สรุปคำฟ้อง สื่อมวลชนร้องศาลห้ามตำรวจยิงกระสุนยาง งดใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม

จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ของกลุ่ม #REDEM เจ้าหน้าที่มีการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อทำการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงผู้ชุมนุม หรือประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุมนุมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการโดนยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา แต่รวมถึงสื่อมวลชนอีกหลายคนที่เข้าไปทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย 
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อมวลชนได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เคยมีนักข่าวรวมถึงช่างภาพหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีการใช้กระสุนยางรวมถึงการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ต่อสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม 
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่า ขณะนี้มีคดีที่สื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจากการใช้กระสุนยางจำนวน 2 คดี คือ จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา และ #ม็อบ18กรกฎา 

สรุปคำฟ้องคดีผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา

จากเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ทำให้มีประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่คือ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทตัดสินใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 และพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2  พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลไต่สวนเป็นการฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชุมนุม 
โดยในคำฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากกลุ่ม Redem ได้มีการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่บริเวณสนามหลวง ซึ่งปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลง ตั้งแต่ฝั่งศาลฎีกาไปยังวัดมหาธาตุในลักษณะกีดขวางหรือจำกัดพื้นที่ชุมนุม โดยต่อมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้มีการเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนไว้รองรับสถานการณ์การชุมนุมจำนวน 22 กองร้อย ซึ่งนับว่าเป็นการจัดเตรียมกำลังที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่าความจำเป็นแห่งกรณีและพึงคาดหมายได้ว่าเป็นการจัดเตรียมกำลังเพื่อสลายการชุมนุม 
ในวันดังกล่าวโจทก์ได้รับมอบหมายจากสำนักข่าวประชาไทให้ลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนาม ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์นั้น โจทก์มีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว สวมปลอกแขนแสดงชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชน ซึ่งปลอกแขนดังกล่าวมีไว้สำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์ในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนภาคสนาม และสวมหมวกนิรภัยที่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า “PRESS” ซึ่งแปลว่าสื่อมวลชน ซึ่งทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและผู้ชุมนุมสามารถทราบได้ทันทีว่าโจทก์เป็นสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
โดยขณะที่โจทก์ได้ทำการถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ประชาไท Prachatai.com” เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้แก๊สน้ำตา มีการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนโดยไม่ระบุเป้าหหมาย มีการไล่ทำร้ายด้วยการกระทืบ ใช้กระบองตีกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงหรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สื่อ เจ้าพนักงานตำรวจมีพฤติกรรมกีดกันการทำหน้าที่ของโจทก์ในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชนด้วยการห้ามมิให้ถ่ายภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมและพยายามกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ 
ต่อมาในเวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่โจทก์ถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์อยู่นั้นได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางเข้าใส่โจทก์จำนวนสองนัดจากด้านหลังอย่างต่อเนื่อง นัดแรกถูกบริเวณลำตัวด้านหลัง อีกนัดถูกบริเวณลำตัวด้านหลังขวา ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่โจทก์ไม่ได้มีท่าทีว่าจะก่อให้เกิดอันตรายใดๆ อันจะเป็นเป้าหมายให้เจ้าพนักงานตำรวจต้องใช้กระสุนยางกับโจทก์ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเล็งยิงมาที่ลำตัว มิใช่การเล็งยิงกระทบส่วนล่างของร่างกายตามกฎการใช้กำลังแต่อย่างใด
ภายหลังจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บ มีพลเมืองดีนำตัวโจทก์ขึ้นรถยนต์ไปส่งที่โรงพยาบาลวชิระซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ปรากฎว่าไม่สามารถเดินทางไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้รั้วเหล็กและรถยนต์ที่ใช้ในราชการตำรวจมาปิดกั้นเส้นทางไว้ ทำให้ต้องหาเส้นทางอื่น ใช้เวลากว่า 30 นาที จนทำให้ต้องเปลี่ยนพาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชแทน การปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว โดยเฉพาะเส้นทางที่ใช้สัญจรไปโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการรักษาพยาบาล ย่อมส่งผลกระทบต่อโจทก์และประชาชน 
นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนภาคสนามที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธยิงกระสุนยางจนได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย ทั้งนี้ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมทราบดีว่ามีสื่อมวลชนปฎิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากโจทก์และสื่อมวลชนทุกคนสวมปลอกแขนที่มีสัญลักษณ์ของสื่อมวลชน เห็นได้ชัดเจน และมีบัตรห้อยคอระบุว่าเป็นสื่อมวลชน แต่เจ้าพนักงานตำรวจกลับจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์และสื่อมวลชนอื่นๆ จนได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่ไม่ปรากฎเหตุหรือพฤติการณ์ใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย 
อีกทั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อโจทก์ สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธ โดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและไม่เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) รวมถึงยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและเป็นกรอบควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาล
1. มีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการปิดกั้นทางสัญจรในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
2. มีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุม ห้ามใช้แก๊สน้ำตาหรือสารเคมี ห้ามฉีดน้ำและกระสุนยางในการควบวคุมผู้ชุมนุม ห้ามใช้ความรุนแรงกับโจทก์และสื่อมวลชนอื่น 
อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกันโดยให้เหตุผลว่า คำขอของโจทก์ที่ให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัด กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ในเหตุการณ์การชุมนุมสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกครั้งที่จะมีการชุมนุมนั้นเป็นคนละเหตุการณ์กับที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ศาลจึงไม่อาจบังคับตามคำขอนี้ได้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

สรุปคำฟ้องคดี ช่างภาพ The Matter และผู้สื่อข่าว Plus Seven เหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Plus Seven และช่างภาพจากสำนักข่าว The Matter เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2 , ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 3 และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เป็นจำเลยที่ 4 จากกรณีใช้กระสุนยางเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564  เป็นเหตุทำให้ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมายสากล พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลไต่สวนเป็นกรณีฉุกเฉิน ขอให้มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ 
ในคำฟ้องระบุว่า ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 โจทก์ทั้งสองได้รับมอบหมายจากสำนักข่าวให้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อทำข่าวเหตุการณ์การชุมนุม โดยผู้ชุมนุมนัดรวมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 14.00 น. ก่อนจะเคลื่อนขบวนโดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลาง มุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปยังถนนราชดำเนินนอก ผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์และแยกมิสกวัน มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล  โดยปรากฎว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลง รถฉีดน้ำแรงดันสูง และมีการตรึงกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไว้ตามจุดต่างๆ ที่เป็นเส้นทางสัญจรจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อจำกัดการเดินทางของผู้ชุมนุม 
ในขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล ยังไม่ได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือก่อเหตุไม่สงบแต่อย่างใด แต่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็วและไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักการสากล อันได้แก่ หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Uses of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) และคู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2663) 
อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้อาวุธร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นรถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำเปล่าและน้ำผสมสารเคมี, ยิงแก๊สน้ำตาแบบควัน, และใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ, เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ไปถึงโรงเรียนราชวินิตมัธยม, สี่แยกนางเลิ้ง, สี่แยกเทวกรรม และสี่แยกอุรุพงษ์ ทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์ใดบ่งชี้ว่ามีการจราจลหรือมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นทำให้การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบอันจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถใช้มาตรการข้างต้นได้แต่อย่างใด 
