ผู้ว่า กทม. – ส.ก. จากการแต่งตั้งจาก คสช. ถ้าอยากลงต่ออีกสมัย ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน 27 มี.ค.

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่จะถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยแคนดิเดตจากหลากหลายกลุ่มก้อน ผู้ลงสมัครหลายคนตัดสินใจรีบเปิดตัวเป็นตัวเลือกให้คนกรุงเทพฯ ในขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับดูจะยังไม่แน่นอน ทั้งที่ดูมีท่าทีจะลงสมัครมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามสัญญาณที่จะบอกได้ว่า พล.ต.อ.อัศวินจะลงสมัครเป็นแคนดิเดตพ่อเมืองกรุงเทพมหานครต่อไปหรือไม่ คือเดทไลน์ที่ต้องลาออกภายในวันที่ 27 มีนาคม 2565 

ระเบียบข้อนี้เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2562 ซึ่งระบุให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้มีวาระจนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งถัดไป เว้นแต่ต้องการจะลงสมัครในตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หรือผู้ว่ากรุงเทพมหานคร “ผู้นั้นต้องลาออกจากตำแหน่งภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ผู้ซึ่งมิได้ลาออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร”

ในการเลือกตั้ง ส.ก. และผู้ว่า กทม. ที่จะถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยว่าจะประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 25 มีนาคม 2565 ซึ่งหมายความว่าหาก พล.ต.อ.อัศวิน หรือผู้ใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง ส.ก.ชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ถ้าต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งต่อ ก็จะต้องยื่นใบลาออกภายในวันที่ 27 มีนาคม 2565 มิเช่นนั้นก็จะถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง

ดังนั้นหาก พล.ต.อ.อัศวิน ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งต่อและลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ระบุให้ผู้ที่จะขึ้นมารักษาการแทนก็คือปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นข้าราชการประจำของกรุงเทพมหานคร โดยในปัจจุบันคือขจิต ชัชวานิชย์ ในขณะที่ผู้บริหารฝ่ายการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ ไม่ว่าจะเป็น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือที่ปรึกษา จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้ว่า กทม.ปัจจุบัน ต้องลาออกก่อนเลือกตั้ง เป็นข้อกำหนดเฉพาะตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก “ผู้ว่าจากการแต่งตั้ง”สู่ “ผู้ว่าจากการเลือกตั้ง” หลังจากนี้ถ้าได้ผู้ว่า กทม. คนใหม่ก็จะมีวาระการดำตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง หลังจากหมดวาระก็สามารถดำรงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลาออก แต่จะลงสมัครเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ 

ที่ผ่านมาการลาออกจากตำแหน่งจึงเป็นสัญญาณของการตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้ง หรือการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือหน่วยงานรัฐก็มักมาพร้อมกับการประกาศตัวเป็นแคนดิเดตทันที สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในเดือนธันวาคม 2564 ก่อนจะเปิดตัวเป็นแคนดิเดตพ่อเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ก็ตัดสินใจลาออกและประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ ทันทีในวันที่ 7 มีนาคม 2565 การตัดสินใจของอัศวินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นส่งสัญญาณการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ต่อ