3 ปัญหาทางกฎหมาย ใน “วิธีวินิจฉัย” ก่อนสั่ง อานนท์-ไมค์-รุ้ง ล้มล้างการปกครองฯ

 

10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิฉัยให้การปราศรัยของ อานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และ รุ้ง ปนัสยา เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยของศาลในส่วนที่เป็นคำสั่ง ระบุว่า
"การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2" 
ในคำวินิจฉัยฉบับนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ชัดว่า ลำพังการนำเสนอข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ที่มีข้อเสนอในรายละเอียด 10 ข้อ ซึ่งประกาศบนเวทีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั้นมีความหมายเป็นการ "ล้มล้างการปกครองฯ" โดยทันทีด้วยเนื้อหาของข้อเสนอเหล่านั้น แต่ศาลได้อาศัยข้อเท็จจริงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมตลอดเวลาหนึ่งปีกว่ามาประกอบกัน ตัวอย่างเช่น "ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย" "มีลักษณะของการปลุกระดมและใชข้อมูลที่เป็นเท็จ" "มีลักษณะที่อก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม" "ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น" "มีการจัดตั้งในลักษณะของเครือข่ายสำหรับการใช้ความารุนแรงต่อเนื่อง" เป็นต้น
และแม้ประกอบกับข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้แล้วก็ยังไม่ถึงขนาดเป็นการ "ล้มล้างการปกครองฯ" ได้ในทางข้อเท็จจริง ศาลเพียงวิเคราะห์ว่า ทั้งพฤติการณ์และเหตการณ์ต่อเนื่องจากการปราศรัยของทั้งอานนท์, ไมค์ และรุ้ง นั้น "แสดงให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจ ว่า การใช้สิทธิเสรีภาพมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองฯ" 
แต่ก่อนจะมาถึงข้อวิเคราะห์ และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ วิธีพิจารณาคดีและทำคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสงสัยและปัญหาในทางกฎหมายที่ต้องพิจารณา ดังนี้
1. ใช้ข้อเท็จจริงนอกสำนวน โดยไม่ให้โอกาสโต้แย้ง
ตามหลักวิธีพิจารณาคดีของศาลโดยทั่วไป ศาลจะต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีเท่านั้น จะคิดเอาเอง รู้เอาเอง หรือไปดูข่าวแล้วเอามาประกอบการตัดสินใจไม่ได้ แม้ว่าการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ "ระบบไต่สวน" ที่ศาลมีอำนาจค้นหาข้อเท็จจริงได้เองจนกว่าศาลจะพึงพอใจ แต่ก็ต้องเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนต่อหน้าคู่ความทุกฝ่าย เช่น การเรียกพยานมาไต่สวนโดยให้ทุกฝ่ายเข้ารับฟังและคัดค้านได้ หรือการเรียกเอกสารเข้ามาในสำนวนโดยให้ทุกฝ่ายเข้าถึงเอกสารและคัดค้านได้เช่นกัน ศาลจะค้นคว้าข้อเท็จจริงเพิ่มเองและไม่ใส่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีโดยไม่ให้คู่ความล่วงรู้ และนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาใช้วินิจฉัยคดีไม่ได้
ในคดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ในขณะนั้นยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับทั้งอานนท์ ไมค์ และรุ้ง แม้ว่าฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งสามคนจะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนตัวเอง และพยานฝ่ายตัวเอง แต่ศาลก็ปฏิเสธ ฝ่ายผู้ถูกร้องจึงได้แต่เพียงโต้แย้งโดยการทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นเอกสารยื่นต่อศาลเท่านั้น ศาลจึงต้องผูกพันที่จะวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนเท่านั้น
