ย้อนความจำ 12 ปี กรุงเทพฯ ภายใต้ประชาธิปัตย์ กปปส. และ คสช.

การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนเมืองหลวง หลังจากไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นของตนเองเป็นเวลากว่า 9 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2556 ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2553 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

 แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของการตัดสิทธิเลือกตั้งของคนกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหลังจากนั้นเครือข่าย คสช. ก็เริ่มดำเนินการเข้าแทรกแซงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งนี้ ทั้งงานบริหารและงานนิติบัญญัติเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ

ก่อนรัฐประหาร 57 ประชาธิปัตย์ครองใจชาว กทม.

ก่อนการรัฐประหารในปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์ครองใจชาวกรุงเทพมหานคร ข้อมูลจาก WeVis แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งหลังสุด คือตั้งแต่ปี 2547 ผู้สมัครจาก “พรรคประชาธิปัตย์” ล้วนได้ผลคะแนนเสียงรวมทั้งกรุงเทพมหานครเป็นอันดับที่หนึ่งมาตลอด รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ก. ที่กวาดที่นั่งในสภากรุงเทพมหานครมากกว่าคู่แข่งทุกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้ง ส.ก. เมื่อ 12 ปีที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ครองเสียงข้างมากในสภา ชนะการเลือกตั้ง 45 ที่นั่ง จากทั้งหมด 61 ที่นั่ง ขณะที่ 9 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ก็ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,256,349 เสียง

3 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กับสายสัมพันธ์พรรคประชาธิปัตย์

แม้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปี 2565 พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแชมป์เก่าจะส่ง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงชิงชัย แต่เมื่อมองไปที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ในขั้วการเมืองเดียวกันจะพบว่ามีผู้สมัครอีกสองคนที่ (เคย) มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ชนะเลือกตั้งในปี 2556 ตามคำเชิญของแกนนำพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ด้วย รายงานข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.อ.อัศวินกับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลาดังกล่าวว่า

“…ปี พ.ศ. 2553 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พยายามจะผลักดันให้เป็นที่ปรึกษา สบ.10 ในยศพลตำรวจเอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดขึ้นใหม่ … หากยังจำกันได้ในห้วงนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ที่ไม่ลงตัว เพราะไม่สามารถผลักดันให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ตัวจริงได้ จึงหวังให้บิ๊กวินที่ขณะนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.บายพาสในตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 เพื่อให้สามารถนั่งเก้าอี้สูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

อีกหนึ่งคนคือ สกลธี ภัททิยกุล ลูกชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตแกนนำคณะรัฐประหารปี 2549 ที่หลังจากคณะรัฐประหารเปิดให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2550 สกลธี เปิดตัวทางการเมืองครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จนสามารถชนะเลือกตั้งในครั้งนั้นได้ และเป็นครั้งเดียวที่สกลธีชนะเลือกตั้ง ส.ส.

“ชัตดาวน์ กรุงเทพ” ปูทางรัฐประหาร ตัดสินเลือกตั้งคนกรุงเทพฯ

เดือนมกราคม 2557 เกิดปฏิบัติการ “ชัตดาวน์ กรุงเทพ” โดยกลุ่ม กปปส. ปฏิบัติการครั้งนั้นกล่าวขานว่าเป็นการปูทางเพื่อให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยมีแกนนำคนสำคัญคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ และบรรดาอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถาวร เสนเนียม กับ สกลธี ภัททิยกุล ซึ่งปัจจุบัน สกลธี คือหนึ่งในแคนดิเดตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และเป็นคนที่ สุเทพ ออกตัวสนับสนุนอย่างเต็มที่

ขณะที่ถาวร ถูกวางตัวให้เป็นทีมงานวางแผนยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างถาวรกับอัศวิน เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยถาวรเป็นแกนนำ กปปส. ปิดกรุงเทพฯ และอัศวินยังเป็นรองผู้ว่าฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยถาวรกล่าวเหตุผลในการสนับสนุนอัศวินเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ว่า 

“พล.ต.อ.อัศวิน เป็นนักปฏิบัติที่ทำงานเห็นผล และจับต้องได้ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับพี่น้อง กปปส. และมวลมหาประชาชนอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องของการสู้รบกันข้างถนนในวันนั้น

ทั้งนี้ ในขณะนั้น พล.ต.อ.อัศวิน อยู่ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เราได้รับจากรองผู้ว่าฯ อัศวิน และเลขาฯ ของท่านในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ กปปส. แต่อยู่เบื้องหลัง”

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอัศวินกับ กปปส. ยังอธิบายผ่านคำกล่าวของ ทินกร ปลอดภัย อดีตผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่อัศวินแต่งตั้งด้วยตัวเอง ว่า

“ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนได้พูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายที่เคยเป็นแนวร่วมกปปส. และมีความคิดเห็นสอดคล้องกันคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องการคนดี มีความสามารถ และต้องการลดความขัดแย้งการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ครั้งนั้นก็ถูกอัศวินปฏิเสธว่า “ไม่รู้จักม็อบ กปปส.มาก่อน” พร้อมกล่าวด้วยว่า สมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ชุมนุมเสื้อสีไหนก็ตามก็พร้อมดูแลทั้งหมด ขออย่าพยายามยึดโยง

รัฐประหารจุดเริ่มต้น ผู้ว่าฯ และ ส.ก. แต่งตั้ง

แม้รัฐประหารปี 2557 จะล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งทันที แต่การบริหารกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินงานภายใต้ผู้บริหารชุดเดิมจากพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในปี 2559 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งปลดผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการแต่งตั้งครั้งแรกในรอบ 31 ปี

ขณะที่งานนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานครก็ถูกพล.อ.ประยุทธ์ ออกประกาศงดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 และแต่งตั้งข้าราชการและอดีตข้าราชการระดับสูงเข้ามาทำหน้าที่ ส.ก. แทนจำนวน 30 คน ส.ก.แต่งตั้งเหล่านี้มีที่มาจาก อาชีพทหาร ตำรวจ อัยการ คณบดี กรรมการกฤษฎีกา ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดย ส.ก.แต่งตั้งเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนกันอย่างครบถ้วน ใครที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ก็ได้รับเงินสองทางด้วย

เป็นเวลายาวนานที่สุดในรอบสามทศวรรษที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งนี้ถูกลดทอนความพิเศษ กลายเป็นแค่หน่วยหนึ่งของรัฐบาลทหาร โดยคนเมืองหลวงใช้ระยะเวลาเกือบ 8 ปีกับ ส.ก.แต่งตั้ง และระยะเวลาเกือบ 6 ปีกับ ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง

เลือกตั้งกรุงเทพฯ เลือกตั้งเพื่อหยุดสืบทอดอำนาจ คสช.

ที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้ทรัพยากรของคนกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองและรักษาอำนาจให้กับตัวเอง เช่น การแต่งตั้ง สกลธี ภัททิยกุล เป็นรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในปี 2561 เพื่อเข้ามาดูแลการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งขณะนั้น สกลธีเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองหลักที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็เป็นผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งที่ดูแลเมืองหลวงยาวนานกว่าผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเสียอีก

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตรงกันวันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารของ คสช. แน่นอนว่ากรุงเทพมหานครในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของมรดกที่ คสช. ได้สร้างเอาไว้ และเครือข่ายของ คสช. ก็ยังต้องการจะใช้สนามเลือกตั้งเพื่อชุบตัวสร้างความชอบธรรมในการยึดกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้จะได้ดีจากการแต่งตั้ง และไม่ได้สนใจและให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม