กฎหมายทรมานกับการป้องกันซ้อมทรมาน

การทรมานผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สร้างความบอบช้ำให้เหยื่อ ญาติพี่น้อง บุคคลที่เกี่ยวข้อง คอยบั่นทอนกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อย่าง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสงครามยาเสพย์ติด

เนื่องจากการทรมาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ร้ายแรง และส่วนหนึ่งของเหยื่อจากการทรมาน ภายหลังศาลตัดสินว่าไม่ได้กระทำความผิด ประเทศไทยจึงได้ลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(CAT) ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่หลายประการเพื่อป้องกันปัญหาการซ้อมทรมาน แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎหมายใดมาบังคับใช้่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับอนุสัญญา

 

ดังนี้เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้ขับเคลื่อนให้มีการออกกฎหมายต่อต้านการทรมาน โดยจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ….” ขึ้นเพื่อพัฒนากฎหมายของไทยให้รับเอาหลักการในอนุสัญญาดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติจริง

จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล(ICJ) และสมาคมเพื่อป้องกันการทรมาน(APT) จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างการป้องกันการทรมานในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2553 ณ ห้องกิ่งกัญญาบอลรูม โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพฯ

การจัดประชุมในครั้งนี้ได้มีการพูดคุยถึงการเขียนกฎหมายของไทยให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หรือ CAT ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันตั้งแต่ปี พ.ศ.2530
ในงานมีการแลกเปลี่ยนแนวความคิดหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะ ประเด็นปัญหาที่ว่าควรออกแก้ไขกฎหมายหลักๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการซ้อมทรมานไว้ในกฎหมายทั่วไป หรือ ควรจะยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาสำหรับประเด็นนี้โดยเฉพาะ
ในงานนี้ นายกุลพล พลวัน อัยการอาวุโส จากสำนักงานอัยการสูงสุด เสนอให้ใช้วิธีแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาให้มีประเด็นเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมาน มากกว่าการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ และอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการรับรองการต่อต้านการทรมานไว้อยู่แล้ว
โดยนายกุลพล ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่าทรมานซึ่งไม่เคยมีบัญญัติมาก่อนในกฎหมายไทย แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นตามอนุสัญญาดังกล่าว
การทรมาน ในกฎหมายไทยนั้น เราใช้เป็นบทเพิ่มโทษ อย่างเช่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) “ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย” ซึ่งมีโทษประหารชีวิตสถานเดียว รวมถึงการทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ซึ่งมาตรา 296 หากเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมาน นั้นจะได้รับโทษหนักขึ้น ส่วนการเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 หากเป็นการทรมานและโหดร้ายแล้ว ย่อมได้รับโทษประหารชีวิต
นอกจากนี้ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับการทรมานนอกราชอาณาจักร ยังต้องได้รับโทษในราชอาณาจักรอีกด้วย ตามมาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา
ขั้นตอนในการแก้กฎหมายนั้นนายกุลพล จึงเห็นว่า ควรปรับแก้ในประมวลกฎหมายอาญาก็เพียงพอแล้ว และกระบวนการปฏิบัติของเจ้าพนักงานเราก็มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่ ดังจะเห็นได้จากที่อนุสัญญาดังกล่าวก็เน้นเรื่องความผิดเป็นหลัก
นายกุลพล ยังได้ให้ตัวอย่างว่าประเทศไทยก็เคยใช้วิธีแก้ไขในประมวลกฎหมายอาญามาแล้ว เช่น เรื่องความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันประสบการณ์การร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาต่างหากนั้นไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จนัก
“เคยมีกรณีของพระราชบัญญัติความรุนแรงในครอบครัวบัญญัติขึ้นมาแล้ว แต่ใช้ไม่ได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายอย่างเช่นตำรวจบางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกฎหมายตัวนี้อยู่” สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง นายกุลพลกล่าว