ซึ่งทั้งคำร้อง และคำชี้แจงข้อกล่าวหา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ระบุว่า การชุมนุมและการปราศรัยของผู้ถูกร้อง "ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย" "มีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ" "มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม" "ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น" "มีการจัดตั้งในลักษณะของเครือข่ายสำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง" ตามที่ศาลยกมาสรุปไว้ในคำวินิจฉัย 
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ศาลได้อาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ที่อัยการสูงสุด, ผู้กำกับการสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, เลขาธิการสภาความมั่นคง, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่พยานหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆ ส่งให้ศาลนั้น กลับไม่เคยถูกส่งให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบถึงการมีอยู่ หรือให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสโต้แย้งข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งในคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ศาลที่อ้างถึงทั้งหลายนั้นได้มาจากหน่วยงานเหล่านี้หรือไม่ และศาลใช้ดุลพินิจช่างน้ำหนักอย่างไรจึงเชื่อว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นความจริง ซึ่งต่างจากการเขียนคำพิพากษาของศาลในคดีทั่วไป ที่เมื่อหยิบยกข้อเท็จจริงใดมาเป็นหลักในการวินิจฉัยก็จะอ้างถึงที่มาของข้อเท็จจริงนั้นและเหตุผลที่ให้ความเชื่อถือไว้ประกอบด้วยเสมอ
นอกจากนี้ ในพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 27 ระบุว่า
"มาตรา 27 การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลมีอํานาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟัง พยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามรับฟังไว้โดยเฉพาะ ไม่ว่าการไต่สวน พยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกําหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่กรณีในการนําสืบพยานหลักฐานหักล้างแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น"
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลยกขึ้นมาประกอบคำวินิจฉัยดังตัวอย่างข้างต้น ไม่เคยปรากฏในสำนวนให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสได้โต้แย้ง หรือนำสืบพยานหลักฐานหักล้าง การที่ศาลหยิบยกมาใช้วินิจฉัยคดีจึงเป็นวิธีการพิจารณาคดีที่ขัดต่อมาตรา 27 ด้วย
2. สั่งเกินคำขอ กระทบบุคคลภายนอก ทั้งที่เคยไม่รับคำร้อง
ในคดีนี้คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคำขอให้พิจารณาวินิจฉัย ระบุว่า "ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องกับพวกไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา 49"
คำว่า "ผู้ถูกร้องกับพวก" ที่ปรากฏในคำขอไม่ได้หมายความถึงใครก็ตามที่เป็นพวกหรือทำงานร่วมกับผู้ถูกร้อง แต่เนื่องจากผู้ถูกร้องในคดีนี้เบื้องต้นมี 8 คน คำว่า "ผู้ถูกร้องกับพวก" จึงหมายถึงบุคคลทั้ง 8 คนตามที่ถูกร้องมา ได้แก่ อานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์, รุ้ง ปนัสยา, เพนกวิน พริษฐ์, อั๋ว จุฑาทิพย์, น้องหมี สิริพัชระ, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ซัน อาทิตยา ซึ่งเป็นผู้ปราศัยในการชุมนุมในประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำว่า "การกระทำดังกล่าว" ตามคำร้องหมายถึงการปราศรัยในการชุมนุมทั้งหมด 6 ครั้ง ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องพาดพิงถึง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องมาพิจารณาแล้ว ใช้เวลาเพียง 13 วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่ง "รับคำร้อง" ในวันที่ 16 กันยายน 2564 โดยสั่งรับคำร้องเฉพาะส่วนที่เป็นการปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพียงครั้งเดียว