เปิดคำเบิกความพยานผู้เชี่ยวชาญ “มาตรการไม่เลือกปฏิบัติต่อสื่อ – กฎการใช้กระสุนยาง”

เปิดคำเบิกความพยานผู้เชี่ยวชาญ “มาตรการไม่เลือกปฏิบัติต่อสื่อ – กฎการใช้กระสุนยาง”
ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเบิกความประกอบการไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ในคดีช่างภาพ The matter และผู้สื่อข่าว Plus seven เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2 , ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 3 และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลแพ่ง โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่ของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม และการใช้กำลังของตำรวจควบคุมฝูงชน ดังต่อไปนี้ 
o หน้าที่ของสื่อสารมวลชนในพื้นที่ชุมนุม และการใช้มาตรการบังคับโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อสื่อ
ในประเด็นนี้ ดร.พัชร์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 ได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้งว่า  “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” รวมถึงกติกาสากลฯ General Comment 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน (journalists) และผู้ที่ทำการสังเกตการณ์การชุมนุม (monitoring, documenting, reporting on assemblies) ว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษและได้รับการคุ้มครองภายใต้ ICCPR ข้อ 21 สื่อสารมวลชนไม่ควรถูกห้ามทำหน้าที่ของตนในพื้นที่ชุมนุมแม้ว่าการชุมนุมนั้นจะผิดกฎหมาย (unlawful) หรือ เป็นกรณีถูกสลายการชุมนุม (being dispersed) สื่อสารมวลชนและผู้สังเกตการณ์มีสิทธิที่จะสังเกตการณ์และรายงาน (the right to monitor) โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย  
หรือแม้แต่ในคู่มือการปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) ได้ระบุขั้นตอนปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยกำหนดให้ “จัดระเบียบสื่อมวลชน โดยมีการรับลงทะเบียน ออกเครื่องหมายหรือบัตรแสดงตัวแก่สื่อมวลชน เพื่อความปลอดภัยและการจัดระเบียบในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม อันจะถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงต่อสื่อสารมวลชนที่จะต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในพื้นที่  เจตนารมณ์ของการระบุตัวตนเช่นนี้ก็เป็นไปเพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแยกแยะผู้ชุมนุมออกจากผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนได้ 
อย่างไรก็ตาม ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ปรากฎเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้มาตรการควบคุมฝูงชนกับสื่อมวลชนโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุการณ์เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมเนื่องจากพยายามรายงานสถานการณ์ชุมนุม บริเวณเเนวกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 3 คน ที่อยู่ระหว่างการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
ดร.พัชร์ สรุปว่า การที่โจทก์ทั้งสอง(ช่างภาพ The Matter และผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN) ถูกยิงด้วยกระสุนยางทั้ง ๆ ที่สวมปลอกแขนสื่อมวลชนและห้อยบัตรนักข่าวแสดงตัวตน จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าตำรวจควบคุมฝูงชนมิได้เคารพเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการละเมิดหลักสากลที่รับรองสิทธิของสื่อสารมวลชนในการสังเกตการณ์และรายงานข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย
๐ กฎการใช้กำลังของตำรวจควบคุมฝูงชนและการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยาง
ในประเด็นนี้ ดร.พัชร์ ระบุว่า สหประชาชาติได้มีแนวทางซึ่งถือเป็นหลักสากลเกี่ยวกับการใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมฝูงชน แนวทางดังกล่าวปรากฏในเอกสารกฎหมายระหว่างประเทศ 3 ฉบับ ได้แก่ 
(1) The United Nations Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials (UN Force and Firearms Principles) adopted on 7 September 1990  by the Eighth United Nations Congress on the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders. วางหลักว่าเจ้าหน้าที่จะต้องมีมาตรการที่ได้สัดส่วนระหว่างระดับของการฝ่าฝืนกฎหมายกับเป้าประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น กำหนดว่า รัฐบาลต้องรับรองว่าการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการการใช้กำลังนอกกรอบของกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม (arbitrary or abusive use of force and firearms) เป็นการผิดต่อกฎหมายภายใน และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะต้องได้รับโทษทางอาญา รวมถึง ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะสำหรับการสลายการชุมนุมว่า ในการสลายการชุมนุมที่ผิดกฎหมายแต่ไม่ใช่การชุมนุมที่ไม่สงบ เจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้กำลังได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น (the minimum extent necessary) 
