พรรครัฐบาล “เตะถ่วง” ร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน 3 ฉบับรวด

9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อย่างน้อย 5 ฉบับ โดยมี 2 ฉบับที่สภามีมติไม่รับหลักการ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ซึ่งเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ส่วนร่าง พ.ร.บ. อีก 3 ฉบับ สภามีมติให้คณะรัฐมนตรีรับร่างกฎหมายไปพิจารณาก่อน 60 วัน แล้วจึงส่งกลับมาให้พิจารณาซ้ำอีกครั้ง
แม้ว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา ปี 2562 ข้อที่ 118 แต่กลวิธีดังกล่าว ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า พรรครัฐบาลกำลังเล่นเกมส์ “เตะถ่วง” ร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสามฉบับถูกดองไว้ในระเบียบวาระการพิจารณามาไม่น้อยกว่า 442 วัน จึงไม่มีเหตุที่ต้องรับไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนลงมติ ประกอบกับกฎหมายทั้งสามเรื่องเป็นกฎหมายที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ
โดยรายละเอียดการลงมติร่างกฎหมายทั้งสามฉบับมีดังนี้
หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ค้างพิจารณามาอย่างน้อย 463 วัน นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ทว่า เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรกลับมีมติ 207 ต่อ 196 ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ให้ ครม. พิจารณาก่อน 60 วัน
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ การกำหนดให้การขอใบอนุญาตผลิตสุราให้ทำเฉพาะการผลิตสุราเพื่อการค้า และปลดล็อคหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตที่ต้องมีการจดทะเบียนและมีทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท รวมถึงยังปลดล็อคเรื่องกำลังการผลิตและคนงานที่ไม่ต้องมีขั้นต่ำ เป็นต้น
อ่านสรุปร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6078
สอง ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถาการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ที่ค้างพิจารณามาอย่างน้อย 456 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ทว่า เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรกลับมีมติ 227 ต่อ 157 ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ให้ ครม. พิจารณาก่อน 60 วัน
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ สนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับเดิม และจะมีผลให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศต่างๆ ที่ออกตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด และให้มีมาตรการใหม่สำหรับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
อ่านสรุป ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/6072
สาม ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ค้างพิจารณามาอย่างน้อย 442 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ทว่า เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรกลับมีมติ 219 ต่อ 118 ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ให้ ครม. พิจารณาก่อน 60 วัน
แก้กฎหมายเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ การสมรส เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแก่บุคคลทุกเพศ โดยไม่นำเหตุแห่งเพศสภาพหรือเพศวิถีมาเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียนสมรสเหมือนกฎหมายปัจจุบันที่ยังจำกัดว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะกรณีทั้งสองฝ่ายเป็น ‘ชายและหญิง’
อ่านสรุป ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5711
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปเพียง 60 วัน แต่ด้วยจำนวนวันดังกล่าวทำให้สภาผู้แทนฯ ไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ทันสมัยประชุมสภาที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะเริ่มต้นเปิดสภาใหม่อีกครั้ง หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 และหาก สภามีมติไม่รับหลักการ การจะเสนอกฎหมายที่มีหลักการซ้ำกับที่ถูกปัดตกไปก็จะเสนอไม่ได้ ต้องไปเสนอในสมัยประชุมถัดๆ ไป รวมถึงจะต้องนำมาต่อหลังเรื่องอื่นๆ ที่ถูกเสนอไว้ก่อน