได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มอัตราวันละ 270 บาท กรณีเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 3,100 บาทต่อคน หรือถ้าไม่ได้เบิกแบบเหมาจ่ายสามารถเบิกค่าอาหารและเครื่องดื่มได้วันละ 4,500 บาทต่อคน ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า วันละ 500 บาทต่อคน ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ดอีกวันละ 500 บาทต่อคน และยังมีค่าเครื่องแต่งตัวในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ คนละ 9,000 บาท

สวัสดิการ

ส.ว. มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง เบิกได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงโดยไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ เช่น กรณีเป็นผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 4,000 บาทต่อวัน ค่าแพทย์ผ่าตัดไม่เกินครั้งละ 120,000 บาท ค่าตรวจสุขภาพประจำปีไม่เกิน 7,000 บาท มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา มีการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ การจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ ในระบบต่างหากจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการทั่วไป การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีถึงแก่กรรมไม่เกิน 100,000 บาท การจ่ายเงินให้การศึกษาบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 ตั้งแต่ป.1 ถึงปริญญาตรี