(2) the United Nations Code of Conduct for Law Enforcement Officials, adopted by the General Assembly resolution on 17 December 1979 ข้อ 3 วางหลักว่า เจ้าหน้าที่อาจใช้กำลังได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งและจะต้องใช้กำลังภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ
(3) Guidance on Less-lethal Weapons in Law Enforcement, The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights (OHCHR) ได้กำหนดการใช้กระสุนยางไว้ในข้อ 7.5.2 ว่าการยิงจะต้องยิงต่อเป้าหมายเป็นการเฉพาะคน ไม่ใช่เป็นการยิงใส่ฝูงชน นอกจากนั้น การยิงจะต้องยิงต่อเป้าหมายต่ำกว่าเอวเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณศีรษะหรือบริเวณหน้าอก 
กระสุนยางจัดว่าเป็นประเภทอาวุธที่ไม่ถึงแก่ชีวิต กระสุนยางถูกออกแบบให้กระทบต่อร่างกายเพื่อให้เกิดการบาดเจ็บแต่ไม่ถึงชีวิต เมื่อกระสุนกระทบร่างกายแล้วกระสุนยางจะไม่ทะลุผ่านผิวหนังไปก่อความเสียหายต่ออวัยวะภายใน อย่างไรก็ดี ความแรงของกระสุนยางอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิตได้หากยิงผิดวิธี การใช้กระสุนยางที่ถูกต้องจะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยได้แก่ (1) มุมที่ทำการยิง (2) ความแม่นยำ และ (3)ระยะทางระหว่างปืนกับเป้าหมาย  
ตามหลักสากล การยิงกระสุนยางจะต้องมีความแม่นยำในรัศมี 10 เซนติเมตรของศูนย์ที่ทำการเล็ง (Guidance on Less-lethal Weapons in Law Enforcement ข้อ 7.5.4)  เอกสารฉบับนี้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าห้ามเจ้าหน้าที่กราดยิง (ข้อ 7.5.6) ดังนี้ เมื่อต้องใช้กระสุนยาง เจ้าหน้าที่จะต้องระลึกเสมอว่าเจตนารมณ์และจุดประสงค์ของอาวุธชนิดนี้ คือ การใช้ยิงโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส การยิงกราด หรือยิงโดยไม่เลือกเป้าหมายเข้าไปในฝูงชนจึงเป็นการยิงที่ผิดวัตถุประสงค์ของอาวุธชนิดนี้ การใช้กระสุนยางเข้าไปในฝูงชนโดยไม่เลือกเป้าหมายสามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ไม่พึงประสงค์ได้ 
รวมถึง กติกาสากลฯ General Comment 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า อาวุธปืน (Firearms) ไม่เหมาะสำหรับใช้ในการควบคุมฝูงชน กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดการใช้อาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ต่อเป้าหมายเป็นการเฉพาะราย (targeted individuals) ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เพื่อโต้ตอบกับภัยอันตรายร้ายแรงที่ใกล้จะถึงต่อร่างกายหรือต่อชีวิต การยิงกระสุนหุ้มยาง กระสุนยางและกระสุนพลาสติกจะต้องเข้าเงื่อนไขที่ได้กล่าวมานี้  ดังนั้น การยิงกระสุนยางไปยังฝูงชนโดยไม่เลือกเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสากล
นอกจากนี้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 19 วรรคท้าย วางหลักว่า เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและข้าราชการตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีทักษะ ความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะและต้องแต่งเครื่องแบบเพื่อแสดงตน และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ได้ประกาศให้ “กระสุนยาง” เป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชนหรือไม่ เนื่องจากประกาศดังกล่าว ระบุใน (23) เพียง “อาวุธปืนลูกซอง สำหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา” โดยไม่มีการระบุรายละเอียดหรือชนิดของกระสุนยาง เช่นเดียวกับระบุชนิดของแก็สน้ำตาประเภทต่าง ๆ เมื่อไม่มีการประกาศกำหนดให้ “กระสุนยาง” เป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน การใช้กระสุนยางจึงเป็นการใช้เครื่องมือที่ขัดต่อ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 19 
แต่หากฟังได้ว่า กระสุนยาง เป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่รัฐมนตรีได้ประกาศกำหนด การใช้กระสุนยางเชิงยุทธวิธีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์จะต้องยึดแนวปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) ซึ่งการใช้กระสุนยาง ต้องปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
 “การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ต้องใช้ตามความจำเป็นได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้บรรลุภารกิจหรือป้องกันตนเองหรือกลุ่มบุคคล หรือทรัพย์สิน 
ต้องเตือนผู้ชุมนุมหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อนว่าจะใช้กำลังเข้ายุติการชุมนุม …
การยิงกระสุนยาง ให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น รวมทั้งต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน ไม่ยิงโดยไม่แยกแยะหรือไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ใช้การยิงอัตโนมัติ จะต้องเล็งยิงให้กระสุนยางกระทบส่วนล่างของร่างกายของผู้ที่เป็นเป้าหมาย”
ดังนั้น ดร.พัชร์ จึงเห็นว่า หากโจทก์ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือชีวิตของผู้อื่น การที่โจทก์ทั้งสองถูกยิงด้วยกระสุนยางจึงเป็นกรณีที่ตำรวจควบคุมฝูงชนต้องสงสัยว่าได้ทำการยิงอาวุธโดยไม่มีเหตุให้ใช้อาวุธปืน หรือเป็นกรณีที่จงใจยิงไปยังฝูงชนโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสากลและคู่มือปฏิบัติงานของตำรวจ ตำรวจมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบ