จับตาแก้ระบบเลือกตั้ง ไม่มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของ ส.ส. บัญชีรายชื่อส่อเกิด “เบี้ยหัวแตก”

แม้ว่าระบบเลือกตั้งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอและกำลังจะเข้าพิจารณาในวาระสองในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบเลือกตั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ความแตกต่างประการหนึ่งก็คือไม่มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการไม่กำหนดเกณฑ์ขึ้นต่ำนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงทำให้พรรคขนาดเล็กมีโอกาสเข้าสู่สภามากยิ่งขึ้น แต่ก็จะเกิดอาการ “เบี้ยหัวแตก” และอาจจะทำให้รัฐบาลที่ได้นั้นไร้เสถียรภาพจากการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค
ทั้งนี้ระบบเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอและระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นมีภาพรวมที่เหมือนกัน กล่าวคือ กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยแบ่งเป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ในขณะที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะลงคะแนนในบัตรใบแรกเพื่อเลือกผู้แทนเขตของตนเองโดยผู้ที่คะแนนสูงสุดในเขตนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ การคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นจะอิงอยู่กับบัตรใบที่สองซึ่งให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลือกพรรคที่ตนเองชอบ หลังจากนั้นก็จะนำคะแนนทั้งหมดมาคิดเป็นสัดส่วนกับคะแนนที่ได้ในบัตรใบที่สองของแต่ละพรรคเพื่อคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างหนึ่งก็คือร่างเสนอแก้ระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์นั้นยังคงหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งไม่กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5
ในการพิจารณาวาระแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมากถึง 13 ร่าง ในจำนวนนี้มีสามร่างที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปคล้ายกับแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้แก่ร่างของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอรวมกับข้อเสนออื่น ๆ ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแยกกัน อย่างไรก็ตาม ในการลงมติวาระแรกซึ่งต้องใช้เสียง ส.ว. มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน ปรากฏว่ามีเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้รับคะแนนจาก ส.ว. มากพอจนเป็นร่างเดียวที่ผ่านไปได้ โดยในขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐเสนอให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 1  ขณะที่ร่างประชาธิปัตย์กลับไม่เสนอให้แก้เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้ยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไม่ได้กำหนดไว้เช่นเดิม
การกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมีผลอย่างมากต่อผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกับพรรคขนาดเล็ก หากมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ ก็จะทำให้พรรคขนาดเล็กยากที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเนื่องจากได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่พรรคขนาดเล็กเสียเปรียบ พรรคขนาดใหญ่ก็จะได้เปรียบมากขึ้น เนื่องจากมีแต่พรรคขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้เสียงมากพอที่จะได้ที่นั่งในสภาและจัดตั้งรัฐบาลได้
ในทางกลับกัน การไม่ได้กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระสองนี้จะทำให้เกิดอาการ “เบี้ยหัวแตก” กล่าวคือ ยังคงมีพรรคขนาดเล็กมากมายที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะมีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นมานั้นก็ยังคงเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ เพราะประกอบไปด้วยพรรคมากมายไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในปัจจุบัน ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลผสมหลายพรรคทำให้หลายประเทศพยายามวางหลักเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเอาไว้ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนีวางเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 5 เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 
อาการ “เบี้ยหัวแตก” เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ซึ่งมีพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดถึง 26 พรรค และมีรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐมากถึง 19 พรรค ในขณะที่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทั้งสองครั้งในปี 2544 และ 2548 นั้นมีพรรคที่เข้าสู่สภาได้เพียง 9 พรรคและ 4 พรรคตามลำดับเท่านั้น โดยพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้
นอกจากนี้ หากเราลองนำเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ร้อยละ 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จะเหลือพรรคในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 9 พรรคและมีพรรคหายไปถึง 17 พรรค ตั้งแต่พรรคขนาดเล็กที่ได้เพียงหนึ่งที่นั่ง ไปจนถึงพรรคเสรีรวมไทยที่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากถึง 10 ที่นั่ง เพราะได้รับคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขึ้นต่ำร้อยละห้า หรือประมาณหนึ่งล้านเจ็ดแสนคะแนน ทำให้พรรคเหล่านี้จะไม่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะหากพรรคการเมืองจะมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนขึ้นต่ำประมาณ 1,700,000 เสียง
หรือถ้าลองนำคะแนนเลือกตั้งปี 2562 มาคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้เกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 1 จะเหลือพรรคในสภาผู้แทนราษฎร 14 พรรค และมีพรรคหายไป 12 พรรค โดยพรรคที่มีคะแนนเสียงประมาณ 170,000 เสียงขึ้นไป จะมีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