สรุป “ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ” ฉบับ กมธ.ร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ

วันที่ 24-25 สิงหาคม 2564 รัฐสภามีนัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” ในวาระที่สอง หลังคณะกรรมาธิการได้ทำการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรายมาตราเป็นที่เรียบร้อย โดยสาระสำคัญของ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 คือให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบที่แยก ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกัน รวมทั้งปรับสัดส่วนให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

+ระบบเลือกตั้งแบบ “บัตรสองใบ” เลือกคนที่รัก-เลือกพรรคที่ชอบ+

ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ได้มีการแก้ไขมาตรา 83 โดยกำหนดว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบไปด้วยสมาชิก 500 คน เป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้การเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้บัตรเลือกตั้งอย่างละ 1 ใบ หรือ หมายความว่า ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต และอีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ พรรคการเมือง
โดยระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบที่ กมธ. ให้ความเห็นชอบ จะมีความคล้ายคลึงกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือ ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า “ระบบคู่ขนาน” (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน 
ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งดั่งกล่าว ได้รับการยอมรับว่า เป็นระบบเลือกตั้งที่ต้องการให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดจาก 2 ระบบ (The best of both worlds) กล่าวคือ ประชาชนจะมีสิทธิเลือกตัวแทนได้สองรูปแบบ คือ “เลือกคนที่รัก” หรือ เลือกตัวแทนในระดับพื้นที่จากคนที่ชอบที่สุด กับ “เลือกพรรคที่ชอบ” หรือ เลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สะท้อนจุดยืนเรื่องอุดมการณ์หรือนโยบายระดับชาติ 

+บัตรใบที่หนึ่ง เลือก “ส.ส. เขต” ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็น ส.ส.+

ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.เขต ไว้ในมาตรา 85 โดยกำหนดว่า ในแต่ละเขตมี ส.ส ได้หนึ่งคน และประชาชนก็มีคะแนนเสียงเพียงหนึ่งคะแนน หากผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนสูงสุดสุดและมีคะแนนเสียงสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด ก็ให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.เขตนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้ง A มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3 คน ได้แก่ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. โดยผลการเลือกตั้งปรากฎว่า
๐ นาย ก. ได้ 35 คะแนน
๐ นาย ข. ได้ 25 คะแนน
๐ นาย ค. ได้ 40 คะแนน
แปลว่า นาย ค. จะเป็นผู้ชนะและได้รับเลือกเป็น ส.ส. ของเขต A
ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในมาตรา 86 โดยมีขั้นตอนดังนี้
1) เอาจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส.ส. มาเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. เขต (400 คน)
2) นำค่าเฉลี่ยที่ได้ ตามข้อ (1) มาหารจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด เพื่อหาจำนวน ส.ส.เขตที่แต่ละจังหวัดพึงมี
3) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. เขต 1 คน
4) ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยตามข้อ (1) ให้เพิ่ม ส.ส. เขต 1 คน ในทุกๆ จำนวนราษฎรที่ครบตามค่าเฉลี่ย
5) ในกรณีที่ยังได้ ส.ส. เขต ไม่ครบ 400 คน ให้จังหวัดที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด มี ส.ส. เขต เพิ่ม 1 คน จนกว่าจะครบจำนวน
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าจำนวนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส.ส.เขต เท่ากับ 60,000,000 คน และ ส.ส.เขต  มีทั้งหมด 400 คน ดังนั้น ค่าเฉลี่ยระหว่าง “จำนวนราษฎร” กับ “ส.ส. เขต” ให้คำนวณจากการนำ 60,000,000 มาหารด้วย 400 เท่ากับ 150,000 จากนั้นให้นำตัวเลข 150,000 ดังกล่าวไปหารกับจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด
ถ้าจังหวัด A มีราษฎร 140,000 คน หมายความว่า มีจำนวนราษฎรน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000) ดังนั้น จังหวัด A จึงมี ส.ส. เขต 1 คน
ถ้าจังหวัด B มีราษฎร 600,000 คน จังหวัด B จะมี ส.ส. เขต 4 คน เพราะจังหวัด B มีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000) เป็น 4 เท่า จึงทำให้จังหวัด B มี ส.ส. เขต 2 คน
ถ้าจังหวัด C มีราษฎร 290,000 คน จังหวัด C จะมี ส.ส. เขต 1 คน เพราะแม้จังหวัด C จะมีจำนวนราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างจำนวนราษฎรกับจำนวน ส.ส. เขต (150,000)  แต่เมื่อนำค่าเฉลี่ยไปหารกับจำนวนราษฎรในจังหวัด C แล้ว ได้แค่ 1 พร้อมกับเหลือเศษ ดังนั้น จึงให้มี ส.ส.เขต เพียงแค่ 1 คน แต่จังหวัด C ก็ยังมีโอกาสที่จะมี ส.ส.เขต เพิ่มอีก 1 คน ในกรณีที่ยังจัดสรรจำนวน ส.ส.เขต ทั่วประเทศ ไม่ครบ 400 คน และจังหวัด C ต้องมีเศษเหลือจากการคำนวนที่นั่ง ส.ส.เขต มากที่สุด

+บัตรใบที่สอง เลือก “พรรคการเมือง” ใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ+

ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไว้ในมาตรา 91 โดยกำหนดว่า การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้นำคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนร่วมข้างต้น
ทั้งนี้ แม้ว่า มาตรา 91 จะไม่ได้กำหนดขั้นตอนแบบละเอียด และให้ไประบุรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็พออนุมานวิธีการคำนวณได้ดังนี้
1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหารด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ (100)
2) นำผลลัพธ์ตาม ข้อ 1. ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะมีได้
หรือถ้าแปลงเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ คือ คะแนนเสียงของพรรค ÷ คะแนนเสียงรวม x จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ = จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ยกตัวอย่างเช่น
พรรค ก. ได้คะแนน 20 ล้านเสียง
พรรค ข. ได้คะแนน 10 ล้านเสียง
พรรค ค. ได้คะแนน 5 ล้านเสียง
พรรค ง. ได้คะแนน 5 ล้านเสียง
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก. = 20,000,000 ÷ 40,000,000 x 100 = 50 คน