นโยบาย “เสรีกัญชา” คืบหน้าไปแค่ไหน?

4-5@2x-100

ทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปี จะเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ที่สนใจในเรื่องกัญชาว่า มันคือ “วันกัญชา” วันที่ผู้คนจะใช้วันออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกกัญชาออกจากข้อครหาเดิมๆ ว่า มันเป็น “ยาเสพติด” แต่แท้จริง คือ พืชสมุนไพร ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในวงการการแพทย์และสาธารณสุข ไปจนถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย ความเคลื่อนไหวในการปลดแอกกัญชาออกจากยาเสพติดนั้นมีมาอย่างเนิ่นนาน และกัญชาก็ถูกนำมาใช้ตามวิถีชุมชนอยู่เสมอๆ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ เริ่มต้นในปี 2562 หลังการประกาศใช้พระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 18 กุมพาภันธ์ 2562 โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ ‘การปลดล็อค’ ให้นำกัญชาใช้สำหรับการแพทย์ การรักษา การศึกษาวิจัย หรือ การพาณิชย์ได้ แต่ยังคงเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อยู่ ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก ซื้อขาย รวมถึงการใช้ในชีวิตประจำวัน ต้องอยู่ภายใต้กำกับของรัฐ และเต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ทำให้บุคคลทั่วไปหรือครัวเรือนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างเต็มที่ อาทิ กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเพาะปลูกกัญชา ต้องรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและทำเรื่องขออนุญาตในการปลูกก่อน

ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 สาธารณสุขออกประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 โดยระบุว่า ให้ “กัญชา” (Cannabis) พืชในสกุล Cannabis วัตถุหรือสารที่อยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้น

  • เปลือก ลำต้น และใบกัญชา ยกเว้น ส่วนที่มีช่อดอก ไม่ถือเป็นยาเสพติด
  • สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด

ต่อมาทางรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาแทน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด และต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยมีใจความว่า

  • กัญชาทุกส่วน ไม่ถือเป็นยาเสพติด
  • สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด
  • มีผลบังคับใช้หลังเผยแพร่ประกาศ 120 วัน (มีผลบังคับใช้ 9 มิ.ย. 65)

อย่างไรก็ดี การประกาศใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่เปิดทางให้บุคคลทั่วไป และครัวเรือนสามารถเข้าใช้ประโยชน์จากกัญชาได้โดยง่าย และไม่มีความชัดเจน ด้วยเหตุนี้ทางพรรคภูมิใจไทย จึงเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ให้สภาพิจารณา แต่ร่างกฎหมายยังอยู่ระหว่างรอพิจารณาในสภา

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา คือ

  • การปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนต้องขอจดแจ้งก่อน และใช้เพื่อรักษาสุขภาพ
  • การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ จำหน่ายกัญชา (ต้องได้รับใบอนุญาต)
  • ห้ามขายกัญชาเพื่อการบริโภค แก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร เว้นแต่แพทย์อนุญาต

แม้ว่า ตัวร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา จะมีหลักการที่ดี แต่ปัญหาคือ อายุของสภาผู้แทนราษฎรกลับเหลือไม่ถึง 1 ปี หากสภาไม่สามารถพิจารณากฎหมายให้จบทันในปี 2565 โอกาสที่ครัวเรือนจะเข้าถึงหรือได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาโดยไม่ต้องหวาดระแวงข้อกฎหมายก็จะริบหรี่ลง