อย่างไรก็ดี อัยการท่านนี้ยังมีความเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมานที่นำเสนอโดยภาคประชาสังคมว่า กฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่นั้นก็ดี แต่จะต้องสร้างกลไกพิเศษขึ้นมา ปัญหาคือคณะกรรมการของไทยเราไม่มีประสิทธิภาพ “การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่มันไม่เวิร์ก เพราะประชุมอย่างเดียว แต่ไม่ยอมทำงาน”
นอกจากนี้แล้ว นายกุลพล ยังได้กล่าวถึง การบัญญัติเรื่องการทรมานไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ถ้ารัฐธรรมนูญถูกยกเลิก บทบัญญัติเรื่องการทรมานก็อาจหายไปด้วย แต่ถ้าเขียนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากในอนาคตรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกอีก บทบัญญัติในเรื่องการทรมานที่มีอยู่ก็ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปได้
ทางด้านนายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. … ที่นำเสนอเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) โดยอธิบายถึงเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมาย ว่าต้องการให้มีกฎหมายมารองรับปัญหาการทรมานในลักษณะบูรณาการ เพราะกลไกปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
“กฎหมายที่บัญญัติขึ้นนั้นนอกจากจะเป็นการสร้างกลไกให้อนุวัตรไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯแล้ว ยังเป็นกลไกเสริมในส่วนของการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำด้วย” นายสมชายกล่าว
นายสมชาย ยังกล่าวว่า แม้ประสบการณ์ที่ใช้วิธีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ ในทางปฏิบัติกฎหมายเหล่านั้นยังไม่มีผลมากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในสังคม อันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว หรือ กฎหมายสิทธิเด็ก
สำหรับการแก้ในบทกฎหมายทั่วไปเฉพาะเรื่อง ตามที่นายกุลพลเสนอให้แก้ไขในประมวลกฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้น ยังมีข้อจำกัดที่วิธีการนี้ไม่สามารถแก้ไขจนมีเนื้อหาครบสมบูรณ์ได้ทุกเรื่อง และหากจะให้รองรับทุกเรื่องก็จะต้องแก้ไขในกฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งจะก่อให้เกิดความยุ่งยาก และอาจจะหลงลืมกฎหมายบางตัว นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้นายสมชาย ยังคงเห็นพ้องกับนายกุลพล ว่ากลไกในการขับเคลื่อนของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่การที่กลไกหลักไม่สามารถดำเนินการได้ อาทิ พนักงานสอบสวน อัยการ หรือ ดีเอสไอ จึงต้องมีกลไกอื่นเป็นตัวเสริม
นอกจากประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าวแล้ว ในงานเดียวกันนี้ นายวิลเดอร์ เทเลอร์ คณะอนุกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันการทรมานฯ และเลขาธิการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ได้ยังมีการพูดถึงวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอธิบายถึงรากเหง้าของการทรมาน เช่น ในเรื่องของนักโทษที่ถูกจับในระหว่างสงคราม หรือการมีค่ายกักกันในยุคหลังสงครามโลก
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งกันประสบการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ ในการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายขึ้นเป็นฉบับใหม่ต่างหากออกมาบังคับใช้ โดยนายแอลลีเซอร์ คาลอส ผู้คุมทัณฑสถาน ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ให้ฟัง ซึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์มีการระบุห้ามไม่ให้มีการทรมาน รวมถึงกฎหมายลูกก็มีบทบัญญัติไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้รับจากการทรมาน
ก่อนที่ฟิลิปปินส์จะมีกฎหมายต่อต้านการทรมานนั้น มีความเห็นที่เป็นการแตกแยกกันในสภาเป็นอย่างมากว่าควรออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้หรือไม่ และด้วยการสนับสนุนของภาคประชาชน มีการระดมมวลชน และให้กลุ่มต่างๆล็อบบี้ประธานาธิบดีให้เห็นว่าเรื่องการซ้อมทรมานเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมถึงการสนับสนุนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีแนวทางสนับสนุนกฎหมายการต่อต้านการซ้อมทรมานดังกล่าว
ทั้งนี้ นายคาลอส ยังกล่าวด้วยว่ากฎหมายต่อต้านการทรมานนี้จะก้าวต่อไปได้ก็ด้วยความแข็งแกร่งของผู้คนหลายภาคส่วน รวมถึงความเป็นภาคประชาสังคมที่ยึดผู้ที่เสียหายจากการซ้อมทรมานเป็นหลัก
ภาพหน้าแรก : ines saraiva