เช็คเรียงพรรคปมสภาล่ม ก่อนลงมติ #สุราก้าวหน้า เพื่อไทยเทร่วมร้อย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหาย 76 คน

parliament meeting
parliament meeting

2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎร มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ซึ่งเสนอโดยเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคก้าวไกล ร่างกฎหมายดังกล่าวค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาฯ มาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563) สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือการปลดล็อกกรอบกฎกระทรวงที่กำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาตผลิตสุราไว้อย่างเข้มงวด จนทำให้ผู้ประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้ารายเล็กหรือรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 

ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสนอโดยส.ส. พรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ได้รับเสียงสนับสนุนที่ดีจากส.ส. ทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นได้จากการที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลายที่ลุกขึ้นมาอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยทีท่าที่สนับสนุน เช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายกองตรี อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เหตุผลโดยสรุปที่ส.ส.ทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ คือ ความสามารถในการผลิตสุราของคนไทย ทั้งในเชิงวัตถุดิบที่มีผลไม้จำนวนมากซึ่งสามารถนำไปทำเป็นสุราได้, การเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการรายย่อยในการผลิตสุรา เพื่อให้มีสุราจากผู้ผลิตรายย่อยมากขึ้น และมีสุราที่หลากหลาย และประเด็นภาษีอากรที่รัฐอาจจัดเก็บได้เพิ่มมากขึ้นหากกฎหมายเปิดทางให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตสุราได้จนเกิดผลิตภัณฑ์สุราจำนวนมากจากหลายชุมชน หลายผู้ผลิต เหมือนในต่างประเทศที่มีสุราพื้นถิ่น เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุน แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวทันที เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการภายใน 60 วัน ซึ่งก็ต้องอาศัยมติจากสภาผู้แทนราษฎรว่าจะ “อนุมัติ” ให้ครม. นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนหรือไม่ จุดนี้เองที่นำไปสู่เหตุการณ์ #สภาล่ม

จำนวนส.ส. ทั้งหมดมีอยู่ 475 คน องค์ประชุมจะนับว่าครบได้ ต้องได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เท่ากับ 238 คน สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้กดออดเพื่อเรียกส.ส.ให้เข้ามาเสียบบัตรแสดงตนก่อนเพื่อที่จะลงมติอนุมัติในลำดับถัดไป แต่ปรากฏว่า จำนวนส.ส. ที่มาแสดงตน มีเพียง 234 คนเท่านั้น ขาดไปเพียงแค่ 4 คนก็จะครบองค์ประชุม 

จากเอกสารของเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แสดงรายชื่อส.ส. ว่าแสดงตน/ไม่แสดงตน (คลิกที่นี่เพื่อดูเอกสาร) 

สรุปจากเอกสารดังกล่าว มีจำนวนส.ส. จากแต่ละพรรคที่แสดงตน ดังนี้ 

  • เพื่อไทย แสดงตน 14 คน (จาก 131 คน)
  • พลังประชารัฐ แสดงตน 83 คน (จาก 97 คน)
  • ภูมิใจไทย แสดงตน 37 คน (จาก 59 คน)
  • ก้าวไกล แสดงตน 42 คน (จาก 52 คน)
  • ประชาธิปัตย์ แสดงตน 29 คน (จาก 50 คน)
  • กลุ่มร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งยังไม่ปรากฏสังกัดพรรค แสดงตน 4 คน (จาก 19 คน)
  • ชาติไทยพัฒนา แสดงตน 9 คน (จาก 12 คน)
  • เสรีรวมไทย ไม่แสดงตนยกพรรค (จาก 10 คน)
  • ประชาชาติ แสดงตน 2 คน (จาก 7 คน)
  • เพื่อชาติ แสดงตน 1 คน (จาก 6 คน)
  • เศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 2 คน (จาก 6 คน)
  • พลังท้องถิ่นไทย แสดงตน 1 คน (จาก 5 คน)
  • รวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 1 คน (จาก 5 คน)
  • ชาติพัฒนา แสดงตน 4 คน (จาก 4 คน)
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนยกพรรค (จาก 2 คน)

พรรคเล็กที่มีส.ส. พรรคละ 1 คน  

  • 5 พรรคที่แสดงตน  ได้แก่ ครูไทยเพื่อประชาชน, ประชาภิวัฒน์,  พลเมืองไทย, พลังชาติไทย และพลังธรรมใหม่
  • อีก 5 พรรค ไม่ได้แสดงตน ได้แก่ พลังปวงชนไทย, เพื่อชาติไทย, ไทยศรีวิไลย์, ไทยรักธรรม และประชาธิปไตยใหม่

ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงรวมในสภาทั้งหมดตอนนี้ 247 เสียง (ไม่รวมกลุ่มร้อยเอกธรรมนัสที่ยังไม่ปรากฏสังกัดพรรค) ซึ่งส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของสภา 238 เสียง แต่จากเหตุการณ์ #สภาล่ม เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนรวม 171 คน

เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ #สภาล่ม การลงมติอนุมัติว่าจะให้ครม. นำร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ไปศึกษาก่อนหรือไม่ จึงต้องยกยอดเพื่อรอลงมติต่อไปในวันพุธหน้า และนอกจากร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่สำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเสนอโดยรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นร่างกฎหมายที่เสนอเพื่อใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ ผลพวงจากพิษ #สภาล่ม ทำให้ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ที่ต่อคิวรอพิจารณาหลังร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ต้องยกยอดไปรอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปในวันพุธหน้าเช่นกัน