และรับคำร้องเฉพาะกรณีของผู้ถูกร้องสามคน คือ อานนท์ ไมค์ รุ้ง เท่านั้น ส่วนที่เหลือศาลรัฐธรรมนูญ "ไม่รับไว้วินิจฉัย" โดยไม่ได้ระบุเหตุผลที่ชัดเจน และไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบว่า เหตุที่ไม่รับข้อเท็จจริงส่วนดังกล่าวไว้วินิจฉัยคืออะไร เมื่อไม่ได้รับไว้วินิจฉัยก็คือศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นแล้วว่า ส่วนที่ไม่รับไว้นั้น "ไม่มีมูล" หรือ "ไม่เกี่ยวข้อง" กับข้อกล่าวหาในคดีนี้ 
ดังนั้น คดีนี้มีส่วนที่ศาลต้องวินิจฉัยและออกคำสั่งเกี่ยวข้องเพียงแค่คำปราศรัยของบุคคลสามคนในการชุมนุมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมอีกอย่างน้อยห้าครั้ง และบุคคลอีกห้าคน ศาลไม่เคยรับเข้ามาในคดี คำว่า  "ผู้ถูกร้องกับพวก" ตามคำขอ จึงหมายถึงเพียงแค่ อานนท์, ไมค์ และรุ้ง สามคนเท่านั้น และคำว่า "การกระทำดังกล่าว" จึงหมายถึงเพียงแค่การชุมนุมและปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เท่านั้น
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญทำคำวินิจฉัยและทำคำสั่งออกมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 กลับกล่าวไปถึงว่า ผู้ถูกร้องทั้งสาม "มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ…" โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า การกระทำซ้ำนั้นหมายถึงการปราศรัยในการชุมนุมครั้งใดบ้าง รวมถึงการชุมนุมที่ศาลเคยสั่ง "ไม่รับไว้วินิจฉัย" ทั้งห้าครั้งด้วยหรือไม่ และการกระทำเป็นขบวนการนั้นมีบุคคลใดบ้าง รวมถึงบุคคลที่ศาลเคยสั่ง "ไม่รับไว้วินิจฉัย" อีกห้าคนด้วยหรือไม่ และเมื่อออกคำสั่งกลับครอบคลุมสั่งไปยัง ผู้ถูกร้องทั้งสาม "รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย" ด้วย และการกระทำในอนาคตด้วย
จึงชัดเจนว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้น "สั่งเกินคำขอ" และสั่งให้มีผลรวมไปถึงบุคคลภายนอกคดีด้วย โดยไม่ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง
ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ไม่ได้ระบุอำนาจในการทำคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไว้ให้ชัดเจนว่า จะสั่งเกินไปจากคำขอได้หรือไม่ แต่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มีบทบัญญัติชัดเจนในมาตรา 142 ว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่…" ซึ่งหลักการนี้ใช้เช่นเดียวกันในการดำเนินคดีอาญา คดีปกครอง และเป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาคดีในศาลไทยทุกแห่งด้วย
แม้จะไม่ชัดเจนว่า การ "สั่งเกินคำขอ" ของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยถูกองค์กรใดตรวจสอบมาก่อน แต่การพิจารณาคดีและการออกคำสั่งในคดีนี้ทำให้บุคคลภายนอกคดีเสียสิทธิไปด้วย เพราะหากศาลต้องการจะออกคำสั่งให้ครอบคลุมถึงการชุมนุมและการปราศรัยที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลก็ควรจะรับคำร้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ และการชุมนุมครั้งอื่นๆ มาด้วยตั้งแต่ต้น หรือควรจะวางแนวทางการไต่สวนหาข้อเท็จจริงให้กว้างขวางครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีสิทธิเข้ามาในคดี และมีโอกาสแสดงเหตุผลแสดงพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ศาลตัดข้อเท็จจริงและบุคคลไม่ให้เข้ามามีส่วนในการพิจารณาคดีตั้งแต่ต้น พิจารณาคดีแบบรวบรัดไม่ไต่สวนพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์คนอื่นๆ และเมื่อออกคำสั่งกลับสั่งให้มีผลไปยังบุคคลอื่นๆ โดยกว้างด้วย 
3. วินิจฉัย "เจตนา" โดยขาดองค์ประกอบของการกระทำ
