ทางแพร่งสู่เก้าอี้พ่อเมือง ทำไมต้องเป็นผู้ว่าฯ “อิสระ” หรือ “สังกัดพรรคการเมือง”?

เริ่มต้นนับหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”  “นายกเมืองพัทยา” และ สมาชิกสภาของทั้งกรุงเทพมหานคร และพัทยา อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อมีการรับสมัครและจับหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครแต่ละคนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565

การเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสองแห่งของประเทศไทยถูกจับตามองมากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการวัดกระแสความนิยมของแต่ละพรรคการเมืองในระดับชาติด้วย

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ว่า กทม. ผู้สมัครซึ่งเป็นตัวเต็งจำนวนหนึ่งไม่ได้สังกัดพรรคเมืองใหญ่เหมือนเช่นในอดีต และยังประกาศลงในนามอิสระ ในขณะที่พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคก็ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคร 

คำถามสำคัญคือ “ผู้ว่าฯ อิสระ” หรือ “ผู้ว่าฯ จากพรรคการเมือง” มีนัยยะต่างกันอย่างไร? (รวมถึงนายกเมืองพัทยา และสภาชิกสภาท้องถิ่นของทั้งสองแห่งด้วย)

ทำไมการสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง?

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความแตกต่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ เนื่องจาก พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ไม่ได้บังคับว่าผู้สมัครการเมืองท้องถิ่นจะต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ระบุชัดเจนว่า ผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ห้ามให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงการเมืองท้องถิ่น แต่ก็กำหนดข้อห้ามว่า ผู้ที่ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น หากมีตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ณ ปัจจุบัน จะไม่มีสิทธิลงสมัครได้ เว้นแต่ได้ลาออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล ที่ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. เพื่อมาสมัครผู้ว่าฯ กทม.

ลง “อิสระ” กับ “กลุ่มอิสระ” คืออะไร?

ในการเลือกตั้ง กทม. และ พัทยา ครั้งนี้จะเห็นได้ว่า มีผู้มีชื่อเสียงหลายคนตัดสินใจลงในนาม “อิสระ” หรือในนาม “กลุ่มอิสระ” ที่ไม่ขึ้นตรงกับพรรคการเมือง

สำหรับ “ผู้สมัครอิสระ” หมายถึง ผู้สมัครที่ลงสมัครเพียงคนเดียวไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีทีมสมาชิกสภา หรือ ไม่มีหัวหน้าทีมลงสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หรือ นายกฯ พัทยา หาเสียงชูตัวเองคนเดียว มีเพียงทีมงานช่วยหาเสียงเท่านั้น ในกรณีของเลือกตั้ง กทม. เช่น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รสนา โตสิตระกูล และ สกลธี ภัททิยกุล ที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ

ส่วน “กลุ่มอิสระ” หมายถึง ผู้สมัครที่ลงสมัครเป็นทีม อาจจะส่งทีมผู้สมัครทั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เช่น ทีมเรารักษ์กรุงเทพฯ ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ลงชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และมีทีม ส.ก. ครบทุกเขต หรืออาจจะส่งผู้สมัครแค่ ส.ก. เพียงอย่างเดียวแต่ส่งมากกว่าหนึ่งขึ้นไปก็ได้

ทั้งนี้ กลุ่มอิสระเป็นเพียงการรวมตัวกันหลวม ๆ เท่านั้น ไม่มีผลในทางกฎหมาย เป็นเพียงการแสดงพลังของกลุ่มก้อนทางการเมืองในท้องถิ่นที่มีแนวทางทำงานเดียวกัน อาจจะมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ชัดเจนคือ คณะก้าวหน้าที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งพัทยา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล

ทำไมถึงต้องลงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคการเมือง?

