กรรมการ กสทช. ชุดใหม่กำลังมา หลังถูก คสช. แช่แข็งกระบวนการจนอยู่ครบทศวรรษ

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ได้ระบุว่า คลื่นความถี่ถือเป็น “ทรัพยากรสาธารณะ” เป็นสมบัติที่ต้องจัดสรรเพื่อใช้ร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรเพื่อให้การใช้คลื่นความถี่นี้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด จึงเป็นที่มาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. 
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.  เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มี คณะกรรมการ กสทช. ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยกำหนดให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีนับแต่ได้รับการแต่งตั้ง มีเป้าหมายหลักในการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ จัดการประมูลสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นระบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”

สรรหา กสทช.ชุดใหม่ หลังชุดแรกอยู่ในตำแหน่งนาน 10 ปี

คณะกรรมการกสทช. ชุดแรกดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554  ทั้งที่ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  มาตรา 19 กำหนดให้มีวาระในการดำรงตำแหน่งเพียง 6 ปีนับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเท่านั้น แต่สาเหตุที่อยู่มาได้นานก็เพราะสภาแต่งตั้งของ คสช. ช่วยกันคว่ำกระดานยื้อเวลาการสรรหาชุดใหม่ออกไปเรื่อยๆ ประกอบกับ คสช. ก็ใช้อำนาจ “มาตรา44” ระงับการสรรหากรรมการชุดใหม่ออกไปจนกว่า “คสช.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” 
จนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมีเกียรติพงศ์ อมาตยกุล เป็นประธาน ได้ออกประกาศถึงผลการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครให้เป็นผู้สมควรได้รับเลือกเพื่อเป็นกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ทั้ง 7 ด้านเป็นที่เรียบร้อย 
โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก มีดังนี้ ด้านกิจการกระจายเสียง คือ พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ด้านกิจการโทรทัศน์ คือ ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต , ด้านกิจการโทรคมนาคม คือ กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ , ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ , ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ ต่อพงศ์ เสลานนท์ , ด้านกฎหมาย คือ ร้อยโท ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ และ ด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย

ใครจะได้นั่งเก้าอี้ กรรมการ กสทช. ต้องผ่านด่าน ส.ว.เสียก่อน

กระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ตาม พ.ร.บ.กสทช. มาตรา 15 ต้องเปิดรับสมัครและให้คณะกรรมการสรรหาทำการคัดเลือกผู้สมัคร ก่อนจะส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกสทช. ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับรายชื่อ 
ผู้ที่จะได้เป็นกรรมการ กสทช. ต้องได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา โดยวุฒิสภาจะประชุมและลงคะแนนเป็นการลับ และเมื่อแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกทราบแล้วประธานวุฒิสภาจะต้องจัดให้ผู้ได้รับการเลือกมาประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการ กสทช. แล้วจึงแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีทราบเพื่อให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป 

คสช. ใช้อำนาจพิเศษ แช่แข็งกรรมการ กสทช.

หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ กสทช. กลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับความสนใจและถูกแทรกแซงกระบวนการสรรหาเป็นพิเศษ แม้ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งจะมีกรรมการลาออกไปหนึ่งคน และอายุเกินจนขาดคุณสมบัติไปหนึ่งคน คสช. ก็ใช้อำนาจ “มาตรา44” สั่งเลื่อนการสรรหาคนใหม่ไปก่อนทั้งสองครั้งโดยเหตุผลว่า กำลังมีการแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. และแก้ไขกระบวนการสรรหาอยู่ จึงให้รอกฎหมายฉบับใหม่ก่อน
หลังจากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. ยกเลิกวิธีการคัดเลือกกันเองขององค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมด เหลือเพียงวิธีการสรรหาโดยคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยศาลและองค์กรอิสระ ทั้งยังเพิ่มคุณสมบัติสำหรับอดีตทหารตำรวจ และนักธุรกิจในกิจการสื่อสารขนาดใหญ่ แต่กระนั้นก็ดีในวันที่ 19 เมษายน 2561 สนช. ก็ยัง “คว่ำ” การเสนอชื่อกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ทั้งหมด โดยอ้างว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ เป็นเหตุให้ต้องใช้ “มาตรา44” อีกครั้ง ยกเลิกการสรรหากรรมการ กสทช. จนกว่า คสช. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้องค์กรนี้ถูกแช่แข็งโดยกรรมการซึ่งหมดวาระแล้ว “เท่าที่มีอยู่” มาอีกหลายปี
แม้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและอำนาจมาตรา44 จะหมดไป แต่สภาแต่งตั้งชุดใหม่ คือ วุฒิสภาก็ใช้เทคนิค “คว่ำ” รายชื่อผู้ได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ยกชุดไปอีกครั้งเมื่อต้นปี 2564 โดยวิธีการพิจารณาผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. อีกครั้งหนึ่ง ตัดหน้าการพิจารณารายชื่อกรรมการชุดใหม่ ทำให้การสรรหาว่าที่กรรมการกสทช. ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ต้องสิ้นผลไปต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด 
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์