ศาลแพ่ง นัดฟังคำสั่ง 8 ต.ค. คุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

ในวันนี้ (5 ตุลาคม 2564) หลังจากศาลมีคำสั่งรับฟ้อง หมายเลขคดีที่ พ.4639/2564 โดยโจทก์ทั้งสาม ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่มราษฎรโขง ชี มูล พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบที่สั่ง "ห้ามการชุมนุม" พร้อมทั้งยื่นคำร้องไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา 
อ่านสรุปคำฟ้องคดีนี้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5985
เวลา 15.00 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์โดยให้ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความประกอบการไต่สวนคำร้อง มีพยานเบิกความทั้งสิ้น 4 ปาก ได้แก่ โจทก์ทั้งสามคน และต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน หลังจากเบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. 
๐ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้คุมม็อบไม่ใช้คุมโรค
ยิ่งชีพ ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก ได้ระบุว่า ตั้งแต่มีการประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 15 ออกตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่เคยเห็นว่ามีการใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด19 มีแต่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง  โดยนับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1,171 คน ทั้งสิ้น 483 คดี  ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดีกับผู้แสดงออกทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นภาระของจำเลย ทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่จำเป็น ซึ่งในการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะอ้างข้อกำหนด ฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องการห้ามชุมนุมเสมอ แต่ข้อกำหนดฉบับอื่นจะไม่ระบุรายละเอียด
๐ ไม่เคยมีการระบาดในพื้นที่ชุมนุมมาก่อน 
วาดดาว เบิกความถึงบรรยากาศการชุมนุมตามที่ทนายความถามเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่การชุมนุมในปี 2563 เป็นต้นมา เข้าร่วมการชุมนุมมาโดยตลอดเนื่องจากทำงานในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางเพศและความหลากหลายทางเพศ บรรยากาศในที่ชุมนุมจะมีการหยิบประเด็นของกลุ่มเยาวชนที่หลากหลายมาพูด โดยในที่ชุมนุมจะมีคนมารวมตัวกันจำนวนมากในพื้นที่โล่ง แต่ละคนสามารถจัดกิจกรรมที่หลากหลายได้ แม้ในสถานการณ์โควิด19 ที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2563 การชุมนุมก็ยังคงมีอยู่เพราะต้องการส่งเสียงเรียกร้องถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าพื้นที่ชุมนุมนั้นคือพื้นที่สำคัญสำหรับส่งเสียงต่อผู้มีอำนาจ 
ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนต่างตระหนักถึงเรื่องการดูแลตัวเอง ใส่หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ โดยเป็นการออกมาชุมนุมพร้อมกับการป้องกันโรคโควิด19 ด้วย แม้ผู้จัดการชุมนุมจะเตรียมหน้ากาก และเจลแอลกอฮอล์ไว้ แต่ก็พบว่าผู้ชุมนุมก็นำมาแจกจ่ายกันเองด้วย นอกจากนี้ ยังเบิกความว่า ตนเองก็มีความกลัวว่าถ้าไปชุมนุมแล้วจะติดโรคโควิด19 แต่เพราะบรรยากาศที่ผู้ชุมนุมนับร้อยที่รวมตัวกันต่างมีจิตสำนึกในการป้องกันโควิดอยู่แล้ว การออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 15 ของรัฐบาล และการอ้างว่าจะมีการระบาดจากการชุมนุม ส่วนตัวคิดว่าไม่เป็นความจริง 
๐ การมีอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิอยู่ตลอด
อรรถพลเบิกความว่า ไปร่วมการชุมนุมหลายครั้งและถูกดำเนินคดีด้วยข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 หลายคดี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและขอนแก่นที่เป็นภูมิลำเนา โดยเห็นได้ว่า ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร ยังมีผู้ชุมนุมอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกำหนดฉบับเดียวกัน อรรถพลกล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิที่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญ การออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้า จะมีชุมนุมหรือไม่มี หรือจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ตาม แต่การมีอยู่ของคำสั่งนี้ เป็นการละเมิดสิทธิอยู่ตลอดตราบใดที่ยังดำรงอยู่ 
๐ พยานผู้เชี่ยวชาญ ระบุการห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดหลักความได้สัดส่วน 
ต่อพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความเพิ่มเติมสองประเด็น ประเด็นแรก ทนายความถามว่าข้อกำหนดและประกาศเรื่องการห้ามชุมนุมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร ต่อพงศ์ตอบว่า มีลักษณะเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาด ไม่ให้มีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเลย หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจห้ามชุมนุมได้ทุกกรณี ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวในทางวิชาการเป็นการใช้อำนาจที่กระทบสิทธิของประชาชนโดยเกินกว่าเหตุ การดำรงอยู่ของข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความต้องการทางการเมืองของตัวเองได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดความไม่มั่นคงของประขาชนว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง สิทธิของประชาชนจึงถูกกระทบอยู่ตลอดตราบเท่าที่ยังมีคำสั่งนี้อยู่ 
ประเด็นที่สอง ต่อพงศ์เบิกความถึงความเกี่ยวพันระหว่างรัฐธรรมนูญกับข้อกำหนดฉบับที่ 15 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฉบับที่ 11 เรื่องการห้ามชุมนุม ว่าเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 44 รับรองเสรีภาพการชุมนุมและการจำกัดสิทธิดังกล่าว จะต้องใช้ประกอบกับมาตรา 26 ซึ่งว่าด้วยหลักความได้สัดส่วนหรือความพอสมควรแก่เหตุ ข้อกำหนดที่ออกมานั้น แม้รัฐอ้างว่าตราขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 แต่เหตุผลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชน เพราะทุกกรณีจะต้องตรวจสอบความได้สัดส่วนเสมอ จึงเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ซึ่งนับว่าการจำกัดเสรีภาพชุมนุมเกินสมควร มีผลทำให้ไม่ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเลย  
อย่างไรก็ตาม โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำเบิกความเป็นเอกสาร และศาลรับไว้ก่อนหน้าที่จะมีการเบิกความเพิ่มเติมต่อหน้าศาล โดยคำเบิกความสรุปได้ว่า ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เกิดการชุมนุมของกลุ่มบุคคลหลากหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ และเริ่มจัดการชุมนุมแยกต่างหากจากกันหลายร้อยครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา โจทก์ทั้งสามได้เข้าร่วมการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมแต่ละครั้งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก แต่ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าการชุมนุมเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมติดเชื้อไวรัสจากการมาชุมนุม 
