จาก “แก้ไข” สู่ “ยกเลิก” ทบทวน 10 ปีข้อเสนอภาคประชาชนว่าด้วยมาตรา 112

 

5 มีนาคม 2565 เวลา 18.00 น. ที่ Kinjai Contemporary ภายในงานนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) มีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “จาก ครก.112 ถึง ครย.112: ทบทวน 10 ปี ข้อเสนอภาคประชาชนว่าด้วยมาตรา 112” โดยผู้ร่วมสนทนาประกอบไปด้วย พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการและผู้ร่วมก่อตั้ง ครก.112 และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และผู้ร่วมก่อตั้ง ครย. 112 ดำเนินรายการโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน

จุดเริ่มต้นของ ครก.112 และบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเริ่มดันเพดาน

พวงทองเล่าถึงที่มาของ “ครก.112” หรือคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ว่า การรณรงค์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 2555 สืบเนื่องจากปัญหาการใช้มาตรา 112 ภายหลังรัฐประหาร 2549 ที่พุ่งสูงขึ้น มีการฟ้องร้องเพิ่มจากหลักสิบเป็นหลักร้อย และส่วนมากผู้ที่เป็นเหยื่อจากฟ้องร้องนั้นมักอยู่ในฝ่ายของคนเสื้อแดง
ในช่วงเวลาดังกล่าว ขอบเขตการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมได้กว้างขวางมากขึ้น เช่น ข้อถกเถียงว่าสถาบันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนการรัฐประหาร 2549 ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการนำมาตรา 112 มาใช้เพื่อโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร หรือเพื่อปิดปากประชาชนที่มีความคิดต่างทางการเมืองไม่ให้วิพากษ์บุคคล หรือกลุ่มสถาบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง เช่น คดีของดา ตอร์ปิโด, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, อากง SMS ไปจนถึงการใช้มาตรา 112 จากความขัดแย้งส่วนตัว เช่น พี่ชายฟ้องน้องชายของตนเอง
ยิ่งชีพ ในฐานะผู้ติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลคดีมาตรา 112 เล่าว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อมีคดีมาตรา 112 เกิดขึ้นก็มักจะไม่มีข่าวช่องใดออกเลย มีเพียงสำนักข่าวประชาไทที่รายงาน ในขณะที่สำนักข่าวอื่นๆ เช่น ผู้จัดการหรือไทยโพสต์ มักจะออกข่าวแค่วันที่จำเลยโดนจับและวันพิพากษาแต่เนื้อหาของกระบวนการพิพากษานั้นไม่เป็นที่สนใจของสังคม 
นอกจากนี้ ยิ่งชีพยังสะท้อนว่าข้อแตกต่างของการเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีในช่วงเวลานั้นแตกต่างกับปัจจุบันที่บุคคลภายนอกสามารถเข้าไปนั่งฟังได้อย่างเต็มที่ เช่น คดีของสมยศที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกลุ่มคนเสื้อแดงมารอให้กำลังใจกว่า 100 คน รวมทั้งเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดีกันจนเต็มห้อง ยกเว้นบางคดีที่เป็นการพิจารณาลับ เช่น คคีของดา ตอร์ปิโด, คดีกงจักรปิศาจ ทั้งนี้ ยิ่งชีพนิยามว่าการพิจารณาคดีในยุคหลังรัฐประหาร 2557 นั้นนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด  ทั้งการไม่ได้ประกันตัว การต้องไปขึ้นศาลทหาร การพิจารณาคดีลับและกระแสสังคมที่ไม่ให้ความสนใจ
พวงทองเล่าว่า ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112 บทความทางวิชาการที่พูดถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์นั้นส่วนมากยังมีแค่ภาษาอังกฤษ ต่อมาจึงค่อยๆ ถูกแปลเป็นภาษาไทยและมีงานเขียนภาษาไทยออกมาบ้าง เช่น งานของธงชัย วินิจจะกูล กระทั่งมีการจัดวงเสวนาใหญ่ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ได้มีการเชิญฝ่ายอนุรักษนิยมมาพูดคุยด้วยและได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังมีพื้นที่บนโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันสำหรับพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ ประกอบกับการได้รับความร่วมมือจากกลุ่มกวีราษฎร์ ประชาไท ไอลอว์และกลุ่มอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยกันรณรงค์ให้เพดานในการพูดถึงมาตรา 112 นั้นมีมากขึ้น

