เช็คเสียงโหวต #แก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม ใครโหวตอะไรกันบ้าง?

10 กันยายน 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หลังจากมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 1 ครั้ง และมีร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 10 ฉบับที่ถูกคว่ำไป โดยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไข “ระบบเลือกตั้ง” ให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็มีกระแสข่าวว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะการให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องฝ่าด่านสำคัญถึง 3 ด่าน ได้แก่
1) ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 365 คน จากทั้งหมด 730 คน
2) ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ที่ไม่ได้สังกัดพรรคที่มีรัฐมนตรี หรือ ประธานรัฐสภา/รองประธานรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 20% หรือ 49 คนขึ้นไป
3) ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ 84 คนขึ้นไป จากทั้งหมด 250 เสียง
โดยผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ผลปรากฎว่า มีเสียงเห็นชอบ 472 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 งดออกเสียง 187 เสียง โดยคะแนนเสียงเห็นชอบส่วนใหญ่มาจาก 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 149 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 66 คน ซึ่งนับว่าเป็นปรากฎการณ์ “พลิกโผ” ที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำด้วยเสียงของ ส.ว.
โดยเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ว. ที่ลงมติเห็นชอบเป็น ส.ว.สายทหาร 75 เสียง จากจำนวนคนที่เห็นชอบ 149 คน ในส่วนของ ส.ว. ที่ลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงส่วนใหญ่เป็น ส.ว. เคยมีบทบาททางการเมืองในยุคเผด็จการ คสช.​ และมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น พลเดช ปิ่นประทีป, พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม, เสรี สุวรรณภานนท์, คำนูณ สิทธิสมาน, เจตน์ ศิรธรานนท์, ตวง อันทะไชย และ สมชาย แสวงการ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในการลงมติครั้งนี้ มีการงดออกเสียงเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเสียงกว่า 187 เสียง ที่มีการงดออกเสียงมาจากกพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเล็กอีก 7 พรรค