#งบประมาณปี65 สรุปประเด็นและข้อเสนอตัดลดงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

Royal fiscal 2021
Royal fiscal 2021
18 – 21 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565) ในวาระสอง โดยการพิจารณาในวันเสาร์ที่ 21 เป็นการพิจารณาต่อเป็นพิเศษ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่แล้วเสร็จภายในสามวันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระการประชุม แต่กระบวนการพิจารณากฎหมายงบประมาณอันเป็นกฎหมายสำคัญก็จำเป็นต้องเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อจะส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณา และประกาศใช้ให้ทันช่วงต้นเดือนตุลาคม อันเป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณ 2565
โดยกระบวนการพิจารณากฎหมายงบประมาณ อาจกล่าวง่ายๆ ว่ามีตัวเลขที่ประชาชนจะต้องจับตา “หลายชุด” โดยร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎร “รับหลักการ” ไปในวาระที่หนึ่งเมื่อ 2 มิถุนายน 2564 ก็กำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับหน่วยรับงบประมาณด้วยตัวเลขชุดหนึ่ง ต่อมาเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (กมธ.) พิจารณาแล้ว ก็จะมีการปรับลดงบประมาณบางรายการ และมีตัวเลขที่กมธ. เสียงข้างมากมีมติ “เคาะ” ว่าจะปรับลดงบประมาณแต่ละหน่วยงานเหลือเป็นวงเงินเท่าใด ซึ่งกมธ. เสียงข้างน้อย หรือส.ส. ก็อาจมีข้อเสนอให้ปรับลดในจำนวนที่แตกต่างจากกมธ. เสียงข้างมาก แต่สุดท้ายแล้วตัวเลขของแต่ละหน่วยรับงบประมาณจะเป็นอย่างไร จะใช้ชุดตัวเลขไหน ก็ต้องใช้ “เสียงข้างมาก” ของสภาผู้แทนราษฎรตัดสิน
ด้านการอภิปราย เสนอตัดลดงบประมาณ แน่นอนว่างบประมาณที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นประเด็นอภิปรายร้อนแรงที่บรรดาส.ส. หลายคนต่างก็เสนอให้หั่นงบประมาณมากขึ้นอีก ขณะที่งบประมาณการก่อสร้าง การจัดซื้อครุภัณฑ์ที่อาจจะยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ก็ถูกเสนอให้ “รีดไขมัน” ไม่ต่างกัน นอกจากนี้แล้ว ส.ส. บางส่วนก็อภิปรายถึงงบประมาณเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งงบประมาณค่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง และงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ (ถนนอู่ทองนอก) และค่าที่ปรึกษา โดยโครงการนี้เป็นโครงการสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ยิ่งไปกว่านั้น ส.ส. บางรายก็เสนอให้ปรับลดงบประมาณของ “ส่วนราชการในพระองค์” อันเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง

ส.ส. ก้าวไกลแจง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง บินทั้งวันทั้งคืนงบก็ยังเหลือ

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ ซึ่งเดิมตั้งงบประมาณที่ 24,466 ล้านบาท แต่กมธ. เสียงข้างมากตัดลดงบประมาณ อยู่ที่เหลือ 24,260 ล้านบาท โดยณธีภัสร์ เสนอให้ปรับลดงบประมาณของของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับลง 10% รายการค่าใช้จ่ายที่ณธีภัสร์กล่าวถึง คือ งบประมาณรายจ่ายของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งงบประมาณเกือบสี่พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งตั้งงบประมาณปี 2565 จำนวน 1,567 ล้านบาท

(ดูรายละเอียดที่ https://bbstore.bb.go.th/cms/1620965367_9103.pdf)

ทั้งนี้ ณธีภัสร์ ระบุด้วยว่า ตนมีสไลด์ที่จะฉายให้ประชาชนดู แต่ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้ฉายสไลด์
ณธีภัสร์ อภิปรายถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ที่ตั้งงบประมาณปี 64 จำนวน 1,959 ล้านบาท จากการเบิกจ่าย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 พบว่า มีการเบิกจ่ายไปแล้วเพียง 470 ล้านบาท หรือ 24% เท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง จำนวน 1,959 ล้านบาท จะสามารถใช้ได้เต็มจำนวนจริงหรือไม่ เมื่อสอบถามไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ชี้แจงว่า ผลการเบิกจ่าย 470 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายจริง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 และได้มีการผูกพันสัญญาไปแล้วอีก 400 กว่าล้านบาท หากคำนวณอย่างตรงไปตรงมา โดยอ้างอิงค่าใช้จ่ายรายการนี้ตามเอกสารงบประมาณ รวมกับค่าใช้จ่ายไตรมาสสุดท้ายโดยประมาณ จะพบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง จะอยู่ที่ราว 1,027 ล้านบาท ดังนั้น งบประมาณปี 65 ที่ขอมา 1,567 ล้านบาท จะสูงไปหรือไม่
ณธีภัสร์ ระบุว่า งบประมาณ 1,567 ล้านบาท ที่ขอมา มีรายละเอียดเพียงแค่หน้าเดียว และมีเพียงบรรทัดเดียวเท่านั้น เนื่องจากรายการนี้ไม่มีรายละเอียดประกอบ จึงทำให้ต้องใช้แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณแทน โดยเลือกตัวแทนเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งที่เหมาะสม มาคำนวณหาค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งเครื่องบินพระที่นั่งที่ใช้เป็นตัวแทน คือ รุ่น ATR 72-500 ส่วนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งที่ใช้เป็นตัวแทนคือ รุ่น Bell 412-ep 
ณธีภัสร์ อ้างอิงข้อมูลจาก national business aviation association โดยใช้ ค่าใช้จ่ายในการบินต่อชั่วโมง (total operating cost of hour) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการบินที่แปรผันตามชั่วโมงบิน และรวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำมัน ค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนทางการเงิน ค่าประกัน และอื่นๆ เมื่อคำนวณออกมาแล้ว เครื่องบินพระที่นั่ง ATR 72-500 มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบินชั่วโมงละ 2,943.73 ดอลลาร์ หรือราว 97,143 บาท ส่วนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง รุ่น Bell 412-ep มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบิน ชั่วโมงละ 1,890 ดอลลาร์ หรือราว 62,370 บาท (เมื่อคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564)
ณธีภัสร์ กล่าวว่า รายการนี้มีการของบประมาณในปี 65 ทั้งสิ้น 1,567 ล้านบาท เมื่อหักค่าบริภัณฑ์ภาคพื้นสนับสนุนของหน่วยบินเดโชชัย 3 ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจ และค่าใช้จ่ายในการฝึกบินจำลอง โดยอ้างอิงจากตัวเลขปี 64 จะเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1,258 ล้านบาท หากนำเงินจำนวนนี้แบ่งไปใช้สำหรับการบินด้วยเครื่องบินและการบินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไม่ว่าจะแบ่งโดยสัดส่วนใดก็ตาม ต่อให้บินทั้งวันทั้งคืนและไม่มีวันหยุด ก็จะสามารถบินได้มากกว่า 365 วันด้วยซ้ำไป หรือกรณีบินด้วยเฮลิคอปเตอร์อย่างเดียว สามารถบินได้ถึง 841 วัน หรือหากจะพูดให้นึกภาพได้ง่ายๆ คือ บินทั้งวันทั้งคืน ตลอดสองปี งบประมาณก้อนนี้ยังใช้ไม่หมด
ณธีภัสร์ อภิปรายต่อไปว่า ไม่ว่าจะคำนวณจากสมมุติฐานหรือการเบิกจ่ายในอดีต งบประมาณในส่วนนี้ก็สูงกว่าความเป็นจริงไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท หากถูกตัดลดลงไป จะไม่ทำให้หน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบในรายการนี้ ลดคุณภาพการซ่อมบำรุงหรือลดระดับความปลอดภัยในการใช้พาหนะได้เลย เห็นได้ชัดจากค่าใช้จ่ายที่ได้แสดงมาข้างต้น แต่เงินที่เหลืออยู่นี้ หากนำไปใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ก็จะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าเอาไปกองไว้เฉยๆ ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด ทำให้ผู้ประกอบกิจการด้านการบินไม่สามารถดำเนินกิจการได้เนื่องจากนโยบายของรัฐ ทำให้นักบินและลูกเรือประมาณ 15,000 คนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปีนี้เพิ่งได้รับเงินชดเชย 2,500 บาทจากประกันสังคม รัฐบาลจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรได้บ้าง?
ตามที่ตนได้ยกตัวอย่างมา งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ปรับลดงบประมาณได้ จึงเสนอให้ตัดลดงบประมาณของของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับลง 10% 
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของณธีภัสร์เป็นอันตกไป เพราะมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยให้ปรับลดงบสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ ตามจำนวนที่กมธ. ข้างมากได้ปรับลดไว้ 

โครงการก่อสร้างอื่นถูกหั่นงบ แต่โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์รอด ไม่โดนตัดงบแม้แต่บาทเดียว

ในวาระหนึ่ง งบประมาณกระทรวงกลาโหมตั้งไว้ที่ 95,980 ล้านบาท แต่กมธ. ข้างมากมีมติปรับลด 3,226 ล้านบาท เท่ากับว่าเหลือ   92,753 ล้านบาท เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอให้ปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมอีก 25% โดยเบญจาอภิปรายถึงงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนี้
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ของสป. (พื้นที่ประชาชื่น) ระยะที่หนึ่ง มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างห้าปี ตั้งแต่ 2563-2567 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 943 ล้านบาท และนับจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 มีการเบิกจ่ายจริงไปได้เพียง 141 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68% จะเห็นว่าการเบิกจ่ายล้มเหลวและไม่ตรงเป้า แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารปรับลด (ของกมธ.) ก็เข้าใจได้เพราะในชั้นอนุกรรมาธิการปรับลดงบไปแล้ว 25 ล้านบาท
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ของสป. (พื้นที่บางจาก) วงเงิน 943 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างสี่ปี ตั้งแต่ 2563-2566 ปี 2564 เบิกจ่ายจริงไป 155 ล้านบาท เท่ากับเบิกจ่ายไป 75% แต่ก็มีปัญหาการเบิกจ่ายจริงที่ล่าช้า ไม่ตรงเป้า
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ของสป. (พื้นที่ประชาชื่น) ระยะที่สอง วงเงิน 948 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างสี่ปี ตั้งแต่ 2564-2567 ปี 2564 ยังไม่มีการเบิกจ่าย ยังไม่มีการลงนาม แล้วทำไมงบประมาณส่วนนี้ถึงยังไม่ถูกปรับลด
๐ โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์ (ถนนอู่ทองนอก) และค่าที่ปรึกษา เป็นโครงการสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองนอก ให้กับข้าราชบริพารที่อยู่ภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์ โครงการนี้ตั้งงบตั้งแต่ปี 2562-2565 กรอบวงเงินรวมค่าที่ปรึกษา 642 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินก่อสร้างสี่ปี ดำเนินการมาเป็นปีที่สามแล้ว แต่กลับเบิกจ่ายไปได้แค่ 54% และงบประมาณก็ไม่ถูกปรับลดแม้แต่บาทเดียว ขณะที่โครงการลักษณะเดียวกันหลายๆ โครงการถูกปรับลด แต่โครงการนี้ไม่ถูกปรับลด
เบญจาตั้งคำถามถึงกมธ. ว่าทำไมถึงไม่ปรับลด และเหตุใดโครงการนี้ถึงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทำไมถึงไม่โอนย้ายไปเป็นภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่ใช่สวัสดิการของบุคลากรในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด ซึ่งตนก็ได้ทราบมาว่า กมธ. ของพรรคก้าวไกลได้ถามสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งปรากฏว่า คำชี้แจงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่า โครงการนี้เริ่มต้นมาก่อนจะมี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 แต่ความจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น เพราะโครงการนี้เริ่มขอจัดสรรเข้ามาปีงบประมาณ 2562 
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของเบญจาเป็นอันตกไป เพราะมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยให้ปรับลดงบกระทรวงกลาโหม ตามจำนวนที่กมธ. ข้างมากได้ปรับลดไว้ 

ส.ส. ก้าวไกลเสนอปรับลดงบ “ส่วนราชการในพระองค์” ห้ามฉายสไลด์ตลอดการอภิปราย ท้ายที่สุดแพ้โหวต คงวงเงินเดิม 8,761 ล้านบาท

ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ซึ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ตั้งงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ไว้ที่ 8,761 ล้านบาท และในชั้นกมธ. ก็ไม่ได้มีการปรับลดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์แต่อย่างใด
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. ก้าวไกล เตรียมอภิปรายข้อเสนอตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์ แต่สไลด์ที่เตรียมมานั้นไม่สามารถฉายได้ จึงสอบถามเหตุผลต่อประธาน และชี้แจงว่าข้อมูลที่นำมาใส่ในสไลด์ ก็ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ “ประชาชนเข้าถึงได้” จากทางเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ ด้านประธานในที่ประชุม ชี้แจงเรื่องข้อจำกัดของวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ว่ามีกฎหมายเฉพาะ หากหมิ่นเหม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ก็มีข้อกังวลว่าสถานีจะถูกปิด จึงขอละเรื่องการฉายสไลด์ แต่ว่าส.ส. สามารถอภิปรายเนื้อหาได้
พิจารณ์ เสนอให้ปรับลดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ 1,500 ล้านบาท ให้เหตุผลว่า เมื่อปีงบประมาณ 2564 ตนเป็นกมธ. จำได้ว่าผู้แทนจากสำนักงบประมาณมาชี้แจงแทนตัวแทนจากส่วนราชการในพระองค์ โดยกมธ. จากพรรคก้าวไกลสอบถามว่า เหตุใดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ถึงสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2564 สำนักงบประมาณตอบสั้นๆ ว่าเกิดจากการโอนงบประมาณมาจากกระทรวงกลาโหม กมธ. ขอเอกสารชี้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจนถึงทุกวันนั้นก็ยังไม่ได้รับเอกสารชี้แจงแม้แต่หน้าเดียว และในปีงบประมาณนี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็เป็นผู้ชี้แจงงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์อีกครั้ง
โดยในปีงบประมาณนี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงปากเปล่า โดยให้ข้อมูลว่าส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากร 14,275 อัตรา และใช้งบประมาณด้านบุคลากร 8.098 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 
พิจารณ์ระบุว่า เมื่อไปย้อนดูเอกสารงบประมาณ (ขาวคาดแดง) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ไล่เลียงมา ในปีงบประมาณ 2559 และ 2560 ยังไม่มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ในปีงบประมาณ 2560 พบว่าภายใต้สามหน่วยงานหลักที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่ในสังกัดส่วนราชการในพระองค์แล้ว 1) สำนักพระราชวัง ปี 2560 มีงบประมาณสามพันกว่าล้านบาท 2) สำนักราชเลขาธิการ ห้าร้อยกว่าล้านบาท 3) กรมราชองค์รักษ์ แปดร้อยกว่าล้านบาท โดยทุกหน่วยงานมีการระบุถึงรายจ่ายชัดเจนว่าค่ายเงินเดือนบุคลากรเท่าไหร่ เช่ารถกี่คัน ถวายเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระองค์กี่บาท 
ทว่า ตั้งแต่เอกสารงบประมาณ ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สำนักงบประมาณแสดงข้อมูลเหลือแค่บรรทัดเดียว ในชั้นกมธ. แทนที่จะมีเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ก็ยังคงมีเอกสารบรรทัดเดียวและอธิบายด้วยวาจาสั้นๆ นี่เป็นคำถามที่สำนักงบประมาณต้องชี้แจงว่าบกพร่องในหน้าที่การจัดทำเอกสารงบประมาณหรือไม่ เพราะย้อนไปปีงบประมาณก่อนๆ หน้านั้นล้วนแต่มีรายละเอียดทั้งสิ้น
พิจารณ์ระบุว่า ถ้าเป็นไปตามที่ชี้แจงมา คือ 92% ของงบส่วนราชการในพระองค์เป็นงบบุคลากร จะกลายเป็นว่าส่วนราชการในพระองค์เหลืองบประมาณสำหรับปฏิบัติงานเพียง 663 ล้านบาท ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อย้อนไปดูปีงบประมาณ 2560 ลำพังเพียงสำนักพระราชวัง มีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานถวายความสะดวกแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 1,700 กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมงบประมาณบุคลากรและเงินอุดหนุนต่างๆ
พิจารณ์จึงเสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ 1,500 ล้านบาท โดยใช้ตัวเลขงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งตั้งไว้ 7,685 ล้านบาท เป็นฐานคิด เพราะงบประมาณปี 2563 เป็นการตั้งงบภายหลังมีการออกโอนอัตรากำลังพลฯ แล้ว
ด้านรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลงจำนวน 3,568 ล้านบาท หรือ 40.72% รังสิมันต์อภิปรายว่า ส่วนราชการในพระองค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีนี้ เป็นปีที่ห้าแล้ว ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบแต่ละปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในทุกปี 
ส่วนราชการในพระองค์ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ในยุคคสช. กำหนดให้โอนกิจการต่างๆ ห้าหน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักราชเลขาธิการ 2) สำนักพระราชวัง 3) กรมราชองครักษ์ 4) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 5) สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
