เสียงเพื่อ #สมรสเท่าเทียม : ลูกหมี-ซัน รักทางไกล ไม่ได้ขอสิทธิมากกว่าคู่รัก ชาย-หญิง

ภาพลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย คือ “สวรรค์ของ LGBTQ (ผู้มีความหลากหลายทางเพศ)” ส่วนหนึ่งเพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยบางส่วนสามารถแสดงออกถึงเพศสภาวะและความเป็นตัวเองได้ จนถึงขั้นมีการประกวดนางงามสำหรับผู้หญิงข้ามเพศเป็นจริงเป็นจัง อีกส่วนหนึ่งคือสถานบันเทิงในประเทศไทยบางแห่งที่ต้อนรับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ ชาติใดก็สามารถมาปลดปล่อยและซึมซับความสนุกของตนเองได้
แต่ประเทศไทย เป็น “สวรรค์ของ LGBTQ” จริงๆ หรือ เพราะสิทธิในการสร้างครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ #สมรสเท่าเทียม ยังไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แม้จะมี ส.ส. พยายามเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ค้างคาอยู่ในระเบียบวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว นอกจากเส้นทางต่อสู้ในสภา เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้งและพวงเพชร เหมคำ คู่รักที่ไม่สามารถจดทะเบียนตามกฎหมายไทยได้ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเคาะว่าประมวลกฎหมายแพ่งฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ชวนรับฟังเสียงจาก “ลูกหมี” และ “ซัน” ผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะไร้กฎหมายรับรอง #สมรสเท่าเทียม ที่จะมาแชร์เรื่องราว มุมมอง สิ่งที่อยากบอกกับคนอื่นๆ และข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาอันเป็นผู้แทนประชาชน
รักทางไกล ไต้หวัน และความหวังต่อ  #สมรสเท่าเทียม
ลูกหมี ปัจจุบันประกอบอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ในองค์กรเอกชน ขณะที่ซัน เป็นนักเรียนไทยในต่างประเทศ ได้วีซ่าหางานที่ไต้หวัน และทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย ทั้งคู่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง แต่มีมุมมองต่อเพศสภาวะของตนเองว่าเป็นเควียร์ ซันและลูกหมีเล่าว่า รู้จักกันในฐานะเพื่อนมาอยู่ก่อนแล้ว แต่เพิ่งมาคบกันปีกว่า ช่วงเวลาที่คบหากันคาบเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 การสื่อสารของทั้งสองจึงทำได้ผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลล์เท่านั้น ซันเองก็ยังไม่มีโอกาสกลับมาประเทศไทย หนทางที่คนทั้งสองจะได้เจอกันในสถานการณ์แบบนี้ จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก
จากประสบการณ์ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในไต้หวัน และได้ร่วมขบวนไพร์ดพาเหรด ซันแชร์เรื่องราวความเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในไต้หวันซึ่งย้อนกลับไปมีผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสมรส โดยใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้ว่าการจำกัดไม่ให้เพศเดียวกันสมรสขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การทำประชามติ
น่าเศร้าที่ฝ่ายสนับสนุนให้แก้กฎหมายแพ่งเพื่อรับรองการสมรสสำหรับทุกเพศเป็นฝ่ายแพ้ในศึกประชามติระดับชาติ แต่ทางรัฐบาลก็ยังผลักดันให้มีกฎหมายที่รับรองสิทธิสมรสสำหรับเพศหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซันเล่าต่อด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน ไม่ได้เกิดจากแค่การขับเคลื่อนโดย LGBTQ เท่านั้น แต่เกิดจากการผลักดันโดยชาวไต้หวันหลายๆ กลุ่มด้วยกัน แม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่ LGBTQ ก็เข้ามามีส่วนผลักดันในเรื่องนี้
