โทษในกฎหมาย “หมิ่น” ทั้งระบบ มรดกคณะรัฐประหาร 6ตุลาฯ

 

คณะรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากมาย หนึ่งในนั้นได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มโทษ 12 มาตราที่เกี่ยวกับการ "หมิ่น" โดยอ้างว่า โทษเดิม "ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน" แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายสิบปีคำสั่ง ฉบับที่ 41 ในครั้งนั้นก็เป็นมรดกตกทอดไว้ในกฎหมายไทย เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์รัฐและสังคมต่อเนื่องมาทุกยุคสมัย
เหตุการณ์ล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และตามมาด้วยการสลายการชุมนุม การสังหารโหด และการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุม แต่ไม่เพียงเท่านั้นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน เมื่อพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ นำคณะทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยอ้างเหตุว่า ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ และการรัฐประหารครั้งนี้ก็เป็นจุดพลิกขั้วอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เอาระบอบทหารกลับคืนสู่ความเป็นใหญ่ ขณะที่ขบวนการนักศึกษา-กรรมกร-ชาวนา ที่กำลังเติบโตก็สะดุดหยุดลงหลังจากนั้นเป็นต้นมา
เมื่อเข้ายึดอำนาจแล้วคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ใช้อำนาจอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับคณะรัฐประหารชุดอื่นๆ โดยการออกคำสั่งหลายสิบฉบับเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายให้กลายเป็นยุคสมัยแห่งการเข้ายึดอำนาจ เริ่มตั้งแต่ คำสั่งฉบับที่ 1 ที่ให้คดีความผิดของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร นับตั้งแต่คืนวันที่ทำรัฐประหารเป็นต้นไป โดยให้ผู้พิพากษาศาลปกติทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลทหารด้วย ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ที่บังคับใช้อยู่ สั่งห้ามประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ยกเลิกพ.ร.บ.พรรคการเมือง และยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด  ควบคุมสื่อโดยกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินรายการของวิทยุโทรทัศน์ 
เพียงเวลาสิบกว่าวัน นับจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งไปรวม 47 ฉบับ ซึ่งในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่ออกคำสั่งจำนวนมากที่สุด คือ 15 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับที่ 33 ถึงฉบับที่ 47 ครอบคลุมการแก้ไขกฎหมายหลายเรื่อง เช่น ให้ยกเลิกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. สั่งผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ต้องขออนุญาตจากคณะรัฐประหารทุกราย เปลี่ยนมาตรการควบคุมและลักษณะอาวุธของทหารและตำรวจ เรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการใช้อำนาจคณะรัฐประหารเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารเพื่อการควบคุมอำนาจโดยสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ
คำสั่งคณะรัฐประหารที่ออกมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 บางฉบับก็ถูกยกเลิกภายหลังและบางฉบับก็สิ้นผลไปโดยปริยาย แต่มีฉบับหนึ่งที่ยังมีผลใช้บังคับต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไทยที่นักศึกษากฎหมายรุ่นหลังๆ ต้องร่ำเรียนและท่องจำกันโดยอาจจะไม่ทราบที่มาของตัวบทเหล่านี้ คือ คำสั่งฉบับที่ 41 ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้งหมด 12 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นทั้งหมดที่มีอยู่ โดยแก้ไขเพื่อเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นเป็นเท่าตัว 
คำสั่งฉบับที่ 41 ให้เหตุผลในการออกคำสั่งเพียงสั้นๆ ว่า ด้วยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเห็นว่า อัตราโทษในความผิดต่างๆ เหล่านี้ "ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน" จึงสมควรแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้น
เท่ากับว่า อัตราโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นที่ใช้ต่อเนื่องกันมาอีก 45 ปีหลังจากนั้น เป็นอัตราโทษที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 2519 กำหนดขึ้น เพียงเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2519 เท่านั้น แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากในอีกหลายสิบปี อัตราโทษเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไขกลายเป็นมรดกตกทอดไว้ในกฎหมายไทย มีเพียงการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นตามอัตราค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่ไม่เคยถูกปรับให้ลดกลับลงมาเป็นอัตราโทษที่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ปกติและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
หมิ่นกษัตริย์ หมิ่นประมุข เหยียดหยามประเทศชาติ เพิ่มโทษกว่าเท่าตัว
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากเดิมที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ถูกแก้ไขเพิ่มอัตราโทษจำคุกเป็น 3-15 ปี ซึ่งเพิ่มอัตราโทษขั้นต่ำขึ้นเป็นครั้งแรกของความผิดฐานนี้ และเพิ่มอัตราโทษจำคุกสูงสุดขึ้นมากกว่าเท่าตัว 
สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประมุขของรัฐต่างประเทศในมาตรา 133 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นอัตราโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนของรัฐต่างประเทศ ในมาตรา 133 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท เป็นอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นอีกสองมาตราที่กำหนดโทษขั้นต่ำขึ้นและเพิ่มอัตราโทษจำคุกสูงสุดขึ้นมากกว่าเท่าตัว
ยังมีความผิดฐานกระทำการต่อธงหรือสัญลักษณ์ของรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ สำหรับธงหรือสัญลักษณ์ของประเทศไทย เขียนไว้ในมาตรา 118 สำหรับธงหรือสัญลักษณ์ของประเทศอื่นซึ่งมีสัมพันธไมตรี เขียนไว้ในมาตรา 135 ทั้งสองมาตราแก้ไขอัตราโทษเหมือนกัน คือ เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมิ่นศาล หมิ่นเจ้าหน้าที่ หมิ่นศาสนา เพิ่มโทษทั้งหมด
สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ในมาตรา 136 เพิ่มอัตราโทษจากเดิม จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี ในมาตรา 198 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นจำคุก 1-7 ปี ปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นศาสนา หรือการกระทำต่อวัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพในทางศาสนาอันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ในมาตรา 206 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท เป็นจำคุก 1-7 ปี ปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ในมาตรา 138 ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทแต่ก็เป็นความผิดที่ใช้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐท่ามกลางความขัดแย้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองและการใช้กำลังทำร้ายกัน คำสั่งฉบับที่ 41 ก็ให้เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าหากเป็นการขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย คงอัตราโทษไว้เท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมิ่นประชาชนธรรมดา เพิ่มโทษเท่าตัว
สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ในมาตรา 326 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ในมาตรา 328 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลอื่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา ในมาตรา 393 เพิ่มอัตราโทษจากเดิมไม่มีโทษจำคุก มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