แม้ว่าการเลือกตั้ง กทม. และพัทยา จะไม่ได้กำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองหลายพรรคส่งตัวแทนเข้าชิงชัย เช่น พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยสร้างไทย ที่ส่งทั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้ง ส.ก. ครบทุกเขต และพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคกล้า ที่ส่งเพียงผู้สมัคร ส.ก. เท่านั้น

สำหรับเหตุผลที่ต้องส่งผู้สมัครในนามพรรคอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ เหตุผลแรก คือ พรรคการเมืองต้องการส่งผู้สมัครเพื่อวัดคะแนนนิยมของตัวเอง รวมทั้งสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อรองรับการหาเสียงระดับชาติ

ในกรณีของ “พรรคการเมืองเดิม” ที่มีฐานเสียงอยู่แล้วก็ส่งเพื่อรักษาฐานเสียงเป็นอย่างต่ำและเพิ่มคะแนนนิยมเป็นอย่างสูง ส่วน “พรรคการเมืองใหม่” ก็ใช้สนามท้องถิ่นสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของประชาชนให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเป้าหมายปลายทางของทุกพรรคคือชนะการเลือกตั้งให้ได้

เหตุผลที่สอง คือ ผู้สมัครที่อาจมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่มีเครือข่ายในระดับพื้นที่เข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องใช้พรรคการเมืองซึ่งมีคะแนนนิยมมีเครือข่ายเพื่อทำให้ตัวเองมีโอกาสในการชนะมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องการใช้ผู้สมัครที่มีชื่อเสียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพรรคและเพิ่มโอกาสในการชนะเลือกตั้งมากขึ้นเช่นกัน

ทำไมถึงต้องลงผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ?

การลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ ไม่ได้หมายความผู้สมัครคนนั้นจะไม่สังกัดพรรคการเมือง หรือไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคการเมืองเลย แต่เหตุผลที่ผู้สมัครคนนั้นเลือกที่จะลงสมัครโดยไม่สังกัดพรรคอาจเป็นเพราะต้องการมีอิสระในการทำงานมากกว่าอยู่กับพรรคการเมือง หรือต้องการฐานสนับสนุนที่มากกว่าที่พรรคการเมืองที่ตนมีความสัมพันธ์อยู่ ในกรณีนี้ผู้สมัครคนนั้นอาจจะมั่นใจในคะแนนนิยมส่วนตัวว่ามีมากพอที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยชื่อพรรคมาหาเสียง 

หรือในบางกรณี ผู้สมัครคนนั้นอาจรู้สึกว่าถ้าลงสมัครในนามพรรคการเมืองอาจจะส่งผลลบต่อคะแนนนิยมของตัวเองมากกว่าจึงเลือกลงอิสระแทน ทั้งนี้ในทั้งสองกรณีอาจเป็นไปได้ว่าผู้สมัครอิสระกับพรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์กันอาจจะลงหาเสียงในฐานะพันธมิตรทางการเมืองหรือ “ต่างคนต่างเดิน” ก็ได้

ผู้สมัครอิสระในอีกความหมายหนึ่ง อาจหมายถึงความบริสุทธิ์ของผู้สมัครซึ่งไม่เคยเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้สมัครประเภทนี้อาจจะเป็นประเภทหน้าใหม่ไร้ชื่อเสีย หรืออาจเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหวังคะแนนกระแส หรือบางคนมีเครือข่ายสนับสนุน ซึ่งผู้สมัครประเภทหลังก็ต้องใช้เครือข่ายต่างๆ เป็นกลไกในการเลือกตั้งเฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม สถิติการลงสมัครในนามอิสระอาจจะไม่ค่อยสู้ดีนัก ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร หากไม่นับที่มาจากการแต่งตั้ง มีเพียงพิจิตต รัตตกุล จากกลุ่มมดงานเท่านั้นที่เคยได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. จากการลงสมัครในนามอิสระ ส่วนที่เหลือมาจากการลงสมัครในนามพรรคการเมืองทั้งหมด ส่วน ส.ก. ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีผู้ลงสมัครในนามอิสระเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับเลือก ซึ่งต่อมาก็ได้เข้าร่วมพรรคการเมืองด้วย

การลงสมัครทั้งในนามพรรคการเมืองและอิสระจึงมีนัยยะแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ของผู้สมัครแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่าจะชั่งน้ำหนักอย่างไร และหนทางใดที่ผู้สมัครคิดว่าจะกวาดคะแนนเสียงได้มากที่สุด