สภาฯ เคาะ #งบประมาณปี65 วงเงินรวม 3.1 ล้านล้านบาท ตั้งงบกลางเยียวยาโควิด-19 16,362 ล้านบาท

fiscal year 2021
fiscal year 2021
18 สิงหาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565) ในวาระสอง ลงมติรายมาตรา ว่าจะแก้ไขจำนวนงบประมาณของแต่ละมาตราหรือไม่ และวาระสาม เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างทั้งฉบับ ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้จะลากยาวไปจนถึง 20 สิงหาคม 2564 รวมทั้งสิ้นใช้เวลาในการพิจารณาถึงสามวัน
ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ตั้งงบประมาณรวมอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไปแล้วเมื่อ 2 มิถุนายน 2564 ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (กมธ.) จำนวน 72 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ระหว่างกระบวนการพิจารณาชั้น กมธ. มีการตัดลดงบประมาณของหลายหน่วยงาน และเสนอให้ไปเพิ่มใน “งบกลาง” เพิ่มรายการสำหรับโควิด-19 โดยเฉพาะ จากนั้นร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 จึงเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสอง-สาม ซึ่งในชั้นนี้ มติของสภาผู้แทนราษฎรจะชี้วัดว่าท้ายที่สุดแล้วจำนวนวงเงิน #งบประมาณปี65 จะออกมาเป็นจำนวนเท่าใด

สภาฯ เคาะวงเงินรวม #งบประมาณปี65 3.1 ล้านล้านบาท เสียงข้างน้อยห่วงจัดเก็บรายได้ไม่พอ ต้องกู้เพิ่ม

สำหรับการพิจารณาในช่วงแรกของวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เริ่มพิจารณาจากวงเงินรวมงบประมาณซึ่งตั้งไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท และในชั้นกมธ. กมธ. เสียงข้างมากก็ไม่ได้มีมติให้ลดวงเงินรวม อย่างไรก็ดีกมธ. ข้างน้อย และส.ส. บางส่วนเห็นว่า ควรปรับลดวงเงินงบประมาณโดยรวมลงจาก 3.1 ล้านล้านบาท เนื่องจากห่วงกังวลว่า หากการจัดเก็บรายได้ของประเทศไม่เป็นไปตามการคาดการ จะส่งผลให้รัฐต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาชดเชยที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งกมธ. และส.ส. แต่ละคนก็มีข้อเสนอให้ตัดลดแตกต่างกัน เช่น
  • ทวี สอดส่อง กมธ. ข้างน้อย เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักความเป็นธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส เสนอปรับลด 6% ประมาณ 186,000 ล้านบาท เหตุที่เสนอปรับลด เพราะควรนำเงินก้อนนี้ไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์กับประชาชน 

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กมธ. เสียงข้างน้อย เสนอให้ปรับวงเงินรวม จาก 3.1 ล้านล้านบาท ปรับลง 1 แสนล้านบาท เหลือ 3 ล้านล้านบาท โดยพิธาให้เหตุผลว่า แม้กมธ. จะ “รีดไขมัน” ได้ 16,362 ล้านบาท เพื่อนำไปโปะงบกลาง #โควิด19 แต่ก็ยังมีไขมันอีกจำนวนมาก พิธาเห็นว่า ในงบประมาณปี65 ยังสามารถรีดไขมันออกได้อีก เช่น งบของหน่วยงานด้านความมั่นคง งบก่อสร้าง งบที่มีพิรุธ (เช่น พิรุธจากใบเสนอราคา)

  • ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอเช่นเดียวกับพิธา กล่าวคือ วงเงินรวม 3.1 ล้านล้านบาท ให้ปรับลด 1 แสนล้านบาท เพราะในแต่ละปีงบประมาณต้องกู้ชดเชยการขาดดุล เนื่องจากรายได้ไม่พอกับงบประมาณรายจ่ายที่ตั้ง และในปีงบประมาณ 64 (ที่กำลังใช้อยู่) ประมาณการรายได้จะไม่พอต่อรายจ่าย ซึ่งต้องทำเงินคงคลังมาโปะ ส่วนในงบประมาณปี 65 จากวิกฤตทางเศรษฐกิจก็อาจกระทบต่อรายได้ของประเทศ จึงควรปรับโครงสร้างงบประมาณด้วย เช่น ประเด็นงบประมาณบุคลากรภาครัฐ รวมเงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล คิดเป็น 40% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ผ่านมามีมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐที่ออกมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจะครบกำหนดการใช้มาตรการนี้ในปี 2565 โดยจะลดค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐลงโดยทดแทนข้าราชการผู้เกษียณอายุ ด้วยพนักงานราชการ คำถามคือ มาตรการเหล่านี้ไปถึงไหนแล้ว ทำไมค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

  • จิรายุ ห่วงทรัพย์ กมธ. เสียงข้างน้อย เสนอให้ปรับวงเงินงบประมาณรวมที่ตั้งไว้ จาก 3.1 ล้านล้านบาท ลดลง 10% คือ ปรับลดไป 310,000 ล้านบาท จิรายุให้เหตุผลว่า หน่วยงานต่างๆ ขอตั้งงบประมาณไม่เหมาะสมงบประมาณ หลายหน่วยงานที่ตั้งงบเหมือนๆ เดิม เหมือนช่วงที่ไม่มีสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณที่ใช้ไม่ได้ ถ้าหากปรับลดวงเงินรวมลง ก็จะลดภาระด้านเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลกรณีรายได้จัดเก็บไม่พองบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้

  • พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอให้ปรับลดวงเงินงบประมาณรวมลง 5% จาก 3.1 ล้านล้านบาท โดยพิจารณ์ยกเรื่อง “เงินนอกงบประมาณ” ซึ่งเป็นรายได้ของหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บไว้ และมีข้อตกลงกับกระทรวงการคลังที่สามารถจัดเก็บไว้ใช้เองได้ (ไม่ต้องนำส่งคลัง) หรือส่งคลังเป็นจำนวนเท่าที่กำหนด พิจารณ์กล่าวว่า แต่ละหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ นำเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานตนเองมาใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากการคาดการณ์ในปี 2565 จะมีเงินนอกงบประมาณอยู่ที่ 4.375 ล้านล้านบาท และจะถูกนำมาสมทบกับเงินคงคลังเพื่อจัดสรรงบประมาณแค่ 1.22 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีเงินนอกงบประมาณของแต่ละหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว ควรนำมาบริหารใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า เพื่อลดการรีดภาษีประชาชน

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเคาะ วงเงินรวมร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ที่จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่กมธ. ข้างมากไม่แก้ไข ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย (ให้ไม่แก้ไข) 224 เสียง ไม่เห็นด้วย (เห็นว่าควรแก้ไขวงเงินรวม) 40 เสียง งดออกเสียง 38 เสียง ข้อเสนอให้ปรับลดวงเงินรวมของกมธ. ข้างน้อย และส.ส. เป็นอันตกไป 

  • เคาะงบกลาง 587,409 ล้านบาท ตั้งรายการเยียวยาโควิด-19 16,362 ล้านบาท ข้างน้อยห่วงให้อำนาจนายกฯ เต็มมือ

สำหรับ “งบกลาง” ภายหลังจากกมธ. เสียงข้างมาก มีมติให้นำงบที่ตัดลดจากหน่วยงานและแผนงานต่างๆ จำนวน 16,362  ล้านบาท ไปไว้ในงบกลาง เพิ่มรายการค่าใช้จ่ายเยียวยาโควิด-19 ขึ้นมาเฉพาะ (ซึ่งจะเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีงบกลาง รายการเยียวยาโควิด-19 เฉพาะ ) การที่กมธ. มีมตินำงบที่ตัดลดไปโปะงบกลาง ทำให้งบกลางทั้งหมด อยู่ที่ 587,409 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีกมธ. เสียงข้างน้อย และส.ส. ที่เสนอให้ปรับลดวงเงินรวมของงบกลาง หรือปรับลดวงเงินบางงรายการที่อยู่ในงบกลาง เช่น

  • ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอให้ตัดวงเงินรวมของงบกลางลง เหลือ 551,047 ล้านบาท ศิริกัญญาระบุว่า งบกลางเป็นการให้อำนาจเห็นชอบเต็มๆ ที่นายกฯ ทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ จาก ปีงบประมาณ 64 (ซึ่งกำลังใช้อยู่ขณะนี้) มีการอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน ไปใช้กับโครงการที่ชวนตั้งคำถามว่าโครงการเหล่านี้จำเป็นเร่งด่วนจริงๆ หรือ เช่น โครงการซ่อม/สร้างถนน 180 โครงการ โครงการแหล่งน้ำ/ประชา 250 โครงการ ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก

  • เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ. ข้างน้อย เสนอให้ตัดลด “งบกลาง”  เฉพาะบางรายการ ซึ่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ได้แก่
    • เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท เสนอให้ปรับลดลง 436 ล้านบาท
    • เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ  310,600 ล้านบาท เรืองไกรเสนอให้ปรับลดลง 436 ล้านบาท
    • เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท เสนอให้ปรับลดลง 10,000 ล้านบาท
    • เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท เรืองไกรเสนอให้ปรับลดลง 57 ล้านบาท
    • เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท เสนอให้ปรับลดลง 70,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของเสียงข้างน้อยก็ตกไป เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยกับกมธ. เสียงข้างมาก ที่เพิ่มรายการค่าใช้จ่ายเยียวยาโควิด-19 ขึ้นมาในงบกลาง 16,362  ล้านบาท และไม่มีการแก้ไขรายการอื่นๆ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 326 เสียง ขณะที่อีก 52 เสียง เห็นด้วยกับกมธ. ข้างน้อย หรือส.ส. ที่มีข้อเสนออื่นๆ และงดออกเสียง 2 เสียง

ผลจากมติของสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้ “งบกลาง” มีจำนวนรวม 587,409 ล้านบาท จำแนกได้เป็น

  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 16,362 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
  • เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
  • เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท
  • เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท
  • เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท
  • เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
  • เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท
  • เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบกลาง ค่าใช้จ่ายเยียวยาโควิด-19 จำนวน 16,362 ล้านบาท เป็นวงเงินเฉพาะในร่างพ.ร.บ. งบประมาณปี 65 เท่านั้น แต่ยังไม่รวมเงินในพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ “พ.ร.ก. เงินกู้ห้าแสนล้านบาท” ซึ่งตั้งวงเงินสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย จำนวน 300,000 ล้านบาท