จับตาฝ่ายค้านอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติ

17-18 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดสำคัญ เมื่อ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปซักฟอกรัฐบาลโดยไม่ลงมติ โดยอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งกำหนดให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติได้

การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ แตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในแง่ว่าการอภิปรายไม่วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น บรรดา ส.ส. จะต้องลงมติเพื่อชี้ว่า ส.ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารนั้น จะ “ไว้วางใจ” หรือ “ไม่ไว้วางใจ” ฝ่ายบริหาร หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรี ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีรายนั้นก็จะสิ้นสุดลง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) กำหนดไว้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเปรียบเสมือนการชี้วัดชะตาของรัฐมนตรี จะอยู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร 

ขณะที่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินั้นไม่มีกลไกลงมติ ไม่มีมาตรการถึงขั้นลงดาบต่อสถานะรัฐมนตรีอย่างชัดเจน แต่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกให้สภาผู้แทนราษฎรคอยตรวจสอบถ่วงดุลการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ขณะที่ฟากรัฐบาลเองก็จะมีโอกาสในการชี้แจงการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

โดยการอภิปรายทั่วไปในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกปมปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ในหลายประเด็น ดังนี้

๐ ปัญหาค่าครองชีพสูงสวนค่าแรง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาล

๐ ปัญหาการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล ที่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศรวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่มาตรการเยียวยาประชาชนก็ไม่เหมาะสม และการจัดสรรวัคซีนก็ล่าช้า

๐ ปมรัฐบาลปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดอหิวาต์ในสุกร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า โรค ASF (African Swine Fever) ซึ่งส่งผลกระทบให้เนื้อหมูขาดตลาดและเกิดปัญหา “หมูแพง” 

๐ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพประชาชนและเกิดขึ้นอยู่ทุกปี

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 154 กำหนดว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายแบบไม่ลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎร หรือการอภิปรายแบบไม่ลงมติโดยวุฒิสภา ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง เท่ากับว่าในรอบปีนี้หลังจากสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติแล้ว จะใช้กลไกเดิมซ้ำในปีเดียวกันไม่ได้อีก แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถใช้กลไกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ 

ซึ่งในสัปดาห์นี้ สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดนัดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเท่านั้น โดยใช้เวลาสองวัน ขณะที่วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรงดประชุม เท่ากับว่าในรอบสัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรจะทำงานตรวจสอบถ่วงดุล “ซักฟอก” ฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำงานด้านนิติบัญญัติพิจารณาร่างกฎหมาย (ตามธรรมเนียมปกติสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างกฎหมายทุกวันพุธ)

ทั้งนี้ สมัยประชุมสภาปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และสมัยประชุมหน้าจะเริ่ม 22 พฤษภาคม 2565 การซักฟอกรัฐบาลในสัปดาห์นี้ จึงเป็นหนึ่งในผลงานของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงท้ายสมัยประชุมสภา ก่อนจะเหลือเวลาในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาร่างกฎหมาย ตั้งกระทู้ถาม และรับทราบรายงานต่างๆ ก่อนปิดสมัยประชุมสภา