1 ปี ม็อบเยาวชนปลดแอก: ข้อเรียกร้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ยังไม่คืบหน้า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หรือ เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้ กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth ได้จัดการชุมนุมใหญ่บนท้องถนนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวยกระดับของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาล โดย ณ ขณะนั้น ข้อเรียกร้องสำคัญ มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. หยุดคุกคามประชาชน
แม้ว่าในเวลาต่อมา ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการขยับปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ข้อเสนอในการ "ร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ยังเป็นข้อเสนอหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แค่กลุ่มเยาวชนปลดแอก เพียงแต่ เมื่อนำการเคลื่อนไหวบนท้องถนนไปเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวในสภาแล้ว จะพบว่า ประเทศยังคงหยุดอยู่ที่เดิม ด้วยกลไกสำคัญอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นหัวหน้า
โดยเส้นทางเวลาในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในและนอกสภา มีดังนี้
๐ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พร้อมบรรจุเรื่องการศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการ 
๐ 19 ธันวาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือ "กมธ.ศึกษาวิธีการแก้รัฐธรรมนูญฯ" ขึ้น เพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต่อมามี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นประธาน กมธ. ชุดดังกล่าว
๐ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายแห่งทั่วประเทศ ต่างออกมาทำ "แฟลชม็อบ" เพื่อประท้วงรัฐบาล แต่การชุมนุมก็ต้องมาสะดุดหยุดลงเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 
๐ 18 กรกฎาคม 2563 เมื่อสถานการณ์โควิดค่อยๆ ดีขึ้น ทำให้กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" หรือ Free Youth ประกาศจัดชุมนุมและได้รับการตอบสนองอย่างล้นหลาม เนื่องจากประชาชนมีความไม่พอใจในความบกพร่องของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการโควิด ทั้งการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ทั้งการที่ขอให้ประชาชนการ์ดอย่าตก แต่เป็นรัฐที่การ์ดตก เป็นต้นเหตุของการระบาด และมีการคุกคามประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยข้อเรียกร้องของการชุมนุมดังกล่าว คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดการคุกคามประชาชน
๐ 22 กันยายน 2563 ภาคประชาชนได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมยื่นรายชื่อผู้ที่ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญอีกกว่า 100,732 ชื่อ ต่อตัวแทนประธานรัฐสภา หลังจากมีการเปิดตัวแคมเปญ "ร่วมรื้อ-ร่วมสร้าง-ร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่" เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อให้มีการรื้อบรรดากลไกการสืบทอดอำนาจของคสช. พร้อมเปิดหนทางสู่การสร้างประชาธิปไตยผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน โดยใช้ระยะเวลาในการรวบรวมรายชื่อประมาณหนึ่งเดือนเศษนับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2563
๐ 24 กันยายน 63 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา (ประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว.) มีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ฉบับ (ยังไม่มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน) แต่ผลของการประชุม คือ รัฐสภาเสียงข้างมาก ซึ่งนำโดยพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. มีมติให้ "เลื่อน" การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญออกไป 30 วัน พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนจะกลับมาประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
๐ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา มีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ (ของพรรคฝ่ายค้าน 5 ฉบับ พรรครัฐบาล 1 ฉบับ และร่างของประชาชน 1 ฉบับ) โดยผลการพิจารณาของรัฐสภา พบว่า มีร่างรัฐธรรมนูญเพียงสองฉบับ คือ ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาตามเงื่อนไข (ได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง และได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3) โดยทั้งสองร่าง คือ การเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ห้ามแก้ไข หมวดที่ 1 บททั่วไป และ บทที่ 2 หมวดพระมหากษัตริย์
ส่วนอีก 5 ร่างที่ถูกปัดตก ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอที่ให้มีการรื้อถอนกลไกสืบทอดอำนาจของระบอบคสช. ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่มาของ ส.ว. การยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ หรือ การเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ และให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราอาศัยเพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทั้งนี้ มีเพียงร่างของประชาชน ที่เสนอทั้งรื้อกลไกสืบทอดอำนาจและเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกัน
๐ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระหนึ่ง และ กมธ. ได้มีการปรับแก้ไข ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา นำโดย ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. ได้มีการยื่นญัตติและลงมติเพื่อสนับสนุนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
๐ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญวาระที่สองที่ กมธ. ได้มีการปรับแก้ โดยในระหว่างที่มีการปรับแก้ไขรายมาตรา ผลปรากฎว่า มีการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง สสร. จากเดิมที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือ ระบบ "รวมเขต" ก็กลายเป็นระบบ "หนึ่งเขตหนึ่งคน" ที่ส่งผลให้อิทธิพลทางการเมืองของแต่ละพื้นที่จะส่งผลต่อคนที่จะได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด
๐ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในเรื่องของอำนาจรัฐสภาว่า รัฐสภามีอำนาจในแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพียงแต่ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นชองประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน
๐ 17 มีนาคม 2564  ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม แต่ทว่า ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. ต่างตีความว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจในการลงมติในวาระสาม โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องไปจัดทำประชามติเสียก่อน ในขณะที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน เห็นว่า หลังจากที่รัฐสภาลงมติในวาระสาม ก็จำเป็นจะต้องมีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผลการลงมติในท้ายที่สุด ปรากฎว่า เสียงข้างมากมีมติไม่เห็นชอบและงดออกเสียง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามเป็นอันตกไป
๐ 23 มิถุนายน 2564 หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับถูกตีตก รัฐสภาได้มีนัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่จะเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยผลการลงมติคือ รัฐสภาให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ในวาระที่สาม และอยู่ระหว่างการรอประกาศให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและรัฐสภามีอำนาจในการเสนอให้มีการทำประชามติได้
๐ 24 มิถุนายน 2564  ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการแก้ไขแบบ "รายมาตรา" โดยมีการยื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาถึง 13 ฉบับ ทั้งของพรรครัฐบาล 1 ฉบับ พรรคเพื่อไทย 4 ฉบับ และ พรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ โดยจุดร่วมสำคัญของพรรคการเมือง 3 ฝ่าย คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ส่วนจุดร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล คือ การ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." หรือ ยกเลิกอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ที่มาจากคสช.
แต่ในท้ายที่สุด ผลการลงมติ พบว่า มีร่างรัฐธรรมนูญเพียง 1 ฉบับ คือ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกี่ยวกับการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามเงื่อนไข ในขณะที่ร่างอื่นๆ แม้จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่ก็ถูกปัดตกเนื่องจากได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่ถึงหนึ่งในสาม
๐ 30 มิถุนายน 2564 หลังจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภาปัดตกข้อเสนอเกี่ยวกับการรื้อถอนกลไกสืบทอดอำนาจของคสช. ทำให้ภาคประชาชนนำโดยกลุ่ม Re-solution ได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมยื่นรายชื่อผู้ที่ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญอีกกว่า 150,932 ชื่อ ต่อตัวแทนประธานรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญ คือ การยกเลิกระบบวุฒิสภาให้ใช้ระบบ "สภาเดี่ยว" และให้มีการรื้อถอนกลไกสืบทอดอำนาจอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมให้กับคสช. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปของคสช. และให้มีการเซ็ตซีโร่บรรดาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