แรงงานข้ามชาติยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีจ่ายประกันสังคมแต่ไม่ได้เงินเยียวยา เพราะติดเงื่อนไข “สัญชาติ”

9 ธันวาคม 2564 เวลา 10.30 น. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) พร้อมตัวแทนแรงงาน ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการวินิจฉัยความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิเยียวยาของแรงงานข้ามชาติและผู้ประกันตนไร้สัญชาติ จากกรณีที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดเงื่อนไขของโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ไว้เฉพาะผู้ประกันตนที่มี “สัญชาติไทย” ส่งผลให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและจ่ายเงินเข้าระบบในอัตราเดียวกับคนไทย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิรับเงินเยียวยาจากโครงการนี้ได้
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ปสุตา ชื้นขจร ทนายความของมูลนิธิฯ กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นับว่าเป็นการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมชั้นสุดท้ายที่มีอยู่ เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่านโยบายในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังนั้น เป็นไปในลักษณะที่เลือกปฏิบัติหรือไม่
ในด้านความคาดหวัง ปสุตา มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรรับคำฟ้องของประชาชนและพิจารณาคำฟ้องภายใต้หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD) ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยลงนามเป็นรัฐภาคี และรัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงในการส่งเสริมและสนับสนุนความเคารพและนับถือในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งมวลโดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้มีการดำเนินเรื่องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการเริ่มจ่ายเงินเยียวยาในเดือนมีนาคม 2564 ทั้งการยื่นเรื่องไปที่กระทรวงแรงงาน กรรมาธิการแรงงาน ให้ยกเลิกเงื่อนไขสัญชาติไทย เพื่อให้แรงงานไม่ว่าสัญชาติใดที่จ่ายเงินประกันสังคม ย่อมต้องสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือตามโครงการได้ รวมทั้งการส่งคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการวินิจฉัยว่า “การกำหนดเงื่อนไขสัญชาติไทยเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติและขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่ว่าด้วยการได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกัน และมาตรา 27 ที่ได้บัญญัติถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือไม่” โดยหนังสือตอบกลับของผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 นั้นห้ามการเลือกปฏิบัติเฉพาะ “เชื้อชาติ” แต่มิได้ห้ามเลือกปฏิบัติต่อ “สัญชาติ” แต่อย่างใด ทางมูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง