มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ

กระแสการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เริ่มกลับมาคึกคักขึ้นหลังจากการเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเริ่มลงพื้นที่หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “แช่แข็ง” การเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับตั้งแต่การรัฐประหาร รวมถึงการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2559 ปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้งพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ โดยมีผลตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2559 จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากนับจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่าห้าปีแล้วที่ชาวกรุงเทพฯ ยังต้องพบเจอกับผู้ว่ากรุงเทพฯ คนเดิม และไม่มีโอกาสได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนประชาชนในท้องที่อื่นซึ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นมาแล้ว ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
วันที่ 23 ธันวาคม 2564 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) และผู้แทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุม ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ชัดเจน แต่จากกระแสเปิดตัวผู้สมัคร และความเคลื่อนไหวของการปรึกษาหารือระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายบริหาร ก็สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณที่ชาวกรุงเทพมหานครจะได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าอีกครั้ง เหมือนที่เคยเป็นในระบบปกติ
อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่มีประกาศวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่ผู้ที่มีแผนจะย้ายทะเบียนบ้านจากจังหวัดอื่นมายังทะเบียนบ้านกรุงเทพฯ อาจต้องเตรียมพร้อมให้ดี เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากใครมีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนวันเลือกตั้ง จะถือว่าไม่มีมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)
โดยหลักการดังกล่าว เป็นผลพวงจากกฎหมายที่ออกในยุคคสช. ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคสช. ได้เร่งรัดออกกฎหมายต่าง ๆ มากถึง 66 ฉบับในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน ทิ้งท้ายการอยู่ในอำนาจของสภาตรายาง โดยหนึ่งในนั้นก็คือการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน ให้ใช้เกณฑ์คุณสมบัติในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งสนช. ออกในระยะเวลาไล่เลี่ยกันแทน
พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 38 นั้นกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ดังนี้
1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี
2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง และ
4. คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
หมายความว่า ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านจากจังหวัดอื่นมาในกรุงเทพฯ ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนวันเลือกตั้ง  ก็จะขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น หากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านมาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2564 หรือไม่ถึงหนึ่งปีก่อนหน้า ก็จะไม่สิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่หากเป็นการย้ายทะเบียนบ้านภายในกรุงเทพฯ เอง (ตัวอย่างเช่น ย้ายทะเบียนบ้านจากเขตสายไหมไปยังเขตดอนเมือง) ก็ยังถือว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ โดยให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่หายไปจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ของสนช. คือการเลือกตั้งนอกเขต สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกรุงเทพฯ แต่อาศัยหรือทำงานที่จังหวัดอื่นหรือต่างประเทศ กฎหมายก็ไม่ได้เปิดช่องให้เลือกตั้งนอกเขตได้เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ต้องเดินทางกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เท่านั้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กฎเกณฑ์ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าหนึ่งปีได้กลายเป็นปัญหา ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา เช่นการเลือกตั้งอบจ. และอบต. ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 ก็มีผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่ของสนช. ก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เคยมีประชาชนเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเช่นนี้ตาม พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อ 16 สิงหาคม 2564 ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้มีหนังสือคำวินิจฉัยตอบกลับว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ อ้างเหตุผลว่าต้องการให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งมีความคุ้นเคยและรับทราบปัญหาในพื้นที่เสียก่อน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตโดยจ้างให้ประชาชนย้ายทะเบียนบ้านไปเขตเลือกตั้งบางเขต โดยยืนยันว่าหากย้ายทะเบียนบ้านในเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน ก็ยังคงมีสิทธิในการเลือกตั้งอยู่
แม้ว่าคณะรัฐมนตรียังไม่ได้มีมติให้จัดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่ผู้ที่มีความประสงค์จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ และมีแผนจะย้ายทะเบียนบ้านออกจากกรุงเทพฯ ก็ต้องวางแผนให้ดี อาจจะรอให้ผ่านการเลือกตั้งไปเสียก่อนค่อยดำเนินการย้ายทะเบียนบ้าน มิเช่นนั้นก็อาจจะเสียสิทธิเลือกตั้งได้