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 17.00 น. โจทก์ทั้งสามได้เข้าร่วมการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในบ้านเมือง และไม่พบการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) จากการชุมนุมดังกล่าว แต่ภายหลังได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย อันเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง” และในเอกสารบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้อ้างถึงข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารรราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ด้วย
หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้ออกข้อกำหนดเรื่อยมาหลายฉบับโดยมิได้ระบุให้ชัดเจนว่า มีผลเป็นการยกเลิกและหรือเพิกถอนข้อกำหนดฉบับเดิมทั้งหลายหรือไม่ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า จะต้องอยู่ภายใต้การบังคับตามเงื่อนไขของข้อกำหนดฉบับใด และมีหลักเกณฑ์ในการทำกิจกรรมอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ข้าฯ ยังได้เข้าร่วมการชุมนุมอีกหลายครั้ง โดยใส่หน้ากากอนามัย และดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้พูดคุยหรือสัมผัสกับบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ประกอบกับสภาพของการชุมนุมทั่วไป ผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้สิ่งของใดร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด19 ตัวข้าฯ เองได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสองเข็มแล้ว และยังได้ซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิดมาตรวจด้วยตัวเองหลายครั้ง เข้ารับการตรวจกับกลุ่มแพทย์อาสาหลายครั้งก็ยังไม่เคยพบการติดเชื้อโควิด 19
การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ข้าฯ ทราบว่า ก่อนเริ่มการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เครื่องเสียงประกาศห้ามการชุมนุมและสั่งให้เลิกการชุมนุมทันที โดยอ้างข้อกำหนดและประกาศที่ออกโดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หลายฉบับพร้อมๆ กันอย่างสม่ำเสมอ และโจทก์ทั้งสามก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอีกหลายคดี
การออกข้อกำหนดและประกาศ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่การใช้อำนาจเช่นว่านั้นจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้อง ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง และไม่บิดเบือนการใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายด้วย  
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ที่ออกโดยจำเลยที่ 1 และประกาศที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ฉบับที่ 3 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้  
๐ ประการแรก การออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 สังเกตได้จากการใช้ถ้อยคำว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม” แยกออกจาก “การทำกิจกรรม” และ “การมั่วสุมกัน” และในประกาศของจำเลยที่ 2 ฉบับที่ 11 ยังแยกข้อห้าม “การมั่วสุม” ไว้ในข้อ 2 ส่วนห้าม “การชุมนุม” ไว้ในข้อ 3 แสดงให้เห็นว่า ข้อห้าม “การชุมนุม” นั้น ไม่ใช่เจตนาเพื่อจะห้ามการรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็นที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น หากมีเจตนาเพียงเท่านั้นการสั่ง “ห้ามมั่วสุม” ก็สื่อความหมายได้เพียงพอ แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เจตนาที่จะเขียนข้อกำหนดและประกาศไว้อย่างชัดเจนห้ามทั้งการมั่วสุม และยัง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม” แยกต่างหาก เป็นการฉวยโอกาสอาศัยข้ออ้างที่มีโรคระบาดเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งขัดกับเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมโรคระบาดและเฝ้าระวังการกักตุนสินค้า 
๐ ประการที่สอง การออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลายฉบับต่อเนื่องกันมีความซ้ำซ้อนในทางเนื้อหา สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ถูกบังคับใช้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทั้งการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศแต่ละฉบับยังมีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 18 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาให้กับบุคคล ต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้ประชาชนเข้าใจได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป และตามมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา เมื่อนำไปใช้ก่อให้เกิดความสับสน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดกับหลักการของกฎหมายดังกล่าว
๐ ประการที่สาม การออกข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนที่สั่ง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม” นั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ แม้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญจะสามารถถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดเสรีภาพใดๆ รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ "ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้” กฎหมายที่ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามความจำเป็นนั้นมีอยู่แล้วพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2548 การดูแลการชุมนุมของประชาชน ยังมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บังคับใช้อยู่ และไม่จำกัดสิทธิของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศของจำเลยที่ 2 ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่สั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งแก้ไขจากฉบับก่อนหน้านี้ที่ห้ามการชุมนุม โดยมีเงื่อนไขห้ามเฉพาะการชุมนุม “ที่มีความแออัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย” และตัดเงื่อนไขดังกล่าวออก เหลือเพียงการห้ามชุมนุม “ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นประกาศที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น ให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางที่จะตีความว่าการชุมนุมลักษณะใดเป็นความผิดหรือไม่
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดและประกาศของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง เกินกว่าเหตุ ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ และก่อความเสียหายร้ายแรงให้แก่ประชาชนที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  
หากปล่อยให้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องมีผลบังคับใช้ต่อไปได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามและประชาชนทำให้ไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ได้ อันเป็นการตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งไม่อาจที่จะเยียวยาแก้ไขได้ แม้ต่อมาศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนข้อกำหนดตามคำขอท้ายฟ้องก็ตาม ก็จะไม่สามารถที่จะเยียวยาแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิมได้