หยุดลอยนวลพ้นผิด! สภาลงมติวาระสองและสาม ผ่านพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน ส่งให้ส.ว.พิจารณาต่อ

23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติในวาระที่สองและสาม เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการแก้ไข โดยลำดับต่อไป ร่างกฎหมายก็จะถูกส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณา ก่อนจะทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการในพระราชกิจจานุเบกษา

ร่างที่ผ่านกรรมาธิการมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเนื้อหาค่อนข้างมาก โดยมีการนำเนื้อหาจากร่างที่เสนอโดยพรรคการเมืองและกรรมาธิการกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มาร่วมด้วยกับร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทำให้มีการเพิ่มรายละเอียดหลายประการ เช่น เพิ่มโทษฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขยายอายุความและกำหนดเงื่อนไขให้เริ่มนับก็ต่อเมื่อทราบชะตากรรม แก้ไขคำนิยามของผู้เสียหายให้คู่รักเพศเดียวกันที่อยู่กินฉันสามีภริยาสามารถเป็นผู้ฟ้องร้องได้ ตัดอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดี รวมไปถึงวางหลักเกณฑ์ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย

แม้ว่าจะมีการแก้ไขในรายละเอียดมากเกือบทุกมาตราและมีผู้สงวนความเห็นหลายคน แต่บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น ผลการลงมติคือที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมธิการในทุกมาตราที่มีการแก้ไข โดย ส.ส. ส่วนใหญ่ลงคะแนนเห็นด้วย มีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงเพียงประปรายเท่านั้น

ท้ายที่สุดหลังจากการลงคะแนนวาระสองจบลงด้วยการเห็นชอบกันการแก้ไขในทุกมาตรา ก็เข้าสู่การลงคะแนนในวาระสามซึ่งเป็นวาระสุดท้ายในทันที โดยในชั้นนี้จะมีเพียงการลงมติเท่านั้น ไม่มีการอภิปรายอีก ผลการลงคะแนนในวาระสามปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 359 คะแนน ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 1 คะแนน และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คะแนน

หลังจากนี้ ร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานก็จะถูกส่งต่อไปให้ ส.ว. ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จากได้รับการเห็นชอบ ก็จะทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการในพระราชกิจจานุเบกษา แต่หาก ส.ว. “ยับยั้ง” กฎหมาย ก็จะต้องรออีก 180 วันก่อนที่จะนำมาพิจารณาใหม่ได้ โดย ส.ส. ใช้เสียงกึ่งหนึ่งสามารถเห็นชอบเพื่อเข้าสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย หรืออีกทางหนึ่งก็คือ ส.ว. อาจจะขอให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกับ ส.ส. เพื่อพิจารณาเนื้อหากฎหมายร่วมกันอีกครั้ง