ส่องนานาชาติ ทำยุทธศาสตร์อย่างไรให้เป็นประชาธิปไตย

ยาพิษร้ายตัวหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอดไส้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็คือนวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งเกิดขึ้นตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ โดยนอกจากขั้นตอนการร่างที่มีแต่คนของ คสช. และปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนแล้ว ยังมีการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนต้องแถลงนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และหากมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติและส่อทุจริต คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาได้อีกด้วย

ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ชาติอาจจะยังไม่ได้เผยพิษสงออกมาให้เห็นนักเนื่องจากผู้ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้เป็นหนึ่งในคณะผู้ร่างและ “พวกเดียวกัน” กับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลาย แต่หากวันใดที่อำนาจรัฐเปลี่ยนมือไปอยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมือง กลไกที่ออกแบบมาให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็พร้อมจะเผยพิษร้ายออกมา

ทั้งนี้ การมียุทธศาสตร์ในฐานะแม่บทใหญ่ของการพัฒนาอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้การพัฒนาสามารถเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในขณะที่ก็ยังคงความต่อเนื่องเพื่อจะได้นำพาประเทศไปสู่จุดหมายได้ อย่างไรก็ดี แม้แต่ละสังคมจะมีความจำเป็นหรือเงื่อนไขที่ต่างกันจนทำให้เนื้อหาของยุทธศาสตร์ออกมาไม่เหมือนกัน แต่การจะทำให้ยุทธศาสตร์มีประสิทธิภาพและเป็นตัวแทนของ “อนาคต” ของชาติอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงอาวุธทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้กระบวนการจัดทำนั้นเป็นประชาธิปไตยผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

แม้ยุทธศาสตร์ชาติของไทยดูจะมีภาพลักษณ์ในการสืบทอดอำนาจมากกว่า แต่ก็มีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการมียุทธศาสตร์ชาติที่เป็นประชาธิปไตย มีการตรวจสอบและทบทวนจากหลากหลายภาคส่วน และวางรากฐานสู่อนาคตอย่างแท้จริง

เอสโตเนีย : Estonia 2035

เอสโตเนียเป็นประเทศขนาดกะทัดรัดซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป แม้จะมีประชากรเพียง 1 ล้านคนเศษ ๆ และไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายนัก แต่เอสโตเนียกลับเป็นประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการการศึกษา รักษาพยาบาลถ้วนหน้า และให้วันลาคลอดมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OCED โดยปัจจัยหลักของการพัฒนาของเอสโตเนียก็คือความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ในปี 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ Estonia 2035 ซึ่งจะวางรากฐานการพัฒนาของประเทศในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยมีหลักการพื้นฐานคือการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ และวัฒนธรรมของเอสโตเนีย ในขณะที่ต้องมีสังคมที่เปิดกว้างและหลากหลาย เป้าหมายหลักตาม Estonia 2035 นั้นจะเน้นที่คุณค่า (value-based) มากกว่ารายละเอียดโครงการพัฒนา โดยทั้งห้าด้านได้แก่ การพัฒนาประชาชนทั้งในด้านสุขภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างสังคมที่ใส่ใจและร่วมมือกัน เศรษฐกิจที่แข็งแรง มีความรับผิดชอบ และเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมถึงการบริหารงานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

กระบวนการร่างยุทธศาสตร์ Estonia 2035 นั้นใช้เวลากว่าสองปีตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2563 โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมกว่า 17,000 คน และนอกจากจะให้นักการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคมได้แสดงความเห็นแล้ว รัฐบาลเอสโตเนียยังมีการเปิดเวทีทั่วประเทศกว่า 30 ครั้งเพื่อรับฟังไอเดียใหม่ ๆ จากประชาชน รวมถึงการเปิดช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งการแจกแบบฟอร์มตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความเห็นที่หลากหลายและครอบคลุมมากที่สุด