สำรวจเส้นทางการล่ารายชื่อ “แก้ไข” 112

ยิ่งชีพเริ่มต้นด้วยการถามผู้ที่มาเข้าร่วมฟังว่า “มีใครทันแคมเปญแก้ 112 เมื่อเดือนมกราคม ปี 2555 บ้าง?” โดยยิ่งชีพอธิบายถึงความยากลำบากในสมัยนั้นว่า การเข้าชื่อยังต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งยุ่งยากกว่าปัจจุบันที่ใช้เพียงชื่อและเลขบัตรประชาชน คณะรณรงค์ต้องใช้วิธีการเช่าเครื่องถ่ายเอกสารจากร้านถ่ายเอกสารมาเป็นอุปกรณ์ประกอบการเข้าชื่อ และผู้มาเข้าชื่อทุกคนต้องถือทะเบียนบ้านมาด้วย โดยภายหลังเสร็จสิ้นแคมเปญที่ได้มา 39,000 กว่ารายชื่อแล้วนั้น เมื่อทำการตรวจสอบเอกสาร สุดท้ายกลับเหลืออยู่ 26,000 รายชื่อ นั่นแปลว่ามีรายชื่อที่ถูกคัดออกไปเป็นหลักหมื่นรายชื่อ
ในขณะที่พวงทองเล่าว่า กลุ่มนักวิชาการได้มีการแบ่งทีมกันไปลงพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อรณรงค์และเชิญชวนให้มาเข้าชื่อ โดยมักพบปัญหา เช่น การไม่ให้ใช้สถานที่ ส่งผลให้ชาวบ้านที่มารอฟังต้องย้ายไปนั่งฟังที่วัด หรือการมีนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาขัดขวาง เนื่องจากเกรงว่าการยอมให้มีคนมาพูดเรื่องมาตรา 112 ในพื้นที่จะทำให้ตนเดือดร้อน แต่ทั้งนี้ในส่วนของชาวบ้านและนักกิจกรรมที่มารอฟังนั้นมีความตื่นเต้นและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
การล่ารายชื่อดังกล่าวใช้เวลาจำนวน 112 วัน โดยมีการจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันสุดท้าย รวมทั้งในวันที่นำรายชื่อไปยื่น ทางไอลอว์ได้ร่วมกับคนเสื้อแดงจัดขบวนแบกกล่องเอกสารไปยังรัฐสภา และมีคนมาร่วมขบวนในหลักร้อย แต่สุดท้ายร่างกฎหมายกลับไม่ได้ถูกบรรจุในวาระใด เนื่องจากสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้นระบุว่า “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ“
“ร่างดังกล่าวไม่มีโอกาสได้เข้าไปสู่วิวาทะหรือการถกเถียงใดๆ ในสภา นักการเมืองกลัวกันซะจนไม่เห็นหัวประชาชน พรรคการเมืองก็ไม่เคยพยายามที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้เลย“ พวงทองกล่าว
ยิ่งชีพกล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกผิดหวังที่สภาปัดตกเพราะไม่ได้คาดหวังมากตั้งแต่แรก พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าการต่อสู้ของ ครก.112 ได้สร้างคุณูปการสำหรับการพูดเรื่องมาตรา 112 ในที่สาธารณะเอาไว้มาก หากไม่มี ครก.112 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การเริ่มพูดในวันนี้ว่า “ยกเลิก” ก็อาจมีต้นทุนไม่เพียงพอ รวมถึงการตั้งคำถามหรือการนำเอาปัญหาของการใช้มาตรา 112 มาพูดถึงอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลกระตุ้นให้ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้จำเลยมาตรา 112 ส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ประกันตัว รวมทั้งกระทบต่อคำพิพากษาของศาลที่ต้องพยายามลงโทษให้น้อยลง ตัวอย่างเช่น คดี ติดสติกเกอร์ กูkult ที่ตัดสินไปเมื่อ 4 มีนาคม 2565 ศาลได้ลงโทษขั้นต่ำ 3 ปีพร้อมมีคำสั่งให้ประกันภายใน 1 ชม. หลังคำพิพากษา