๐ โจทก์ที่ 1 ได้รับมอบหมายจากสำนักข่าว PLUS SEVEN ให้ลงพื้นที่ทำข่าวตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยมีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว สวมปลอกแขนเขียนว่า “สื่อมวลชน PRESS” ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นสื่อมวลชนอย่างชัดเจน ซึ่งขณะที่โจทก์ที่ 1 กำลังติดตามทำข่าวเหตุการณ์ชุมนุมอยู่นั้น เจ้าพนักงานตำรวจประกาศว่าจะใช้มาตรการฉีดน้ำแรงดันสูง ปรากฎว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางหนึ่งนัดมาโดนโจทก์ที่ 1 บริเวณสะโพกขวาทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ โดยขณะที่ถูกยิง โจทก์ที่ 1 ยืนอยู่บริเวณศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้มีท่าทีคุกคามบุคคลหรือใช้ความรุนแรงหรือก่ออันตรายอันจะเป็นเป้าหมายในการใช้กระสุนยางได้แต่อย่างใด การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจกรณีนี้จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกินจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ได้สัดส่วน เจตนาทำร้ายร่างกายอย่างชัดแจ้ง 
๐ โจทก์ที่ 2 ได้รับมอบหมายจากสำนักข่าว The Matter ให้ลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามโดยทำหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์การชุมนุมในวันดังกล่าว โจทก์ที่ 2 สวมปลอกแขนสีขาว เขียนคำว่า “สื่อมวลชน PRESS” ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นสื่อมวลชนอย่างชัดเจน ขณะที่โจทก์ที่ 2 กำลังถ่ายภาพอยู่ในบริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศและแยกนางเลิ้ง เจ้าพนักงานตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาแบบควันใส่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ไม่ปรากฎว่ามีพฤติการณ์ที่ใช้ความรุนแรงถึงขนาดที่จะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมได้ เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุม รวมถึงโจทก์ที่ 2 ได้รับผลกระทบจากสารเคมีในแก๊สน้ำตา จากนั้นขณะที่โจทก์ที่ 2 กำลังถ่ายภาพอยู่บริเวณป้ายรถโดยสารหน้าสหกรณ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครฯ ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนราชวินิต มัธยม โจทก์ที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยาง 1 นัดถูกบริเวณแขนซ้ายทำให้ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจกรณีนี้จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกินจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ได้สัดส่วน เจตนาทำร้ายร่างกายอย่างชัดแจ้ง 
พฤติการณ์ของเจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยการยิงแก๊สน้ำตา เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย อีกทั้งการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ทั้งสองและผู้ชุมนุมโดยไม่แยกแยะและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายของโจทก์ทั้งสองและบุคคลอื่น ซึ่งนอกจากโจทก์ทั้งสองแล้วยังมีผู้ชุมนุมอื่นที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนทางหลายราย และการที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่เตือนผู้ชุมนุมก่อนว่าจะมีการใช้กระสุนยาง จนทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บนั้น ล้วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมของเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมาพบว่ามีการมุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนมากขึ้น เห็นได้จากกรณีสลายการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 เป็นเหตุให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางหลายราย การที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการดังกล่าว ย่อมเป็นการมุ่งให้เกิดความกลัวในหมู่สื่อมวลชนเพื่อให้ไม่กล้าที่จะปฏิบัติงานภาคสนาม จำกัดการรายงานข่าวหรือปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำต่อผู้ชุมนุม อันเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานตำรวจและการปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจทำละเมิดแก่โจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงมีคำขอ ดังน้ี
1. ให้จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง 
2. ให้จำเลยทั้งสี่ ร่วมกันออกประกาศขอโทษโจทก์ทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษร
3. ให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 บังคับบัญชาให้เจ้าพนักงานตำรวจในสังกัด ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล 
ทั้งนี้ หลังจากยื่นฟ้องไปแล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะการฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยเท่านั้นโดยให้เหตุผลว่า จำเลยอื่น ๆ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่  จึงได้รับยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ในส่วนคำขอไต่สวนฉุกเฉิน ศาลสั่งยกคำร้องเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่อาจคาดเดาได้ จึงไม่มีเหตุฉุกเฉิน เมื่อศาลยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินจึงทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตกไปในคราวเดียวกัน 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ได้เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สามเหลี่ยมดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้อาวุธที่มีความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นรถฉีดน้ำแรงดันสูง ยิงแก๊สน้ำตา และใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยาง ใส่สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยในครั้งนี้ มีสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธยิงกระสุนยางจากเจ้าพนักงานตำรวจมากกว่า 10 ราย  นอกจากนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาและตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย ส่งผลให้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแพ่งอีกครั้ง หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชนและประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้