หลังจากการประกาศใช้แล้ว Estonia 2035 ยังคงวางกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนไว้อย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์บังคับให้ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสาธารณชน โดยจะมีการกำหนดหัวข้อ รูปแบบ และกลุ่มเป้าหมายให้ต่างกันไปในแต่ละปี สำหรับในปี 2563 รัฐบาลเลือกที่จะเข้าไปคุยกับเยาวชนเป็นกลุ่มหลัก ผ่านความร่วมมือกับสมาคมครูเอสโตเนีย สภาเยาวชนแห่งชาติเอสโตเนีย และสภาเยาวชนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจทัศนคติของเยาวชนเอสโตเนีย และความคาดหวังที่พวกเขามีต่ออนาคต เยาวชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ออกแบบมาให้ประเทศเหมือนกับการเดินทางที่มีเป้าหมาย หลังจากนั้นผลก็จะถูกส่งเข้าไปให้รัฐบาลรวมถึงครูก็สามารถนำผลต่าง ๆ มาเป็นหัวข้อในการพูดคุยในห้องเรียนได้อีกด้วย

Estonia 2035 มีความเกี่ยวกันกันอย่างลึกซึ้งกับการกำหนดงบประมาณของประเทศ โครงการพัฒนาในภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาฉบับนี้โดยมีการบังคับให้หน่วยงานรัฐต้องพูดคุยกับรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนา ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะต้องประชุมกันทุกปีเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาตาม Estonia 2035 รวมถึงการหาหนทางแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปก่อนที่จะทำแผนงานออกมาเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นงบประมาณได้

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียต่อรัฐสภาระบุว่า “Estonia 2035 จะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างที่เราจะต้องเผชิญในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่ผมมั่นใจว่าหลักการที่เราเห็นพ้องกันในยุทธศาสตร์การพัฒนานี้จะทำให้เรายังสามารถเป็นตัวเองและเป็นประเทศได้แม้ในยามที่ยากลำบากที่สุด”

ไอร์แลนด์ : Project Ireland 2040

แผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะสิ้นสุดในอีก 20 ปีไม่ได้มีแค่แผนยุทธศาสตร์ชาติของไทยเท่านั้น ไอร์แลนด์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวของตนเองภายใต้ชื่อว่า Project Ireland 2040 โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีการคาดการณ์กันว่าจะสูงขึ้นถึงหนึ่งล้านคนซึ่งจะเป็นเกิดความจำเป็นในการออกแบบโครงสร้างทางสังคมใหม่ สร้างที่อยู่อาศัยและงานมารองรับประชากรมากขึ้น

Project Ireland 2040 ประกอบไปด้วยสองแผนยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ กรอบการวางแผนแห่งชาติ (National Planning Framework) ซึ่งทำหน้าที่ในการวางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า และแผนพัฒนาแห่งชาติ 2021-2030 (National Development Plan 2021-2030) ซึ่งจะนำวิสัยทัศน์มาเปลี่ยนเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาในระยะครึ่งแรกของแผนการพัฒนาทั้งหมด

ในการร่างกรอบการวางแผนแห่งชาตินั้นมีขั้นตอนการมีส่วนร่วมจากหลาย ๆ ภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสองช่วง ทั้งก่อนการร่างและหลังจากที่ร่างเสร็จแล้วเพื่อนำความเห็นไปปรับแก้ มีการจัดเวิร์คชอร์ปกว่า 40 ครั้งในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเสนอความเห็นได้ รวมถึงมีการจัดทำรายงานหลายฉบับโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์และทิศทางการพัฒนาที่สำคัญในอนาคต ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถค้นหาได้อย่างง่ายดายผ่านเว็บไซต์ของรัฐที่มีการเปิดเผยข้อมูลทุกส่วน

ในส่วนของแผนพัฒนาแห่งชาตินั้นก็มีขั้นตอนการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการจัดการประชุมทุกปีโดยสำนักงานการลงทุนแห่งชาติ สำหรับในปี 2564 ธีมหลักของการประชุมก็คือเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 187 คนเข้าร่วม ตั้งแต่ข้าราขการ นักวิชาการ ไปจนถึงนักวางแผนนโยบาย เพื่อวางแผนไปสู่การลงทุนตามเทรนด์แห่งอนาคต

นอกจากการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาแล้ว ประชาชนทั่วไปที่สนใจความคืบหน้าก็สามารถติดตามโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินตาม Project Ireland 2040 ได้ทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ที่ออกแบบมาให้เหมือนกับแผนที่ซึ่งแสดงสถานที่และรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ได้ โดยจะมีการอัปเดตข้อมูลและเผยแพร่ความคืบหน้าในทุกเดือน