แก้รัฐธรรมนูญภาคสาม: วิธีแก้ปัญหา “ตุลาการภิวัฒน์” ตามฉบับ Resolution

ในรอบทศวรรษการเมืองไทย "ตุลาการภิวัฒน์" คือ ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง กล่าวคือ เมื่อศาลที่ควรจะทำหน้าที่ในการยุติข้อพิพาทได้ขยายบทบาทของตัวเองเข้ามาเป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองจนท้ายที่สุดได้นำไปสู่ข้อพิพาทหรือความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งหนึ่งในสถาบันตุลาการที่มีบทบาทเช่นนั้น คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าย้อนดูตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา จะเห็นว่า การตัดสินพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าเป็นการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพื่อใช้เป็นเหตุในการทำรัฐประหาร หรือ การยุบพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นรัฐบาล รวมถึงการปลดนายกรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 2 คน จนทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมีลักษณะบานปลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารในปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกจากระบอบของคณะรัฐประหาร หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นเกราะคุ้มกันให้กับคณะรัฐประหาร และในขณะเดียวกันก็เป็นดาบไว้ค่อยห้ำหั่นศัตรูทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ การยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม
ที่ผ่านมา ภาคประชาชนมีความพยายามจะจัดการกับปัญหาตุลาการภิวัฒน์และการแทรงแซงความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้ "เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ" หรือทำการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่แบบยกชุดไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ผลคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกตีตกไป จนกระทั่ง มีการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ที่เรียกกันว่า "ร่างรื้อระบอบประยุทธ์" ที่นำโดยกลุุ่ม Resolution ที่มาพร้อมกับข้อเสนอในการจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ดังนี้
1) รื้อศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน-เริ่มต้นสรรหาใหม่ยกชุด
ถ้านับตั้งแต่หลังการรัฐประหารมาจนถึงปี 2564 ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่ยึดโยงกับคณะรัฐประหาร โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ มีอย่างน้อย 2 คน ที่มาจากการแต่งตั้งในยุคคสช.-1 หรือ โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากคสช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้ง ยังมีอย่างน้อย 5 คน ที่ที่มาจากการแต่งตั้งในยุคคสช.-2 โดยมีวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคสช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกัน 
อีกทั้ง ภายใต้ระบบการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังรวมศูนย์อำนาจการสรรหาไว้ในมือบรรดาองค์กรอิสระด้วยกัน และมีการลดบทบาทของฝ่ายการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนออกจากกระบวนการสรรหา กล่าวคือ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้ความยึดโยงกับประชาชนของศาลรัฐธรรมนูญมีน้อยลง เพราะมีเพียง "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" ที่ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการสรรหา
ด้วยเหตุนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Resolution จึงมีบทบัญญัติให้มีการ "เซ็ตซีโร่" ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ และให้ดำเนินการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
2) ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาจากการเสนอชื่อของศาล พรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล
ในร่างรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Resolution ได้กำหนดกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแบบใหม่ โดยให้มีโควต้าทั้งจากสถาบันศาลจำนวนหนึ่ง และมีโควต้าจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และโควต้าจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน จำนวนเท่ากัน เพื่อให้มีทั้งผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดี และมีตัวแทนของความแตกต่างทางการเมือง ดังนี้
  • ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เสนอชื่อมาอย่างละ 3 คน รวมเป็น 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3
  • ให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีหรือประธานสภา หรือ “ฝ่ายรัฐบาล” เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3
  • ให้พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี หรือประธานสภา ซึ่งอาจทั้ง ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด และรวมถึง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กที่ไม่มีรัฐมนตรีด้วย ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ เพื่อความเข้าใจว่า "ฝ่ายค้าน" เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3
3) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.
ในร่างรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Resolution มีหัวใจสำคัญคือ การยกเลิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โดยให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. หรือ เท่ากับเป็นการเสนอการปกครองรูปแบบ "สภาเดี่ยว" และให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยยังคงมีจำนวน ส.ส. 500 คน ซึ่ง 350 คนมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ 150 คน มาจากการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ 
เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ว.แต่งตั้งฯ ที่มาจากการคสช. เป็นผู้กุมอำนาจการให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ เมื่อมีการยกเลิก ส.ว. ไปแล้ว จึงมีการโอนอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. มาเป็นของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และทำให้การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญกลับมามีความยึดโยงกับประชาชนอีกครั้ง  โดยกำหนดว่า การให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
4) ให้ประชาชนและ ส.ส. มีสิทธิยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในร่างรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Resolution ได้นำเสนอระบบใหม่ ที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ "การตรวจสอบตุลาการ" โดยกำหนดไว้ในมาตรา 193/1 ว่า ตุลาการที่มีตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด อาจถูกถอดถอนได้ถ้ามีเหตุดังต่อไปนี้
  1. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
  2. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
  3. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย
โดยกระบวนการถอดถอนจะเป็นไปตามมาตรา 193/2 เริ่มได้สองช่องทาง คือ ส.ส. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 125 คน หรือประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน และยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส. ทั้งหมด หรือประมาณ 300 คน เพื่อเสนอเรื่องไปยัง "องค์คณะพิจารณาถอดถอน"
องค์คณะพิจารณาถอดถอน ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างละ 1 คน ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาล 2 คน และ ส.ส. จากฝ่ายค้าน 2 คน หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติด้วยเสียงมากกว่าครึ่งให้ถอดถอน ตุลาการที่ถูกกล่าวหาก็พ้นจากตำแหน่ง
แต่หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติว่า "ไม่ถอดถอน" ก็ให้ส่งเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 3 ใน 4 ของ ส.ส. ทั้งหมด หรือประมาณ 375 คน ก็สามารถถอดถอนตุลาการที่ถูกกล่าวหาได้
5) ให้มีผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นการเฉพาะ
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของร่างรัฐธรรมนูญรื้อระบอบประยุทธ์ของกลุ่ม Resolution คือ การเพิ่มกลไกพิเศษของรัฐสภาขึ้น โดยเฉพาะคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 10 คน และต้องเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คน
ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอำนาจแทรกแซงการวินิจฉัยคดี มีเพียงหน้าที่และอำนาจตรรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนังกานศาล ให้ความเห็นแก่ประธานศาลต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารงาน ศึกษาวิเคราะห์คุณภาพและผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากฎหมายและแนวคำวินิจฉัย โดยให้สมาชิกคนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และอีกคนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง