ปี 2022 กับ 4 เรื่องการเมืองที่ต้องจับตา

ในปี 2021 หรือ ปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองนอกสภาอาจจะไม่ได้ร้อนแรงเมื่อเทียบกับปี 2020 แต่สถานการณ์การเมืองในสภายังคงเป็นไปอย่างดุเดือด อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจบรรดารัฐมนตรี ที่เกือบทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลุดเก้าอี้ เมื่อ "คนใน" อย่าง "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ออกมาสร้างคลื่นใต้น้ำเพื่อหวังเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยอ้างเรื่อง "รัฐบาลไม่มีผลงาน" 
อีกทั้ง ในปี 2021 รัฐสภาที่นำโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษของคสช. และพรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการปิดประตูใส่ข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือ การยุติกลไกสืบทอดอำนาจของ "ระบอบประยุทธ์" เพราะเล็งเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นสาเหตุสำคัญของการเมืองที่ "ไม่มีประสิทธิภาพ" "ไม่มีเสถียรภาพ" รวมถึง "ไม่มีธรรมาภิบาล" อันจะเห็นได้จาก การไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบหรือรับผิดใดๆ ต่อความผิดพลาดและล้มเหลวในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด19 ระบาด ของรัฐบาล
ในปี 2022 หรือ ปี 2565 นี้ หากรัฐบาลยังทำหน้าที่แก้ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด19 ได้ไม่ดีพอ สถานการณ์ทางการเมืองย่อมมีแนวโน้มที่จะร้อนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากช่วยประชาชนจับจาวาระร้อนทางการเมืองอย่างน้อย 4 เรื่อง ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่
หนึ่ง อนาคตของ "พล.อ.ประยุทธ์" หลังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ มาครบ 8 ปี
นับตั้งแต่รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กลายเป็นบุคคลที่ถูกตรวจสอบโดยพรรคฝ่ายค้านอย่างหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจถึง 4 ครั้ง และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบคุณสมบัติถึง 3 ครั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็รอดพ้น ท่ามกลางข้อครหาว่า ระบบตรวจสอบถ่วงดุลได้ถูกบั่นทอน ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า "ส.ส.งูเห่า" หรือ การแทรกแซงองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญผ่านการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งโดย ส.ว.แต่งตั้ง เป็นต้น
ในปี 2565 พรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง โดยหนึ่งในวาระสำคัญ คือ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ซึ่งมาตรานี้หมายความว่า คนหนึ่งคนจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญได้ไม่เกินสองสมัย สมัยหนึ่งมีวาระสี่ปี แต่ก็ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่า ระยะเวลาแปดปีจะเริ่มนับตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ เริ่มนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง หรือเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร เริ่มนับอย่างเป็นทางการวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก่อนมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา จนหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้น ถ้านับระยะเวลาในตำแหน่งต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2022 ก็จะครบเวลาแปดปีเต็ม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่ยังรอการตีความว่า ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แปดปีนั้น จะนับอย่างไร และจะครบกำหนดเมื่อใด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันาวาคม 2564 ฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาและส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นต่อการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย
ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่ ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158
ด้าน จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ชัด และเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความเอง ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสมก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยใช้ช่องทางตามมาตรา 210 (2) ประกอบกับมาตรา 264 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 หากปล่อยไว้เนิ่นนานอาจเกิดกระแสสังคมที่ชี้กระแสไปทางใดทางหนึ่ง และจะทำให้ศาลตัดสินไม่ได้ หากตัดสินตามกระแสก็หาว่าโหนกระแส หากขวางกระแสสังคมก็จะโดนล้มคว่ำ
ทั้งนี้ จรัญ ภักดีธนากุล มองความเป็นไปได้ของการตีความข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ไว้ว่า มีอย่างน้อย 3 แนวทาง คือ
  1. รัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลัง ให้ใช้นับแต่วันที่กฎหมายประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 อันหมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้า ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ปี 2570 ทางนี้ถือเป็นคุณกับนายกฯและ ครม.ปัจจุบัน
  2. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ให้บังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งจะหมายถึงรวมนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยเฉพาะไม่มีกฎหมายห้ามรัฐธรรมนูญบังคับใช้ย้อนหลัง ต่างกับกฎหมายแพ่ง-อาญา ซึ่งหากนับ 8 ปีนับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรียุค คสช.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็จะครบในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งทางนี้อาจจะตรงใจฝ่ายค้าน แต่ยังอาจหมายถึงนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆด้วย ทั้งหมายถึงนายชวน หลีกภัย หรือนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกไม่ได้
  3. นับ 8 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศบังคับใช้ 6 เมษายน 2560 หรือครบ 8 ปีวันที่ 5 เมษายน 2568 
สอง บทบาท "ส.ว.แต่งตั้ง" ในสองปีสุดท้ายกับภารกิจสืบทอดอำนาจ
ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 269 ได้กำหนดให้ที่มาของ ส.ว. เอาไว้แล้วโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้มาจากการสรรหาและคัดเลือกแบบพิเศษที่มีคสช. เป็นผู้คัดเลือกในด่านสุดท้าย โดย ส.ว.ชุดตังดล่าวจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้ ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น ในปี 2022 หรือ ในปี 2565 นี้ ส.ว. ชุดดังกล่าวจะมีเวลาดำรงตำแหน่งเหลืออีก 2 ปี
ถ้าย้อนดูผลงานของ ส.ว.แต่งตั้ง ชุดดังกล่าว จะพบว่า บทบาทสำคัญของ ส.ว. ชุดดังกล่าวมีอย่างน้อย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 
1) การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. ชุดดังกล่าวมา และถ้ามีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระ 4 ปี หรือ ปี 2566 ส.ว. ชุดดังกล่าว ก็ยังมีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไปได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง
2) การลงมติให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรรมกำหนดไว้ว่า ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ทั้งในวาระหนึ่งและสาม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่าง จึงจะถือว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา ซึ่งที่ผ่านมา มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 21 ฉบับ แต่มีผ่านรัฐสภาเพียงแค่ฉบับเดียว จึงจับตาต่อไปว่า ในการเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2022 หรือ ในปี 2565 นี้ จะเป็นอย่างไร
3) การให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา มีข้อครหามาโดยตลอดว่า การให้ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มาจากการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง เป็นการ "แทรกแซง" องค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ส.ว.แต่งตั้ง ได้มีมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบบุคคลให้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปหลายตำแหน่ง ดังนี้
๐ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
26 มกราคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม คือ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 206 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 7 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
โดยมีมติไม่เห็นชอบ ให้ รัชดา ไชยคุปต์ ดำรงตำแหน่งด้วยคะแนน 162 เสียง เห็นชอบ 33 เสียง ไม่ออกเสียง 21 เสียง
1 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ วิวัฒน์ ตามี่ เลขานุการ และกรรมการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ให้าดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ  36 คะแนน ไม่เห็นชอบ 153 คะแนน และไม่ออกเสียง 30 คะแนน
๐ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 181 เสียง ไม่เห็นชอบ 18 เสียง ไม่ออกเสียง 13 เสียง
และมีมติไม่เห็นชอบ กุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 32 เสียง ไม่เห็นชอบ 150 เสียง ไม่ออกเสียง 30 เสียง
จึงถือว่า อิสสรีย์ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 125 คะแนน จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
13 กันยายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ทรงศัก สายเชื้อ อดีตเอกอัครราชทูตกรุงเวียนนา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560) ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 196 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง ซึ่งได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงถือว่า ทรงศัก ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
๐ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 
20 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภา มีนัดพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) จำนวน 7 คน โดยผลการลงมติมีดังนี้
  • พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ให้ความเห็นชอบ 212 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 5 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  • ศ.พิรงรอง รามสูต ให้ความเห็นชอบ 213 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน  (ด้านกิจการโทรทัศน์)
  • กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ให้ความเห็นชอบ 63 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 145 คะแนน ไม่ออกเสียง 15 คะแนน (ด้านกิจการโทรคมนาคม)
  • ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ให้ความเห็นชอบ 210 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 คะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
  • ต่อพงศ์ เสลานนท์ ให้ความเห็นชอบ 196 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 19 คะแนน ไม่ออกเสียง 8 คะแนน (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  • ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ให้ความเห็นชอบ 60 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 142 คะแนน ไม่ออกเสียง 21 คะแนน (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ก) ด้านกฎหมาย)
  • รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย ให้ความเห็นชอบ 205 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 คะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)
๐ อัยการสูงสุด 
31 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ สิงห์ชัย ทนินซ้อน ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ  209 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 0 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง จึงถือว่า สิงห์ชัย ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
๐ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ
 25 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ให้ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ด้วยคะแนนเสียง ให้ความเห็นชอบ 197 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 7 เสียง ไม่ออกเสียง 12 เสียง
๐ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 
19 มกราคม 2564 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15  สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมยังคงมีมติไม่เห็นชอบให้ รัชนันท์ ธนานันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นครั้งที่สอง ด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 122 เสียง เห็นชอบ 89 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง
6 กันยายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครอสูงสุด ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 212 คะแนน ต่อคะแนนไม่เห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 8 คะแนน ถือว่าได้รับคะแนนเห็นชอบข้างมากจากที่ประชุมวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
7 กันยายน 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ตามมาตรา 15 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560) โดยผลการลงมติมีดังนี้
  • สะเทื้อน ชูสกุล อธิบดีศาลปกครอง ให้ความเห็นชอบ 202 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 8 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง
  • ฉัตรชัย นิติภักดิ์ อธิบดีศาลปกครองเพชรบุรี ให้ความเห็นชอบ 189 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 23 เสียง
