แก้รัฐธรรมนูญ: “ส.ว.สายทหารเห็นชอบ-สายต้านทักษิณคัดค้าน”

Senate results
Senate results
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยการแก้ไขครั้งมีหัวใจสำคัญ คือ การแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งผลการลงมติครั้งดังกล่าว แม้จะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ซับซ้อน ได้แก่ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากพรรคที่ไม่มี ส.ส. เป็นรัฐมนตรี หรือประธานและรองประธานสภา อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 แต่ในท้ายที่สุด รัฐสภาก็ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ทั้งนี้ ถ้าดูจากผลการลงมติดังกล่าว กลุ่มที่น่าจับตามองมาที่สุดคือ กลุ่มของ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาคัดเลือกของคสช. เพราะการลงมติในครั้งนี้เป็นไปอย่างอิสระ มีการลงมติในทิศทางที่แตกต่างกัน มากกว่าการลงมติในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า ส.ว. ที่เป็นสายทหารหรือมีความใกล้ชิดกับ คสช. จะลงมติให้ความเห็นชอบ ในขณะที่กลุ่ม ส.ว. ซึ่งเคยออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะมีท่าทีในการไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับระบบเลือกตั้งในปี 2540 ที่ทำให้รัฐบาลทักษิณขึ้นสู่อำนาจ

ส.ว.สายทหาร-ใกล้ชิด คสช. อย่างน้อย 136 คน เห็นชอบ แก้รัฐธรรมนูญวาระสาม

จากการตรวจสอบผลการลงมติของ ส.ว. พบว่า กลุ่ม ส.ว. ที่เป็น ส.ว. สายทหาร หรือมียศทางตำรวจหรือทหาร จะมีทิศทางในการลงมติเห็นชอบเกือบทั้งหมด โดยมี ส.ว.สายทหาร อย่างน้อย 76 คน ที่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ซึ่งบุคคลสำคัญในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กลุ่ม “ตท.6” หรือ กลุ่มเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แก่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.อู้ด เบื้องบน รวมถึงกลุ่ม “ตท.12” เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร
นอจากนี้ ยังมีกลุ่มที่เป็นอดีตคนใกล้ชิดกับ คสช. ที่ให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามด้วย อาทิ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และเคยเป็นรองหัวหน้าคสช. และยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ อย่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรฯ
นอกจากกลุ่มทหารแล้วยังมีกลุ่มข้าราชการพลเรือนที่เคยร่วมงานกับ คสช. หรือ รับตำแหน่งสำคัญๆ ในยุคคสช. ที่ลงมติเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามด้วย เช่น สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่มารับตำแหน่ง รมว.สำนักนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หรือ หนึ่งใน ส.ว. องค์รักษ์พิทักษ์คสช. อย่าง กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามด้วยเช่นกัน

ส.ว. สาย “ต่อต้านทักษิณ” อย่างน้อย 67 คน ไม่เห็นชอบ-งดออกเสียง

จากการตรวจสอบผลการลงมติของ ส.ว. พบว่า กลุ่ม ส.ว. ที่เคยมีจุดยืนทางการเมืองในทิศทางต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีแนวโน้มที่จะลงมติไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่ม “40 ส.ว.” อย่างเช่น ตวง อันทะไชย, ถวิล เปลี่ยนศรี, คำนูณ  สิทธิสมาน, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, เสรี สุวรรณภานนท์ และ พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม 
โดยก่อนหน้าที่จะมีการลงมติดังกล่าว คำนูณ  สิทธิสมาน ได้ประกาศงดออกเสียงในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่าเป็นการ “สมนาคุณให้กับพรรคใหญ่” หรืออีกนัยหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคประชาชนภาคประชาสังคมที่เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทักษิณก็ลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือ วัลลภ ตังคณานุรักษ์  หรือ ประมนต์ สุธีวงศ์ หรือ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ดำรงตำแหน่งหลังการรัฐประหาร ปี 2549) 

ส.ว. ที่เป็น กมธ.แก้รัฐธรรรมนูญ กลับลงมติ “งดออกเสียง” อย่างน้อย 8 คน

จากการตรวจสอบผลการลงมติของ ส.ว. พบว่า กลุ่ม ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 8 คน ที่ลงมติ “งดออกเสียง” ทั้งที่ตัวเองมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาในวาระสองและสาม โดยทั้ง 8 คน ได้แก่ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, จเด็จ อินสว่าง, คำนูณ สิทธิสมาน, ถวิล เปลี่ยนสี, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, สมชาย แสวงการ, เสรี สุวรรณภานนท์

ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ 6 คน โดดประชุมสภาแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งตั้งแต่วาระหนึ่งถึงสาม

จากการตรวจสอบผลการลงมติของ ส.ว. พบว่า กลุ่ม ส.ว. ผู้นำเหล่าทัพ จำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่ไม่มาลงมติการแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม โดยก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำเหล่าทัพก็ไม่ได้มาร่วมลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งด้วยเช่นกัน