รังสิมันต์ระบุว่า งบประมาณเกี่ยวกับการดำเนินงานราชการในพระองค์ ยังปรากฏอยู่ในหน่วยรับงบประมาณอื่นๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นต้นสังกัดเดิมของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มาเทียบก่อน-หลังมีส่วนราชการในพระองค์ ในปีงบประมาณ 2559 ผลผลิตการถวายความปลอดภัย แม้จะมีทั้งงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบรายจ่ายอื่น งบประมาณก็ตั้งไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่พอปีงบประมาณ 2561 แม้จะโอนกิจการไปแล้ว กลับพบว่ามีงบประมาณรายการชื่อเดียวกัน แต่กลายเป็นงบเงินอุดหนุน ซึ่งสูงถึง 2,800 ล้านบาท หรือปีล่าสุดก็ยังมีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ 1,200 ล้านบาท 
รังสิมันต์ระบุว่าการที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบการถวายความปลอดภัยและมีการจัดสรรงบประมาณด้านนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็น คือ เมื่อโอนกิจการที่อยู่ภายใต้สังกัดไปยังส่วนราชการในพระองค์ การจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับกิจการเหล่านั้น] ก็ควรโอนไปด้วย ปรากฏว่าของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการจัดสรรงบประมาณเหล่านี้อยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ก็ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ถ้าเช่นนั้นนำการจัดสรรกลับมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบทั้งหมดภายใต้การตรวจสอบของสภาฯ จะดีกว่าหรือไม่ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมยังแสดงรายละเอียดในเอกสารและส่งคนมาชี้แจง
รังสิมันต์ ทิ้งท้ายว่า ด้วยเหตุนี้จึงเสนอตัดลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ โดยให้อิงจากงบประมาณของสามหน่วยงานที่โอนไปยังส่วนราชการในพระองค์ คือ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และกรมราชองครักษ์ ก็จะได้งบที่ควรจะเป็น และเสนอให้ปรับลด 3,568 ล้านบาท เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดทั้งกับประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์
เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลง 15% หรือประมาณ 1,314 ล้านบาท เบญาจาอภิปรายว่า งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่างบประมาณปี 65 จะลดลงกว่าปีงบประมาณ 64 2.4% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณในปีนี้ ที่ลดลงไปกว่า 5.6% และถ้าลองเทียบกับปีงบประมาณ 61 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ปีงบประมาณนี้ ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 61 ถึง 4,565 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 108% ภายในสี่ปี
เบญจาระบุว่า งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ที่ตั้งไว้ 8,761 ล้านบาท มากกว่างบประมาณกระทรวงอื่นหลายกระทรวง โดยสูงกว่างบประมาณกระทรวงอุตสาหกรรมถึงสองเท่า สูงกว่างบประมาณกระทรวงพลังงานถึงสามเท่า และยังไม่นับว่า มาตรา 5 วรรคห้าของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ตามที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งกฎหมายข้อนี้เองเป็นสาเหตุให้หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานต้องตั้งงบประมาณไว้สำหรับดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
เบญจาอภิปรายต่อว่า ปีงบประมาณนี้ ส่วนราชการในพระองค์ก็ไม่ได้ส่งผู้แทนมาชี้แจง เอกสารชี้แจงที่กมธ. ขอไปเมื่อปีงบประมาณก่อนก็ยังไม่มีการนำส่งสภาฯ ปีนี้มีเอกสารงบประมาณแค่เจ็ดหน้า ซึ่งแทบจะไม่บอกให้รับรู้อะไรเลย เบญจาแจงว่า นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะก่อนมีส่วนราชการในพระองค์ เอกสารงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เดิม เช่น สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ กรมราชองครักษ์ ก็ระบุรายละเอียดงบประมาณว่านำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟเท่าไหร่ มีการเช่ารถกี่คัน ค่าก่อสร้างอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ความลับ ไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดอะไร ซึ่งสำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่กลับไม่จัดทำเอกสารให้สภาฯ รับทราบ มีแต่การชี้แจงปากเปล่าต่อกมธ. 
ส่วนราชการในพระองค์ มีบุคลากร 14,275 คน ใช้งบบุคลากร 8.098 ล้านบาท ซึ่งหากเชื่อที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจง นั่นเท่ากับว่าส่วนราชการในพระองค์มีข้าราชการมากกว่าข้าราชการประจำหลายกระทรวง เช่น กระทรวงแรงงานมีข้าราชการอยู่ 5,919 คน กระทรวงพาณิชย์ มีข้าราชการ 3,544 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้าราชการอยู่ 3,054 คน 
เบญจากล่าวสรุปว่า โดยเหตุนี้ จึงเสนอให้ปรับลดงบประมาณ ส่วนราชการในพระองค์ลง 15% และในระยะยาว ขอให้สภาฯ เสนอทบทวนวิธีจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เหมาะสมกับพระราชสถานะตามสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเสนอให้มีการทบทวนพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่ออกมาในยุคคสช. เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้อาจจะขัดต่อหลักการ The King Can Do No Wrong 
ในมาตรานี้ กมธ. ข้างมากไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติม และท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับกมธ. ข้างมากที่ไม่ได้ปรับลดงบส่วนราชการในพระองค์ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 337 เสียง ขณะที่ 47 เสียง เห็นด้วยกับส.ส. ข้างน้อยที่ส.ส. ให้ปรับลดงบ และงดออกเสียง 3 เสียง