รัฐสภารับหลักการร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองจากครม.-พรรคร่วมรัฐบาล คว่ำร่างพรรคฝ่ายค้านเรียบทุกฉบับ

25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) มีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งมีการเสนอรวมกันหกฉบับ ประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐสองฉบับ, ร่างพรรคเพื่อไทย ร่างพรรคก้าวไกล และร่างพรรคประชาชาติ โดยการพิจารณาในวันนี้เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งในวันดังกล่าว รัฐสภาได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ทั้งสี่ฉบับ จากนั้นจึงพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อแต่พิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันเดียว จึงต้องยกมาพิจารณาต่อในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
โดยร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีจุดร่วมที่เหมือนกันในประเด็นทางเทคนิคที่ทำให้การบริหารจัดการพรรคยากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1,000,000 บาท การลดค่าทำเนียบบำรุงพรรครายปี และลดหรือยกเลิกค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพที่สูงเกินไป รวมทั้งแก้ไขการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่แก้ไขให้ใช้เขตจังหวัดแทนเขตเลือกตั้ง
นอกจากนี้แล้ว ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ ยังเสนอแก้ไขในประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองจากคนนอก เพื่อลดเงื่อนไขทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับฝ่ายรัฐบาลและส.ว. จนทำให้ ส.ว.บางรายประกาศจะไม่รับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย
ในตอนท้ายรัฐสภามีมติ “รับหลักการ” ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองเพียงสามฉบับเท่านั้น คือร่างที่เสนอโดยครม. และร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐสองฉบับ ขณะที่ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้านสามฉบับ รัฐสภามีมติ “ไม่รับหลักการ” ทั้งหมด โดยคะแนนเสียงที่รัฐสภาลงมติในร่างแต่ละฉบับ มีดังนี้
ร่างที่เสนอโดยครม.
เห็นด้วย 598 เสียง
ไม่เห็นด้วย 11 เสียง
งดออกเสียง 14 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (โดยวิเชียร ชวลิต)
เห็นด้วย 578 เสียง
ไม่เห็นด้วย 19 เสียง
งดออกเสียง 26 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (โดยอนันต์ ผลอำนวย)
เห็นด้วย 408 เสียง
ไม่เห็นด้วย 184 เสียง
งดออกเสียง 28 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย
เห็นด้วย  220 เสียง
ไม่เห็นด้วย 371 เสียง
งดออกเสียง 34 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
เห็นด้วย 204 เสียง
ไม่เห็นด้วย 381 เสียง
งดออกเสียง 34 เสียง
ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคประชาชาติ
เห็นด้วย 206 เสียง
ไม่เห็นด้วย 375 เสียง
งดออกเสียง 37 เสียง
ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ร่างครม.

ร่างพลังประชารัฐ

(วิเชียร ชวลิต)

ร่างพลังประชารัฐ

(อนันต์ ผลอำนวย)

ร่างเพื่อไทย ร่างก้าวไกล ร่างประชาชาติ
เห็นด้วย 598 578 408 220 204 206
ไม่เห็นด้วย 11 19 184 371 381 375
งดออกเสียง 14 26 28 30 34 37
ไม่ลงคะแนน 0 0 1 1 1 0
ภายหลังจากร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง สามฉบับผ่านวาระหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ใช้กมธ.ชุดเดียวกันกับร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ที่รัฐสภารับหลักการไปเมื่อวานนี้ และรัฐสภามีมติให้ใช้ร่างฉบับที่เสนอโดยวิเชียร ชวลิต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นร่างหลักในการพิจารณา