ส่อง 6 รมต.จะอยู่หรือไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 3

วันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 เป็นช่วงเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมอีกห้าคน ก่อนจะมีการลงมติชี้ชะตาในวันที่ 4 กันยายน การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีรัฐมนตรีจากสามพรรคร่วมรัฐบาลถูกอภิปรายด้วย ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ 

อย่างไรก็ตามแม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะไม่สามารถล้มรัฐบาลประยุทธ์ได้ทันที แต่ความสำคัญอยู่ที่การลงคะแนนไว้วางใจและไม่ไว้วางใจที่แตกต่างมากน้อยกันของรัฐมนตรีแต่ละคนที่อาจจะสะเทือนถึงความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล จนอาจนำมาสู่การปรับคณะรัฐมนตรีหรือกระทั่งการยุบสภาและลาออกได้ ไอลอว์จะพาไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนจะถึงบทสรุปว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้หรือไม่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไร้ภูมิปัญหา ไร้ความสามารถ บริหารประเทศล้มเหลวทำประชาชนล้มตามจำนวนมาก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นับเป็นเป้าหมายหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน ข้อกล่าวหาหลักของพลเอกประยุทธ์ คือ “เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ” ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีทำให้ประชาชนต้องติดเชื้อ เสียชีวิต และสิ้นเนื้อประดาตัวกันเป็นจำนวนมาก ข้อกล่าวหาดังกล่าวทำให้พลเอกประยุทธ์ ถึงกับกล่าวว่า“เนื้อหาแรงไปไหม ในหัวข้ออภิปราย มีใครเคยมีแบบนี้ไหม”

แน่นอนพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสองพรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่รอบนี้มาเข้มกำชับลูกพรรคห้ามแตกแถวให้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคนใครแตกอาจถูกขับออกจากพรรคได้ ขณะที่พรรคก้าวไกล มั่นใจมีหมัดเด็ดเชื่อว่าการอภิปรายไม่วางใจครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์

ด้านพรรคพลังประชารัฐ ได้เตรียมองค์รักษ์พิทักษ์พลเอกประยุทธ์ ประมาณ 14 คน มีหน้าที่อภิปรายสนับสนุนผลงานของพลเอกประยุทธ์ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน, สิระ เจนจาคะ, พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์, กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และนิโรธ สุนทรเลขา ด้านรัฐบาล  เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งวอร์รูมนอกสภา โดยเป็นรวมตัวของคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีทุกกระทรวง ทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเพื่อทำงานเตรียมการสู้ศึกซักฟอกอย่างเป็นเอกภาพ

อนุทิน ชาญวีรกูล ขาดองค์ความรู้ กอบโกยผลประโยชน์บนคราบน้ำตาและความเป็นความตายของประชาชน

“เสี่ยหนู”  หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นอีกคนหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยถูกข้อกล่าวหาว่า “ขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ” จากปัญหาการจัดการโควิดที่ล้มเหลว และส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ เสี่ยหนูยังถูกกล่าวหาว่า “กอบโกยผลประโยชน์บนคราบน้ำตาและความเป็นความตายของประชาชน” ตั้งแต่การนำเข้าวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงผู้ชนะประมูลชุดตรวจโควิด ATK ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของอนุทินที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการเอื้อผลประโยชน์เกิดขึ้น 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่าอนุทินถูกซักฟอกอย่างหนักจากฝ่ายค้านจนเกิดวิวาทะ “หนูตายคลุ้งสภา” จากวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล แต่เมื่อถึงเวลาลงมติ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกลับเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจถึง 275 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในบรรดารัฐมนตรีทั้งหมดเก้าคนที่ถูกซักฟอก โดยในจำนวนนี้รวมถึงเสียง “งูเห่า” สี่เสียงจากพรรคก้าวไกลด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตาคือท่าทีของกลุ่ม “ดาวฤกษ์” ซึ่งประกอบด้วยหก ส.ส. กรุงเทพฯ จากพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ วทันยา วงษ์โอภาสี ที่ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องบาดหมางกับพรรคภูมิใจไทยว่าจะตัดสินใจลงมติอย่างไร

สุชาติ ชมกลิ่น ปล่อยแรงงานทำโควิดกระจาย ไม่มีมาตรการรองรับผู้ใช้แรงงาน

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีจากโควต้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า บริหารงานในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานผิดพลาด จนทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบทั้งระบบ ปล่อยปละละเลยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและแสวงหาประโยชน์จากแรงงานผิดกฎหมาย จนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ จนทำให้ต้องมีคนตกงานจำนวนมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีความบกพร่องอย่างร้ายแรงที่ปล่อยให้เกิดคลัสเตอร์ในโรงงานรายวัน 

โดยสาเหตุหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติ คือ คำสั่งปิดแคมป์คนงานหลังจากเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 หลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 โดยไม่มีมาตรการรองรับ จนทำให้คนงานหลบหนีออกจากแคมป์เดินทางออกจากต่างจังหวัด และนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19ทั่วประเทศ ส่วนคนที่ถูกขังอยู่ในแคมป์ก็ไม่ได้รับการดูแล ยังไม่รวมถึงผู้ใช้แรงงานอื่นๆ ที่ไม่ได้รับมาตรการเยียวยาใดๆ อย่างไรก็ตาม สุชาติ มองว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการแถลงผลงานรอบหนึ่งปีของกระทรวงแรงงาน และย้ำว่าที่ผ่านมาได้ปฏิงานตามนโยบายและคำสั่งของพลเอกประยุทธ์มาตลอด

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ประพฤติตัวเสเพล

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นอีกหนึ่งรัฐมนตรีโควตาพรรคภูมิใจไทยที่อยู่ในรายชื่อผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและเครือญาติ มีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในการประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ รวมถึงมีพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยยังถูกเพ่งเล็งว่ามี “ประพฤติตัวเสเพล” จากประเด็นที่เคยมีข่าวว่าเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ไปเที่ยวผับทองหล่อและติดเชื้อโควิดจนกลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดครั้งใหม่

ทั้งนี้ ศักดิ์สยามเคยเป็นจุดสนใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้วจากเหตุการณ์ที่กลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์พรรคพลังประชารัฐทั้งหมดหกคนตัดสินใจ “งดออกเสียง” ซึ่งทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจเป็นอย่างมากจนอนุทินออกมาเรียกร้องให้กลุ่มดาวฤกษ์ขอโทษศักดิ์สยาม โดยท้ายที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐได้ออกบทลงโทษ ห้ามหก ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเป็นเวลาสามเดือน รวมถึงถอดออกจากวิปรัฐบาลอีกด้วย

ดังนั้นการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้จึงน่าจับตากลุ่มดาวฤกษ์ว่าจะมีมติสวนทางกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ขณะที่ “มาดามเดียร์” แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ ยังไม่บอกว่ากลุ่มของตนเองจะยกมืออย่างไร เพียงแต่จะรอดูก่อนว่าฝ่ายค้านจะนำประเด็นอะไรมาซักฟอกบ้าง ด้านพรรคภูมิใจไทย เตรียม 12 ขุนพลองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีของพรรคตัวเอง นำโดยศุภชัย ใจสมุทร, ชาดา ไทยเศรษฐ์, ภราดร ปริศนานันทกุล, และสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รวมทั้ง คารม พลพรกลาง ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันย้ายฝั่งมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

เฉลิมชัย ศรีอ่อน ทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ ปล่อยให้เกิดโรคระบาดสัตว์

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเป็นครั้งแรกที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยถูกกล่าวหาว่า “เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญาและไร้ความสามารถในการบริหารงาน ทำให้การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ … เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการเรียกรับผลประโยชน์ สร้างความเสียหายแก่รัฐจำนวนมาก ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ ทั้งวัวและสุกรจนส่งผลเสียหายแก่เกษตรกรจำนวนมาก” แม้ยังไม่แน่ชัดว่าพรรคได้จะเป็นผู้อภิปรายเฉลิมชัย แต่ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และการระบาดของ “โรคลัมปี สกิน” ในวัวของเกษตรกร น่าจะเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็มั่นใจว่า ผลงานที่ผ่านมาของเฉลิมชัยประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น เรื่องน้ำ เรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้ง เรื่องการประมง เรื่องยางพารา รวมถึงมีแนวทางส่งเสริมเกษตรกรอย่างยั่งยืนในทุกด้าน และมีการเยียวยาพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มที่ รวมทั้งการทำงานก็ยึดความสุจริตไม่คิดโกง โดยเฉลิมชัยเอง ก็เชื่อว่าผลงานคือคำตอบที่ดีที่สุดโดยเฉพาะการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส่ ของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ 2564 ของ ป.ป.ช. ที่พบว่า หน่วยงานทั้ง 23 หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ บิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกหนึ่งรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศและประชาชน  ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 

การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ชัยวุฒิถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง DE เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ภารกิจหลักที่มาพร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีของชัยวุฒิ คือการจัดการกับเฟคนิวส์ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขล้มเหลว จนทำให้ดารา นักร้อง รวมถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงต่างออกมาวิจารณ์ (Call out) โจมตีการทำงานของรัฐบาล ชัยวุฒิก็ได้ออกมาเตือนว่า ขอให้ดาราทั้งหลายอย่าใช้ชื่อเสียงของตนเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีรัฐบาลเพราะสิ่งที่ทำนั้นเป็นการบิดเบือนข้อมูลและเป็นการสร้างข่าวปลอมขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย จนชัยวุฒิกลายเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก