สุทิน ยันฝ่ายค้านรับหลักการร่าง “ปลดอาวุธคสช.” ด้านชินวรณ์ ไม่รับปากเข้าสภาทัน 1 ธ.ค.หรือไม่

ร่าง “ปลดอาวุธคสช.” จ่อเข้าวาระการประชุม ไอลอว์จัดกิจกรรมปักหมุดหน้าสภาอีกครั้งเพื่อส่งเสียงให้ ส.ส. รับร่าง ด้านสุทิน คลังแสง วิปฯฝ่ายค้าน ยืนยันฝ่ายค้านจะผลักดันกฎหมายนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่ชินวรณ์ บุญเกียรติ วิปฯรัฐบาล ยืนยันให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพประชาชน
30 พฤศจิกายน 2564 ไอลอว์และเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรม “รวมพลังประชาชน-รื้อมรดก คสช.” ที่สนามหน้ารัฐสภา เพื่อนำเสนอปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ…. (ฉบับประชาชน) จะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยในการประชุมดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติด้วยว่าจะรับหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีวงเสวนาของผู้ที่เคยได้รับผลกระทบหรือทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องจากประกาศคำสั่งต่างๆ ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่เคยถูก คสช.เรียกรายงานตัวในค่ายทหารและถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่เคยถูกทหารจับกุมตัวและดำเนินคดีในศาลทหารช่วงการออกเสียงประชามติปี 2559 อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดตามผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4/2559 ที่ยกเว้นผังเมืองให้กับกิจการบางประเภทในพื้นที่ภาคตะวันออกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เวลาประมาณ 16.00 น. พิธีกรเริ่มกิจกรรม จากนั้นนิมิตร เทียนอุดม จากเครือข่าย People Go Network ปราศรัยสั้นๆ ว่าก่อนหน้านี้กิจกรรมล่ารายชื่อทำได้ยาก เพราะแค่ขึ้นป้ายว่า “ปลดอาวุธ คสช.” ก็จะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามปรามแล้ว ดังนั้น 13,400 กว่ารายชื่อที่ร่วมเสนอร่างกฎหมายนี้ถือเป็นผู้กล้าที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจ คสช. เพราะแม้จะเริ่มต้นการระดมรายชื่อภายใต้ข้อจำกัด แต่ทุกคนก็ร่วมกันสู้เพื่อประกาศว่าเราจะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ คสช. ดังนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม ขอให้ทุกคนร่วมจับตาว่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่จะร่วมกับประชาชนในการปลดอาวุธ คสช.
16.20 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์กล่าวเปิดเวทีว่า นับเป็นเวลาห้าปีแล้วที่ประเทศอยู่ภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช. อยู่ภายใต้สภาวะที่คำสั่งคณะรัฐประหารอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้สภาวะที่สื่อมวลชนถูกบังคับให้ต้องถ่ายทอดสัญญาณจาก คสช. จนทุกช่องต้องถ่ายทอดคนคนหนึ่งพูดอยู่คนเดียว อยู่ภายใต้สภาวะที่ประชาชนที่ท้าทายอำนาจ คสช. ถูกปรับทัศนคติในค่ายทหาร ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ภายใต้บรรยากาศนั้นประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนว่าเราจะปลดอาวุธทางกฎหมายของ คสช. จนสุดท้ายมีประชาชนมาร่วมลงชื่อมากกว่า 13,000 คน
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เราได้ยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภา จากนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกดองไว้เป็นเวลาสองปีเศษกระทั่งรัฐสภาเพิ่งติดต่อมาว่าร่างฉบับนี้ได้ถุกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว ซึ่งก็หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อไปปรับแก้ในรายละเอียดต่อไป และหวังว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นวันแรกที่เราปักหมุดการรื้อมรดก คสช. ซึ่งอันที่จริงไม่ได้มีอยู่แค่ประกาศคำสั่งที่เราเสนอให้ยกเลิกแต่ไปซ่อนอยู่ในกฎหมายอื่นๆ ด้วย และจากนี้ต้องจับตาต่อไปว่าในการพิจารณาจะมีความพยายามประวิงเวลาเลื่อนวาระออกไปอีกหรือไม่
หลังอ่านแถลงการณ์จบ ชินวรณ์ บุญเกียรติ ในรองประธานวิปฯ รัฐบาลเป็นตัวแทนวิปรัฐบาลออกมารับหนังสือจากตัวแทนภาคประชาชน ชินวรณ์ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้มีการบรรจุระเบียบวาระต่างๆ ไว้หมดแล้ว การประชุมจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับโดยร่างของภาคประชาชนฉบับนี้อยู่ในญัตติที่ 5.6 จึงต้องดำเนินการประชุมไปตามวาระ จึงไม่อาจรับปากได้ว่าร่างนี้จะเข้าสภาทันในวันพรุ่งนี้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าร่างได้ถูกบรรจุในวาระการประชุมแล้วและจะมีการพิจารณาแน่นอน
ขณะที่ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านระบุว่า ทางพรรคฝ่ายค้านยินดีร่วมผลักดันร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่ แต่ดูจากวาระที่มีการบรรจุของฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะไม่ทันการพิจารณาในวันพรุ่งนี้หรือไม่ แต่หากพิจารณาไม่ทันสัปดาห์นี้ก็จะไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า