ซันและลูกหมีเองก็มีความคิดอยู่บ้างว่าจะไปจดทะเบียนสมรสในไต้หวัน แต่กฎหมายไต้หวันยังรับรองสิทธิไม่เท่ากับคู่สมรสชาย-หญิง มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ในฐานะที่เป็นนักศึกษาในไต้หวัน ซันแชร์ข้อมูลให้ฟังว่า กรณีของคนต่างชาติที่จะจดทะเบียนในไต้หวัน ต้องมาจากประเทศที่มีกฎหมายรับรองการสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองตรงนี้ ดังนั้น ทั้งสองคนจึงยังไม่สามารถไปจดทะเบียนได้ทั้งที่ไทยและไต้หวัน แต่ในไต้หวัน ก็มีความพยายามผลักดันเพื่อปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายเพื่อให้ LGBTQ มีสิทธิที่เท่าเทียมกับคู่รักเพศตรงข้าม
ถึงอย่างนั้น ลูกหมีและซันก็ยังคาดหวังให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่รับรองการสมรสอย่างเท่าเทียม จุดที่ทั้งคู่มองว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญ คือประเด็นเรื่องความยินยอมในการรักษาพยาบาล ลูกหมีเห็นว่า เมื่อไม่มีกฎหมายมารับรองการแต่งงาน ทำให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลสำหรับคู่รักเพศหลากหลาย ยังผูกติดอยู่กับครอบครัวตามกฎหมาย ซึ่งบางทีพอใช้ชีวิตเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัว แต่อยู่กับคนรัก กลายเป็นว่าพอมีเรื่องฉุกเฉิน เจ็บไข้ได้ป่วย คนรักเราที่อยู่ใกล้ตัวกลับไม่สามารถให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลได้ แต่ต้องรอความยินยอมจากคนที่อยู่ไกลกว่า
สภาเมินเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเพศหลากหลาย = เมินเฉยต่อปัญหาสิทธิประชาชน
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ช่วงกลางปี 2563 ประเด็น #สมรสเท่าเทียม ก็ฮือฮาขึ้นมาเป็นกระแสสังคมอีกครั้ง เมื่อมี ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย ทุกเพศสามารถสมรสได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
แต่ร่างกฎหมายที่ฟาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเสนอ ก็ค้างคาอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ลูกหมีแชร์ความคิดเห็นว่า “ควรเลื่อนการพิจารณาให้เร็วขึ้น เพราะอย่างที่ทราบว่าเรื่องนี้ค้างอยู่นานมากแล้ว” ด้านซันเสริมว่า “เรื่องสิทธิความเท่าเทียมของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถรอหรือผัดต่อไปได้ และไม่ว่าเราจะพยายามพัฒนาสังคมให้เกิดความเท่าเทียมขนาดไหน แต่ถ้าปราศจากความเท่าเทียมทางเพศ เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าความเท่าเทียมที่สร้างขึ้นเป็นความเท่าเทียมที่จริงแท้” 
ซันแสดงความเห็นถึงบรรดาส.ส. ว่า “สำหรับส.ส. และพรรคการเมือง เราหวังว่าท่านจะไม่เห็นชุมชนชาว LGBTQ เป็นแค่เครื่องมือหาเสียง การเมินเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ ก็เท่ากับว่าท่านได้เมินเฉยต่อปัญหาเรื่องสิทธิของประชาชน เป็นการหักหลังความไว้วางใจประชาชน และบกพร่องต่อหน้าที่ หวังว่าท่านจะระลึกไว้อยู่เสมอว่าในคะแนนเสียงที่โหวตให้ท่านเข้ามานั้น มีเสียงของชาว LGBTQ รวมอยู่ด้วย” 
ซันระบุว่า หากมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็อาจจะเลือกพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ต้องดูนโยบายอื่นประกอบด้วย เช่น นโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
นอกจากความเคลื่อนไหวเรื่อง #สมรสเท่าเทียม ที่ปรากฏในกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวจากศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะมีมติในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ลูกหมีและซันกล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า “ไม่คาดหวังเท่าไหร่ แต่ก็ยังคาดหวัง”  
ซันส่งเสียงที่อยากบอกไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า “เรารู้ว่าการผลักดันเพื่อสิทธิของเราจะไม่สำเร็จในวันพรุ่งนี้ หรือเร็วๆ นี้ แต่เราหวังว่าจะได้ยินข่าวดีในวันที่ 17 และหวังว่าศาลจะคุ้มครอง LGBTQ จากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเพศ”
เสียงที่อยากบอกคนในสังคม ในวันที่ไทยยังไร้กฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียม
ถึงแม้ว่าเพดานของการพูดคุยเรื่อง #สมรสเท่าเทียม จะขยับขึ้นมากกว่าในอดีต แต่อคติและความไม่เข้าใจของคนในสังคมที่มีต่อเพศหลากหลาย ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ้างทั้งในโลกกายภาพและในสื่อสังคมออนไลน์ ลูกหมีแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอจากการที่เปิดเผยรสนิยมของตนเองให้ฟังว่า “ตั้งแต่ที่เราเปิดตัวว่าชอบผู้หญิง คำถามหนึ่งที่เราได้ยินมาตลอดคือก็อยู่เป็นเพื่อนกันไป อย่าไปหวังมาก มันไม่ยั่งยืน หรืออะไรแบบ ถ้าอนาคตเจอผู้ชายดีๆ ก็อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ หรือแม้แต่ถามเราว่า 'โรค' นี้รักษาได้ไหม ทำไมถึงชอบผู้หญิงล่ะ  คำตอบมันก็ง่ายๆ เลย มันก็เหมือนกับที่คนที่ชอบเพศตรงข้าม ก็แค่ชอบเพศตรงข้ามกับตัวเอง” 
อีกหนึ่งวลีที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจต่อเพศหลากหลาย ‘นอนกับผู้ชายสักครั้งก็หายเอง’ ลูกหมีแสดงความเห็นต่อวลีทำนองนี้ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ถ้าอย่างนั้นเราอยากถาม ถ้าเป็นคุณที่ชอบเพศตรงข้ามและไปทำอะไรกับเพศเดียวกัน จะเปลี่ยนมาชอบเพศเดียวกันไหม ก็คงไม่”
ลูกหมีกล่าวต่อว่า “เราคิดว่ามันมีทั้งคนที่เข้าใจและคนที่ไม่เข้าใจ คนที่เข้าใจก็คงจะเข้าใจ หรือไม่อย่างนั้นก็คงพยายามเข้าใจจนได้ ส่วนคนที่ไม่เข้าใจ ต่อให้พยายามอธิบายก็คงจะไม่เข้าใจต่อไป แต่อย่างไร กฎหมายก็จะทำให้สิ่งนี้เป็นรูปธรรมขึ้น อย่างน้อยในเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ควรมีควรได้ ในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน” 
ด้านซัน นักศึกษาไทยในไต้หวันเสริมว่า “LGBTQ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาภายในไม่กี่ปีนี้ แต่ดำรงอยู่มานานในสถานะของคนที่ถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบ จนกระทั่งปัจจุบันสังคมตระหนักรู้ถึงตัวตนของ LGBTQ มากขึ้น สมรสเท่าเทียมจึงสำคัญ เพื่อที่เราจะได้เข้าถึงสิทธิอย่างคู่สมรสชาย-หญิง ซึ่งเป็นสิทธิที่เราควรจะได้ แต่ไม่ได้เพราะถูกกีดกันจากการที่ตัวตนของเราไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมและแนวความคิดเก่าๆ สมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นการทำให้ LGBTQ มีสิทธิเหนือคู่สมรสชาย-หญิงแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่จะเป็นหลักประกันให้เราได้รับสิทธิที่เราพึงได้เท่านั้น”
ซันกล่าวทิ้งท้ายว่า “การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมและความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องจำเพาะ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ลำบากเพื่อออกมาเรียกร้องให้แก่ผู้ที่ลำบาก คนที่ไม่ใช่ LGBTQ หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ LGBTQ ก็สามารถออกมาเรียกร้องเพื่อชาว LGBTQ ได้ เพราะการออกมามีส่วนร่วมของคุณ คือการที่คุณออกมาแสดงจุดยืนว่า คุณไม่เห็นด้วยต่อความเหลื่อมล้ำ คุณไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่คุณกำลังทำเพื่อรักษาหัวใจของประชาธิปไตย ที่ไม่มีใครควรถูกเลือกปฏิบัติด้วยเพศสภาพ”