Watchlist: เมื่อรัฐขึ้นบัญชีจับตาประชาชนที่ต่อต้าน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีการเผยแพร่เอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นข้อมูล "ลับที่สุด" ในโลกออนไลน์ โดยเอกสารดังกล่าวคาดว่าเป็นของกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และประกอบไปด้วยข้อมูลของประชาชน ได้แก่ บรรดานักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาชน รวมแล้ว 183 รายชื่อ และข้อมูลบัญชีโซเชียลมีเดียอีก 19 บัญชี ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ถูกระบุสถานะในเอกสารว่าเป็นกลุ่ม Watchlist หรือกลุ่มที่รัฐกำลังจับตา 
การปรากฎตัวของเอกสารที่เรียกว่า Wacthlist คือ หลักฐานและร่องรอยชั้นดีที่จะใช้ยืนยันว่า รัฐกำลัง 'คุกคามความเป็นส่วนตัว' ของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม อีกทั้งยั้งไม่ชัดเจนว่า ข้อมูลชุดนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ร้อยละ 70 ของ Watchlist คือ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
จากการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนที่ถูกขึ้นบัญชี Watchlist พบว่า ประกอบไปด้วย 
  • กลุ่มนักเคลื่อนไหว หรือ นักกิจกรรมทางการเมือง อย่างน้อย 115 ราย (โดยในกลุ่มนี้มีคนที่ยังเป็น นักเรียนหรือนักศึกษา อย่างน้อย 53 ราย) โดยคนที่เป็นที่รู้จัก เช่น อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์, รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
  • กลุ่มนักการเมือง อย่างน้อย 9 ราย โดยคนที่เป็นที่รู้จัก เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล, วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
  • กลุ่มสื่อมวลชน นักวิชาการ และ เอ็นจีโอ อย่างน้อย 7 ราย  โดยคนที่เป็นที่รู้จัก เช่น ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ประวิตร โรจนพฤกษ์, เดชาธร บำรุงเมือง (Rap Against Dictatorship), สุกัญญา เขียนเอี่ยม (สุกัญญา มิเกล), ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่ The Bottom Blues)
  • กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถระบุสังกัดได้ อย่างน้อย 59 ราย
จากการตรวจสอบข้อมูลของประชาชนที่ถูกขึ้นบัญชี Watchlist พบว่า มีคนไม่น้อยกว่า 127 รายที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีทางการเมือง ดังนี้
  • ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 อย่างน้อย 5 ราย*
  • ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 72 คน*
  • ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 61 คน*
  • ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 75 คน*
*หมายเหตุ: 1 คนอาจถูกตั้งข้อหามากกว่า 1 ข้อหา
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการตั้งข้อหาดำเนินคดีจะพบว่า บุคคลใน Watchlist ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือ ฝ่ายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างเช่น กลุ่มคนที่โดนตั้งข้อหาจากการจัดหรือร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่นำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ที่มีข้อเรียกร้องให้ "ยุบสภา-หยุดคุกคามประชาชน-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่" หรือ กลุ่มคนที่โดนตั้งข้อหาจากการจัดหรือร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่นำโดยกลุ่มราษฎร ที่มีข้อเรียกร้องให้ "พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-ปฏิรูปสถาบัน" เป็นต้น
Watchlist คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะจัดทำบัญชีบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังหรือจับตาอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หากว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทว่า เมื่อดูจากรายชื่อของบุคคลที่อยู่ใน Watchlist กลับพบว่า พวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เพียงแต่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้และต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 32 บัญญัติว่า 
"บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว 
การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทํามิได้ ว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 34 บัญญัติว่า
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น"
ทั้งนี้ แม้ว่าในรายชื่อของบุคคลที่อยู่ใน Watchlist จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง แต่คดีเหล่านี้เป็นเป็นเพียง "คดีทางการเมือง" หรือ การดำเนินคดีเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะการที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้ง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นได้ ดังนั้น การที่รัฐจัดทำ Watchlist บุคคลดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น