ทำไมต้อง “ยกเลิก” 112 และยังเลือกใช้เครื่องมือ “การเข้าชื่อ” ?

ยิ่งชีพในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง “ครย.112” หรือคณะราษฎรยกเลิก 112 รวมทั้งผ่านการถกเถียงเรื่องการจัดทำร่างมาในหลายองค์ประชุมได้สรุปเหตุผลที่เลือกเปลี่ยนจากการ “แก้ไข” มาเป็น “ยกเลิก” จำนวนสองข้อคือ 1) ภาพจำของผู้เข้าร่วมชุมนุมในปี 2563-2564 นั้นมองว่ามาตรา 112 มีปัญหาและต้องการให้ไม่มีกฎหมายข้อนี้อีกต่อไป ดังนั้น ข้อเสนอของ ครย.112 จึงไม่สามารถมีเพดานที่ต่ำกว่านี้ได้และ 2) มีคนโดนคดีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน
“ทุกวันนี้ท่องตัวเลขคนโดนคดีไว้ มันก็เปลี่ยนตลอดเวลาถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะมีเกินกว่า 172 คนใน 160 กว่าคดี และไม่เกินปี 2565-2566 ทุกคนก็จะได้คำพิพากษาแล้ว ทุกวันนี้เราทวงสิทธิประกัน พูดปล่อยเพื่อนเรา แต่อีกไม่นานแต่ละคนจะต้องติดคุกจริงแล้ว เพื่อนเราแต่ละคนไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องเข้าคุก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันไม่ได้” ยิ่งชีพกล่าว
ในด้านเหตุผลที่การรณรงค์ครั้งนี้ยังเลือกใช้การเข้าชื่อ ยิ่งชีพตอบว่า การต่อสู้ในสนามนี้จำต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีเพื่อต่อรองกับทุกอำนาจที่มี ซึ่งเครื่องมือ “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” เป็นเครื่องมือที่สามารถนับจำนวนประชาชนที่เห็นด้วยได้ชัดเจนที่สุด 
สำหรับประเด็นเรื่องจำนวนผู้ลงชื่อในปัจจุบัน ยิ่งชีพกล่าวว่า หากมองภาพตามความเป็นจริง ยอดรายชื่อที่นิ่งอยู่ที่จำนวนหลัก 200,000 คนนั้นสะท้อนว่า กลุ่มคนที่กระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนั้นมีอยู่จำนวนคงที่อยู่ประมาณนี้ ดังนั้น โจทย์ต่อไปจึงจำเป็นต้องเข้าหาคนที่ยังไม่ตัดสินใจให้มาแสดงตน โดยแคมเปญการล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ในครั้งนี้จะถูกนำไปยื่นรัฐสภาก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ และมีจำนวนผู้ลงชื่อมากพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองได้
“คนที่จะเอามันมี แต่เราแค่หาเขาไม่เจอ ซึ่งคนเหล่านี้มีเป็นล้าน ถ้ามันมากพอ คนในสภาหรือพรรคการเมืองก็จะหันมาฟังแล้วรับข้อเสนอนี้ไปสู่สภา” ยิ่งชีพกล่าว
สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ทาง https://fb.watch/bzq6iZTS7V/
สำหรับผู้ที่สนใจนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of Popular History) และนิทรรศการ THE NOTED NO.112 ของไอลอว์ สามารถเข้าชมได้ที่ Kinjai Comtemporary เวลา 11:00 – 19:00 น. (หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 20 มีนาคม 2565