คดีส่วนใหญ่ที่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคดีเกี่ยวกับการวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือการวินิจฉัยคุณสมบัตินักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ใช่คดีการตัดสินว่า บุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนนต่อกฎหมายหรือไม่ และคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทยว่า "มีความผิด" มาก่อน จึงไม่มีบรรทัดฐานและแนวทางการวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยการกระทำของบุคคลโดยอาศัยองค์ประกอบใดบ้าง
เมื่อเทียบเคียงกับหลักการวินิจฉัยคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายมาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ กระทำโดยมีเจตนาและการกระทำนั้นครบ "องค์ประกอบ" ของความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งสองอย่างประกอบกัน หากเป็นการกระทำที่มีเจตนา แต่การกระทำไม่ครบองค์ประกอบภายนอก ก็ไม่สามารถลงโทษในความผิดนั้นได้ ตัวอย่างเช่น หากตั้งใจจะฆ่าคน แต่ไม่มีอาวุธจึงวิ่งเข้าไปใช้มือต่อยคน ซึ่งเมื่อต่อยแล้วคนที่ถูกต่อยก็ไม่เป็นอะไร แม้เจตนาจะต้องการ "ฆ่า" แต่การกระทำที่ทำลงไปไม่ใช่การฆ่า และไม่อาจทำให้ใครตายได้ ก็ไม่อาจลงโทษบุคคลนั้นฐาน "ฆ่าคนตาย" ได้ จะลงโทษได้ก็เพียงฐาน "ทำร้ายร่างกาย" หรือ "พยายามฆ่า" เท่านั้น
การวินิจฉัยว่าบุคคลใด "ล้มล้างการปกครองฯ" หรือไม่ จึงต้องอาศัยทั้งเจตนาของบุคคลนั้น และ "องค์ประกอบ" ของการกระทำประกอบกัน 
ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ได้สรุปคำปราศรัยของผู้ถูกร้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ศาลใช้ในการวินิจฉัยมาไว้ด้วย โดยถ้อยคำของอานนท์ที่ศาลยกมานั้น ส่วนหนึ่งกล่าวว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้พระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวทางการเมืองต่อไปนี้ต้องถูกตั้งคำถามดังๆ ต่อสาธารณะ…" และถ้อยคำของไมค์ ภาณุพงศ์ ที่ศาลยกมา ส่วนหนึ่งกล่าวว่า "เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือ ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามาระอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้" จึงชัดเจนว่า จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ศาลยกมานั้นต้องการให้มีพระมหากษัตริย์อยู่ในระบอบการปกครอง ข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบของการล้มล้างการปกครองฯ จึงไม่มีอยู่
และในคำวินิจฉัยของศาลเอง ก็ระบุด้วยว่า “หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เท่ากับศาลเห็นแล้วว่า ขณะเขียนคำวินิจฉัยนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่มีครบองค์ประกอบที่จะเป็นการ "ล้มล้างการปกครองฯ" ได้ แต่เพียงศาลคาดการณ์ไว้ว่า หากยังคงดำเนินการต่อไปก็ "ไม่ไกลเกินเหตุ" 
ในการพิจารณาคดีนี้ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏและศาลยกมาไว้ในคำวินิจฉัยไม่ครบองค์ประกอบของการล้มล้างการปกครองฯ แต่ศาลก็ใช้บริบทแวดล้อมที่เกี่ยวกับการชุมนุมหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงไม่ปรากฏที่มา ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ 1. เพื่ออธิบาย "มูลเหตุจูงใจ" ของผู้ถูกร้องว่า "มีเจตนาซ่อนเร้น" ท่ีจะล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์ของศาลหรือไม่ แต่กระบวนการให้เหตุผลของศาลได้อธิบายโดยเน้นไปที่การวิเคราะห์เจตนาซ่อนเร้นของผู้ถูกร้องในการกล่าวปราศรัย ซึ่งศาลมองว่า เจตนามีมากกว่าคำพูดที่กล่าวออกมา แต่อย่างไรก็ดี ศาลจะอาศัยลำพังเพียงการวิเคราะห์ "เจตนา" มาตัดสินว่า บุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยที่การกระทำที่เกิดขึ้นและปรากฏเป็นข้อเท็จจริงต่อศาลนั้นไม่ครบองค์ประกอบ ย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง