แก้รัฐธรรมนูญภาคสาม: 3 เหตุผล “รื้อ” ที่มาองค์กรอิสระ

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ หนึ่งกลไกในการสืบทอดอำนาจ คสช. อย่างแท้จริง ที่ชัดเจนคือ ที่มาของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งในกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ และศาลรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากกลไกของ คสช. แทบทั้งสิ้น ทำให้หล้กการตั้งต้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่คาดหวังว่าองค์กรอิสระเหล่านี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลสูญสิ้นไป กลายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของเผด็จการเท่านั้น
 
จากนี้ไปคือสามเหตุผลที่ถึงเวลาแล้ว ต้องรื้อที่มาองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่อย่างเป็นธรรมและยึดโยงกับประชาชน
 
 
1. เป็นองค์กรรักษาอำนาจเผด็จการ
 
ด้วยที่มาขององค์กรอิสระทำให้ชัดเจนว่า พวกเขาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจให้กับ คสช. และเครือข่ายชนชั้นนำ ดังจะเห็นได้ว่า การกระทำต่างๆ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญ อย่างชัดเจน แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระแล้วกลับทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูกได้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของพลเอกประยุทธ์ที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยโดยอ้างว่าเป็นเรื่องระหว่าง ครม. กับพระมหากษัตริย์ หรือ กรณีการพักบ้านทหารของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ารับประโยชน์จากราชการเป็นพิเศษซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะระเบียบกองทัพบกให้ทำได้
 
2. ทำลายฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้ง
 
หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า องค์กรอิสระได้กลายเป็นตัวแทนชนชั้นนำจารีตในการต่อสู้กับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ด้วยการนำตุลาการเข้ามามีบทบาทในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ จนนำไปสู่การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองหลายร้อยชีวิตที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
 
นอกจากนี้ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระเหล่านี้บางคน ยังอยู่คงกระพันดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานข้ามทศวรรษ และยังคงทำหน้าที่ทำลายฝ่ายการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาล คสช. อย่างต่อเนื่อง
 
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงไม่พ้นศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นเคย โดยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้มีพรรคการเมืองถูกไปจำนวนสองพรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยลดอำนาจ กมธ.ของรัฐสภา ในการเรียกตัวบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง ทำให้เครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์ของฝ่ายค้านลดลงไป
 
3. สร้างความขัดแย้งทางการเมือง
 
การทำหน้าที่อย่างไม่ยึดหลักการและหลักกฎหมายอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมาขององค์กรอิสระทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมร้าวลึกลงเรื่อยๆ จะเห็นว่า หลายครั้งการวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญที่ค้างความรู้สึกของสาธารณะมักนำไปสู่ความแตกแยกที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ได้นำมาสู่การชุมนุมที่ต่อเนื่องและยาวนานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และล่าสุดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 การวินิจฉัยให้การปราศรัยของ อานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และ รุ้ง ปนัสยา เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็อาจจะเป็นอีกคำตัดสินหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
 
ข้อเสนอเปลี่ยนระบบการสรรหาองค์กรอิสระใหม่
 
ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ของกลุ่ม Resolution เสนอกระบวนการสรรหาและที่มาองค์กรอิสระแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีตุลาการโดยตำแหน่งซึ่งมาจากการคัดเลือกของศาลจำนวนหนึ่ง และมีการเสนอชื่อจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน จำนวนเท่ากัน เพื่อให้มีทั้งผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดี และมีตัวแทนของความแตกต่างทางการเมือง โดยสุดท้ายผู้ที่ลงมติเลือก คือ ส.ส. โดยไม่ใช้เพียงแค่วิธีการ “เห็นชอบ” แต่ให้คนที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุดได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และยังต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของ ส.ส. ที่มีอยู่