  • รังสิกร อุปพงศ์ อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ ให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี  ไม่ออกเสียง 4 เสียง
  • ไพศาล บุญเกิด อธิบดีศาลปกครองสุพรรณบุรี ให้ความเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 5 เสียง
  • สมศักดิ์ ตัณฑเลขา อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก ให้ความเห็นชอบ 220 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 1 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง
  • ภิรัตน์ เจียรนัย อธิบดีศาลปกครองนครสวรรค์ ให้ความเห็นชอบ 213 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง
  • วชิระ ชอบแต่ง อธิบดีศาลปกครองภูเก็ต ให้ความเห็นชอบ 221 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี ไม่ออกเสียง 3 เสียง
อย่างไรก็ตาม ผลการออกเสียงลงคะแนน ปรากฏว่า บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ทั้ง 7 คน ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากที่ประชุมวุฒิสภา จึงถือว่า ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
สาม การเลือกตั้งครั้งใหม่ ภายใต้กติกาใหม่ "บัตรเลือกตั้งสองใบ"
ในปี 2022 หรือ ปี พ.ศ.2565 สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาคือการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา สภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม ก่อนจะมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 
  • การเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 : 150 มาเป็น 400 : 100 
  • การเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็นสองใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือกพรรคการเมือง 
  • การเปลี่ยนวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ให้เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ที่คำนวณเป็นสัดส่วนตามคะแนนที่ได้พรรคได้รับ
การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดระบบสองพรรคใหญ่ เหมือนกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ซึ่งข้อดีของระบบเลือกตั้งดังกล่าว คือ จะทำให้มีพรรคขนาดใหญ่ที่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เป็นรัฐบาลและสภาที่มีเสถียรภาพ แต่ปัญหาของระบบเลือกตั้งดังกล่าวคือ ทำให้พรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองขนาดเล็กคว้าชัยชนะในสนามการเลือกตั้งได้ยาก
อย่างไรก็ดี มีการคาดหมายว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 และพิจารณาวาระแรก ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ปลายเดือนมกราคม 2565 และหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภา ก็จะเป็นแรงกดดันสำคัญว่าจะมีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาใหม่ 
โดยข้อมูลจากมติชนระบุว่า มีร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อย 3 ฉบับ ที่น่าจะถูกยื่นต่อสภา ได้แก่ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคฝ่ายค้าน และร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีสาระสำคัญดังนี้
๐ ร่าง พ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้งส.ส. ฉบับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีสาระสำคัญว่า
– มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเขต 400 เขต แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
– เบอร์ผู้สมัครส.ส.แบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (พรรคการเมือง) เบอร์เดียวกัน
– การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้คะแนนรวมทุกพรรค หารด้วย 100 คน เมื่อได้ส.ส.พึงมี นำไปคิดส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค ปัดเศษจากมากไปหาน้อย จนครบ 100 คน
๐ ร่าง พ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้งส.ส. ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล
– มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเขต 400 เขต แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
– เบอร์ผู้สมัครส.ส.แบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (พรรคการเมือง) คนละเบอร์
– การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้คะแนนรวมทุกพรรค หารด้วย 100 คน เมื่อ ได้ส.ส.พึงมี นำไปคิดส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค ปัดเศษจากมากไปหาน้อย จนครบ 100 คน
๐ ร่าง พ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้งส.ส. ฉบับพรรคฝ่ายค้าน (เพื่อไทย)
– มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเขต 400 เขต แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
– เบอร์ผู้สมัครส.ส.แบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (พรรคการเมือง) เบอร์เดียวกัน
– การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้คะแนนรวมทุกพรรค หารด้วย 100 คน เมื่อได้ส.ส.พึงมี นำไปคิดส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค ปัดเศษจากมากไปหาน้อย จนครบ 100 คน
สี่ การแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่ และทางออกสุดท้ายที่เรียกว่า "ประชามติ"
หลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ความหวังเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเดิม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า "รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน" ทำให้เกิดการตีความว่าคำว่า "ก่อน" หมายถึงก่อนที่รัฐสภาจะมีมติรับหลักการในวาระหนึ่ง และได้กลายเป็นเหตุผลให้ ส.ส. พรรครัฐบาล และ ส.ว.แต่งตั้ง คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 ได้กำหนดให้ การทำประชามติ ทำได้ 5 กรณี คือ
๐ ประชามติเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256
๐ ประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นควร
๐ ประชามติในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำประชามติ
๐ ประชามติเมื่อรัฐสภามีมติเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
๐ ประชามติเมื่อมีประชาชนเข้าชื่อเสนอไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ ต่อคณะรัฐมนตรี
โดยในปี 2022 หรือ ปี 2565 รัฐสภาจะมีนัดพิจารณาแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรองรับการทำประชามติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็กำลังดำเนินการเพื่อรองรับการเข้าชื่อเสนอของประชาชนเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติ
นอกจากนี้ ในปีนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน นำโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิตและอดีต กกต. ที่เตรียมการรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272  ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่สี่เพื่อ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." หรือ การยกเลิกกลไกการสืบทอดอำนาจของคสช. อย่างหนึ่ง