เปิดคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ ปมโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ไม่เยียวยาแรงงานข้ามชาติแม้จ่ายประกันสังคม

จากกรณีโครงการ “ม.33 เรารักกัน” โครงการภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,000 บาทตลอดโครงการ โดยกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดเงื่อนไขของผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวไว้เฉพาะผู้ประกันตนที่มี “สัญชาติไทย” ส่งผลให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและจ่ายเงินเข้าระบบในอัตราเดียวกับคนไทย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิรับเงินเยียวยาจากโครงการนี้ได้

ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งติดตามประเด็นสิทธิของแรงงานข้ามชาติและบุคคลไร้สัญชาติ ได้ดำเนินเรื่องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทวงถามความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเริ่มการจ่ายเงินเยียวยาในเดือนมีนาคม 2564 ทั้งการยื่นเรื่องไปที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมาธิการแรงงาน รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ทว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินยังวินิจฉัยว่า การที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมดำเนินการโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและมิได้ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแต่อย่างใด

เนื่องด้วยสาเหตุดังกล่าว ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 จำมน ไม่มีนามสกุล ตัวแทนแรงงาน จึงมอบอำนาจให้ยุวดี กันทำ ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในหลักความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ โดยมีกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกร้องที่ 2 และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกร้องที่ 3 โดยการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

จากคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติจากการเสนอของกระทรวงแรงงาน เพื่อเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้แก่ภาคประชาชน ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม โครงการ “ม. 33 เรารักกัน” กลับกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติ รวมทั้งบุคคลคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่ไม่มีสัญชาติไทย ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับสิทธิในเงินช่วยเหลือ ทั้งนี้ ผู้ร้องได้ยกสถิติจาก กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายจำนวนกว่า 2.3 ล้านคน และมีผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย 9.6 แสนคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญญชาติ 9.6 แสนคนเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน รวมทั้งผลสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศยังพบว่า ในปี พ.ศ. 2560 สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มาจากแรงงานข้ามชาติมากถึงร้อยละ 4.3 – 6.6

ผู้ร้องจึงเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติดังกล่าวของโครงการมีความไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

(1) ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 27 วรรคสาม “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยความแตกแต่งในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

(2) การที่กฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเข้าสู่ประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้ ย่อมเป็นการยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติมีสิทธิไม่แตกต่างกับแรงงานไทย การกำหนดให้แรงงานสัญชาติไทยเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 จึงไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนเช่นเดียวกัน

(3) ขัดต่อพ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท มาตรา 5 ที่กำหนดให้การกู้เงินเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบ โดยคำว่า “ภาคประชาชน” ตามพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดนิยามไว้เฉพาะบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยทุกคนจึงเข้าข่ายเป็น “ภาคประชาชน” ตามกฎหมายดังกล่าว

(4) ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อันเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ที่มีพันธะหน้าที่ว่าจะไม่กระทำหรือมีการปฏิบัติใดๆ อันก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนและสถาบันทุกแห่งของรัฐจะปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา

นอกจากนี้ จากกรณีที่ผู้ร้องได้ยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยว่า เงื่อนไขสัญชาติไทยของโครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และ มาตรา 27 หรือไม่ รวมทั้งยังได้เสนอแนะองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ “ยกเลิกเงื่อนไข” ไปในคำร้องด้วยนั้น ผลการพิจารณากลับลงความเห็นเพียงว่า “เชื้อชาติ” มีความหมายไม่เหมือนกับ “สัญชาติ” จึงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27 มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ซึ่งผู้ร้องมีความเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินตีความบทบัญญัติตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดโดยมิได้คำนึงถึงความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่มุ่งรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล

ทั้งนี้ บุคคลไร้สัญชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนในประเทศไทย ล้วนเป็นบุคคลที่ไร้รัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎรและมีเอกสารแสดงตัวตน มีสิทธิพลเมืองเช่นเดียวผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย จึงย่อมต้องได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน เพราะสิทธิในการได้รับการเยียวยา มิใช่สิทธิทางการเมือง การที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าว จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ร้องรู้สึกด้อยค่า ถูกดูหมิ่นและไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย

ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาวินิจฉัยว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่กำหนดคุณสมบัติของประชาชนผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยาเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27

ไฟล์แนบ