กฎหมายคุมเหล้าฉบับประชาชน ลดอำนาจเจ้าหน้าที่ เพิ่มโอกาสธุรกิจรายย่อย

พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการออกนโยบาย กำหนดมาตรการต่างๆในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ตั้งแต่บังคับใช้มาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ออกมาสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตีความตามดุลพินิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับใช้ที่มีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน สถานการณ์นี้เอื้อต่อผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ให้อยู่รอดภายใต้กฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากได้เท่านั้น
จึงเป็นที่มาของการรวบรวมรายชื่อประชาชน 11,169 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ…. ของภาคประชาชน ซึ่งได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 โดยสาระสำคัญหลักๆของร่างประชาชนที่มีการแก้ไขจากกฎหมายเดิม มีดังนี้ :   
๐ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ 
มาตรา 5 เสนอให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการผลิตเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกมาตรการต่างๆใ นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การกำหนดวัน เวลา สถานที่ในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เพื่อให้การออกนโยบายในการควบคุมดูแล หรือการตีความกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
๐ ลดอำนาจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
มาตรา 6 เสนอให้ยกเลิกอำนาจหน้าที่บางประการตามกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนี้ ได้แก่
อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า, อำนาจในการเชิญข้าราชการ พนักงาน หน่วยงานรัฐ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น รวมถึงขอให้ยกเลิกอำนาจในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดเวลาขาย สถานที่ห้ามขาย วิธีหรือลักษณะการขาย โดยในบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างประชาชนระบุว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้อาศัยอำนาจนี้ออกอนุบัญญัติต่างๆ โดยไม่มีการสอบถามผู้ประกอบการและผู้บริโภคก่อน ทำให้เกิดภาระในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยให้คงเหลือเฉพาะอำนาจหน้าที่หลักๆ คือ เสนอนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งมาตรการด้านภาษีและด้านต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดแอลกอฮอล์ เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการหรือรัฐมนตรีในการออกประกาศหรือระเบียบให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.นี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกอำนาจตามมาตรา 26 (2) แห่งพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในการออกกฎหรือคำสั่งใดๆ ต่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่มีการจำกัดขอบเขต จากที่ระบุไว้ว่า
 “ให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติดังต่อไปนี้ 
(2) การอื่นตามที่คณะกรรมการควบคุมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา” 
๐ ผ่อนคลายเรื่องสถานที่ เวลา วิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
เสนอให้แก้ไขข้อห้ามที่ไม่จำเป็น ทั้งในเรื่องการห้ามขายในเวลาที่กำหนด ในมาตรา 10  จากเดิมรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการ แต่ในร่างประชาชนเสนอให้ต้องวันที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หมายความว่า ถ้าบทบัญญัตินี้ได้รับการแก้ไข ข้อห้ามที่มีอยู่อย่าง การห้ามขายแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ห้ามขายวันสำคัญทางศาสนา จะถูกยกเลิกไป 
เสนอให้ยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับวิธีหรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 11 เช่น ยกเลิกการห้ามขายโดยใช้เครื่องอัตโนมัติรวมถึงเสนอให้การแจกหรือแถมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป  ตลอดจนยกเลิกอำนาจในการกำหนดวิธีและลักษณะการขายของรัฐมนตรีตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ไม่ขอบเขตชัดเจน
๐ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เสนอแก้ไขเรื่องการโฆษณาให้สามารถกระทำได้แต่ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ ในมาตรา 14  ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นโดยตรงหรือโดยอ้อม” เนื่องจากผู้เสนอกฎหมายเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้กว้างเกินไป จนสร้างภาระที่เกินสมควรให้กับผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการสร้างกำแพงที่มีผลกีดกันทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับความเดือดร้อนโดยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ 
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่เรื่องการโฆษณา คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางเลือกอย่างคราฟต์เบียร์ เป็นสินค้าที่ไม่ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างเสรีเหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ช่องทางหลักในการจัดจำหน่าย คือ การขายตามบาร์หรือร้านคราฟต์เบียร์ต่างๆ เมื่อกฎหมายห้ามการโฆษณา ผู้ประกอบการก็ขาดช่องทางการในสื่อสารเพื่อจัดจำหน่าย ทางผู้บริโภคเองก็ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในทางการค้า 
นอกจากนี้กรณีบุคคลทั่วไป หากมีการถ่ายรูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วโพสต์ลงในโซเชี่ยลมีเดีย ก็มีความเสี่ยงที่จะมีความผิดตามมาตรา 32 ได้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตีความว่าเข้าข่ายการโฆษณาโดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้ประกอบการเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า “ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณา…” 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 มีข้อห้ามที่ออกตามมาตรา 30(6) ห้ามมิให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ทั้งที่อยู่ในช่วงโควิด19 ผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านเหล้า บาร์ต้องปิดกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 
๐ ปรับลดบทลงโทษ 
มีการปรับบทลงโทษให้ลดลง เพื่อความสมเหตุสมผลกับความเสียหายที่ก่อขึ้น เช่น เสนอให้ลดโทษความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 32 หรือเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากเดิมที่กำหนดให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ราชการฝ่ายเจ้าภาพ เสนอร่างฯมาแข่ง สุดโต่งมุ่งควบคุม
หลังจากที่ร่างของประชาชนยื่นเข้าสู่สภาและอยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเองเข้ามาด้วยเช่นกัน โดยได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขและเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงคิดเห็น  
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของที่สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอมานั้นเรียกได้ว่า สุดโต่งไป "คนละขั้ว" กับร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นการโฆษณา ที่มีการกำหนดเพิ่มเติมข้อห้ามมากขึ้นไปกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดห้ามมิให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่ากรณีใดๆ เพิ่มข้อห้ามในการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดหรืออ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม 
หรืออย่างในประเด็นบทลงโทษ ได้เพิ่มบทลงโทษจากกฎหมายเดิมที่กำหนดว่า ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเดิมไม่ได้แยกประเภทผู้กระทำความผิด แต่ในร่างของสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เพิ่มโทษถ้าการกระทำความผิดเกิดจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า โดยให้จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ต้องระวางโทษปรับ อีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 
๐ ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างที่ผลักดันโดยสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ที่ http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/?fbclid=IwAR1v2KmnLze6GP1JDkuuv9NUUG9eA0Q5RJabZO6HydWG1NTVMoTiE6MzIG8 โดยสามารถแสดงความเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ถึง 9  กรกฎาคม 2564 
ร่างราชการยังอีกไกล กว่าจะได้เข้าสภา
ร่างที่เสนอโดยสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของหน่วยงานเท่านั้น ซึ่งอาจมีการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายในภายหลังได้อีกก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีจะมีมติอีกครั้งว่าจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหรือไม่ 
แตกต่างกับร่างที่เสนอโดยประชาชน ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภา
๐ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องมือแอลกอฮอล์ พ.ศ. … ที่เสนอโดยประชาชน ได้ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=146&fbclid=IwAR3z4nTbrgXweWdyMHue-gINo7JsxzeoHHmz11mhNy8maTTNFH0wjLEzSp0